ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแบบนี้ ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่หลายบริษัทเริ่มต้นทำงบประมาณกัน ต้องมีการวางเป้าหมาย กำหนดแผนงานและพิจารณาถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ เพื่อที่จะได้เสนอของบประมาณ และสรุปเป็นแนวทางในการดำเนินงานในปีถัดไป ฝ่ายบุคคลเองก็เช่นกัน นอกจากงบประมาณในการบริหารจัดการที่ต้องสอดคล้องกับแผนงานแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในช่วงนี้ก็คือ การพิจารณาของบประมาณสำหรับขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานในปี 2559 หลายแห่งยังคงสับสน และสงสัย ว่าจริงๆ แล้วในการพิจารณาเรื่องงบประมาณขึ้นเงินเดือนนั้น จะต้องเอาข้อมูลอะไรอ้างอิงบ้าง ผมก็เลยอนุญาตเขียนเป็นแนวทางให้อ่านกันอีกสักครั้งนะครับ
สิ่งแรกที่ชาว HR มักจะต้องการก็คือ อยากรู้ว่าบริษัทอื่นๆ เขาขึ้นกันสักเท่าไหร่ เราจะได้ตามบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น การตามแบบนี้ไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะอะไรครับ ก็เพราะว่าองค์ประกอบของค่าจ้างเงินเดือนของแต่ละบริษัทนั้นไม่เหมือนกันเลย อีกทั้งยังมีนโยบายค่าจ้างที่แตกต่างกันออกไปอีก อัตราการจ่ายก็ต่างกัน จำนวนพนักงาน อายุงาน อัตราเงินเดือนที่จ่ายอยู่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้รับรองได้เลยว่า แต่ละบริษัทไม่มีทางเหมือนกันเลย ดังนั้นการ Copy ตัวเลขการขึ้นเงินเดือนจากที่ปรึกษาที่ประกาศออกมา หรือจากบริษัทคู่แข่งที่เราไปสืบค้นข้อมูลมานั้นจึงเป็นสิ่งที่ยังไม่ครบ ถ้วน
สิ่งที่เราจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบในการพิจารณางบประมาณการขึ้นเงินเดือน ก็มีดังต่อไปนี้ครับ
- อัตราการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของตลาดย้อนหลัง ข้อมูลตัวแรกเป็นข้อมูลยอดฮิต ที่ทุกบริษัทอยากรู้มากๆ ก็คือ ข้อมูลที่ว่า แนวโน้มของตลาดจะขึ้นเงินเดือนกันเท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะมีบริษัทที่ปรึกษาที่เขาพยากรณ์ตัวเลขไว้ ก็เป็นข้อมูลที่เรามักจะหา และนำมาใช้นำเสนอ โดยปกติแล้วเราควรจะมีข้อมูลย้อนหลังสักนิดก็ยังดีนะครับ ในเรื่องของอัตราการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของตลาดสัก 3-5 ปีย้อนหลังไป เพื่อที่จะได้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น ยิ่งถ้าเรามีตัวเลขย้อนหลังดีๆ เราจะมองเห็นว่า แนวโน้มตลาดปีหน้า น่าจะขึ้นเงินเดือนกันสักเท่าไหร่ดี แต่ข้อมูลเพียงแค่นี้ ยังไม่พอนะครับ เราจะต้องมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบด้วย ก็คือ
- อัตราค่าครองชีพ ข้อมูล อีกตัวหนึ่งซึ่ง HR มักจะต้องอ้างอิงเสมอ นอกจากแนวโน้มอัตราการขึ้นเงินเดือนของตลาด ก็คือ ข้อมูลอัตราค่าครองชีพของตลาดปัจจุบันว่าเป็นเท่าไหร่ ขยับสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเท่าไหร่ ตัวเลขตัวนี้เป็นตัวบอกเราว่า อัตราสินค้าในตลาดนั้นมีราคาสูงขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปกติแล้วตัวเลขนี้ก็มักจะนำมามีส่วนในการพิจารณาอัตราการขึ้นเงินเดือน ของบริษัทด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ถ้าอัตราค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ก็อาจจะมีผลต่อตัวเลขการขึ้นเงินเดือนประจำปีด้วย
- สภาพเศรษฐกิจของประเทศ ตัว เลขอีกตัวหนึ่งที่หลายองค์กรนำมาใช้ประกอบ ก็คือ ตัวเลขที่บอกถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโดยมากก็จะใช้ตัวเลข GDP เป็นตัวอ้างอิงว่า เศรษฐกิจของประเทศเติบโตกันสักกี่เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้จะเป็นตัวบอกถึงแนวโน้มของบริษัทว่า พอที่จะมีเงินมาขึ้นเงินเดือนพนักงานหรือไม่ เช่นในปีนี้ (2558) เริ่มมีหลายสำนักประเมิน GDP ของประเทศว่าอยู่แค่เพียง 2-3% เท่านั้น แปลว่า อัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานั้นเติบโตไม่มากเลย แปลง่ายๆ ว่า ผลประกอบการรวมทั้งหมดของประเทศโตจากปีที่ผ่านมาน้อยมาก ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่ออัตราในการขึ้นเงินเดือนอยู่บ้าง เพราะเศรษฐกิจขยับตัวไม่มาก
- อัตราเงินเดือนของบริษัทเทียบกับตลาด ตัว เลขอีกตัวหนึ่ง ซึ่งน้อยองค์กรที่จะนำมาใช้ ก็คือ ตัวเลขที่บอกสภาพของการจ่ายเงินเดือนของบริษัทเราเองว่า อยู่ในระดับใด เมื่อเทียบกับตลาด กล่าวคือ เมื่อเทียบกับตลาดที่เราแข่งขันด้วยแล้ว อัตราเงินเดือนของบริษัทเรานั้น อยู่ในระดับต่ำกว่า เท่ากับ หรือสูงกว่าตลาดกันแน่ เพื่อที่จะได้รู้สภาพการจ่ายของบริษัทเราเอง ซึ่งข้อมูลนี้ถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญมากนะครับ ถ้าเรารู้ว่าที่ผ่านมาบริษัทเราจ่ายเงินเดือนต่ำกว่าตลาดมาโดยตลอด เช่นเทียบกับตลาดในธุรกิจใกล้เคียงกันแล้ว เราต่ำกว่าตลาดอยู่ประมาณ 10% แล้วเราก็วิเคราะห์ออกมาได้ว่า ตลาดปีหน้าน่าจะขึ้นเงินเดือนกันประมาณ 5% แปลง่ายๆ ว่าถ้าเราของบประมาณที่ 5% ผลก็คือ บริษัทเราก็ยังคงมีเงินเดือนที่ต่ำกว่าตลาดที่ 10% อีกเช่นเดิม ไม่ได้ทำให้ระดับค่าจ้างเงินเดือนของเราใกล้กับตลาดได้เลย ดังนั้น ถ้าจะให้ใกล้กับตลาดมากขึ้น เราก็ต้องพิจารณาของบประมาณที่มากกว่า 5% ซึ่งอาจจะเป็น 7-8% ก็พอได้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารของท่าน และความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทในปีถัดไปด้วยเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น