วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คนอื่นในองค์กรคิดและมองอย่างไรกับ ผู้จัดการมือใหม่

Business people standing with question mark on boards

วันนี้ขอเอาบทความที่น่าสนใจมากมาเล่าให้อ่านกันนะครับ เป็นบทความที่มาจาก Harvard Business Review ที่มีชื่อว่า What Younger Managers should know about how they’re perceived ซึ่งเขียนโดย Jack Zenger and Joseph Folkman ซึ่งได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้จัดการที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงไปเป็นจำนวนถึง 65,000 คน โดยสอบถามถึงความรู้สึกว่า ในการเป็นผู้จัดการมือใหม่ที่มีอายุน้อยนั้น มักจะมีประเด็นอะไรที่เกิดขึ้นในการทำงานบ้าง ซึ่งก็สามารถสรุปประเด็นได้ดังต่อไปนี้ครับ

  • ไม่ได้รับความเชื่อใจอย่างเต็มที่ ปัญหาแรกที่ผู้จัดการมือใหม่มักจะต้องประสบก็คือ จะยังไม่ได้รับความเชื่อถือจากลูกน้องของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคิดเห็นต่างๆ ไอเดียในการทำงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมักจะถูกลูกน้องตั้งข้อสงสัย และไม่เชื่อมือ และถ้าตัวผู้จัดการมือใหม่ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ มันก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคต
  • ถูกมองว่าขาดประสบการณ์และความรู้ในเชิงลึก ลูกน้องมักจะมองว่า ผู้จัดการมือใหม่คนนี้ ยังอ่อนประสบการณ์ และที่สำคัญก็คือ ขาดความรู้ในการทำงานเชิงลึก เพราะมีประสบการณ์น้อย ผ่านโลกมาน้อยกว่า ลูกน้องบางคนก็ลองภูมิผู้จัดการมือใหม่ก็มีเยอะ
  • ไม่ถูกมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดี (Role Model) ไม่มีความเชื่อมั่น และศรัทธาในตัวผู้จัดการมือใหม่ ไม่เคยถูกมองว่า เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นคนที่น่าจะมีพฤติกรรมที่โดดเด่น และสามารถเป็น Role Model ให้กับพนักงานคนอื่น ในองค์กรได้เลย
  • ยังไม่สามารถที่จะรับรู้ถึงความต้องการของคนอื่นจริงๆ ด้วยประสบการณ์ที่น้อย ผู้จัดการมือใหม่ก็มักจะถูกมองว่า ยังไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ถึงความต้องการของพนักงานแต่ละคน ว่าคิดอย่างไร ต้องการอะไรในการทำงานบ้าง บางครั้งพนักงานไม่ได้แสดงออกตรงๆ แต่ผู้จัดการมือใหม่ที่มีประสบการณ์น้อยๆ ก็มักจะไม่รู้ว่าที่พนักงานแสดงออกนั้นหมายความว่าอย่างไร
  • ยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะเป็นตัวแทนของบริษัทได้ ในบางงานที่ผู้จัดการจะต้องออกไปนำเสนองาน หรือขายงาน ในฐานะบริษัท ผู้จัดการมือใหม่ก็มักจะถูกมองว่า ยังไม่น่าจะเป็นคนที่ถือว่าเป็นตัวแทนของบริษัทในการออกไปพูดคุย หรือนำเสนองานกับบุคคลภายนอก และมักจะไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารระดับสูงในเรื่องนี้สักเท่า ไหร่
  • ขาดมุมมองในเชิงกลยุทธ์ ผู้ จัดการมือใหม่ ยังถูกมองอีกว่า น่าจะยังขาดมุมมองในเชิงกลยุทธ์ สำหรับการวางแผนกลยุทธ์ของหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบอยู่ ก็มักจะยังไม่ได้รับมอบหมายงานในเชิงกลยุทธ์อย่างเต็มที่
เมื่อ งานวิจัยออกมาแบบนี้ ว่าคนอื่นมักจะมองผู้จัดการมือใหม่อย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นประเด็นในแง่ลบมากกว่าแง่บวก และเป็นประเด็นที่หนักไปในทางเรื่องของการขาดประสบการณ์ ก็เลยทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ และยังไม่น่าจะเป็นคนที่เก่งจริงๆ เพราะยังอ่อนประสบการณ์ในการทำงาน

ดังนั้นถ้าเรารู้แบบนี้ล่วงหน้า แล้ว สิ่งที่องค์กรจะต้องดำเนินการก็คือ ถ้าเรามีการเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงานที่อายุน้อยๆ ขึ้นมาเป็นผู้จัดการ โดยพิจารณาแล้วว่า ด้วยคุณสมบัติและเกณฑ์ต่างๆ เข้าข่ายว่า ทำงานได้แน่ๆ สิ่งที่ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้นำขององค์กรจะต้องทำต่อก็คือ ให้การสนับสนุน ส่งเสริม ผู้จัดการมือใหม่คนนี้ให้แสดงความสามารถออกมาให้เห็นให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเกิดมากขึ้น และมีปัญหาในระยะเวลานานๆ เพราะมันจะมีผลกระทบต่อการทำงาน และผลงานขององค์กร

ผมเองก็เคยเห็นมา หลายแห่งแล้วว่า ผู้บริหารเลื่อนตำแหน่งให้พนักงาน ขึ้นมาเป็นผู้จัดการ โดยคิดแค่เพียงว่า นี่คือรางวัลตอบแทนการทำงานดี แต่พอถึงมาเป็นผู้จัดการแล้ว กลับไม่มีการสนับสนุนใดๆ จากผู้บริหารเลย ปล่อยให้ทำงานไปตามยถากรรม ผจญกับความลำบากทั้งในเรื่องงาน เรื่องคน และเรื่องของความรู้สึก จนพนักงานบางคนทนไม่ได้ ต้องออกจากองค์กรไป หรือบางคนก็กลายเป็นผู้จัดการที่มีผลงานแย่ลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ตอนเป็นพนักงานมีผลงานที่เยี่ยมยอดมาก

เมื่อทราบแบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้จัดการมือใหม่ด้วยนะครับ อย่าเลื่อนเขาขึ้นมาแล้วปล่อยให้เขาให้เคว้งคว้างเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น