วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จากพนักงานมือดี สู่การเป็นผู้จัดการมือดี

new manager

พนักงานที่มีความสามารถ มีทักษะความรู้ที่ดีในการทำงาน และทำผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ย่อมจะเป็นพนักงานที่ถูกหมายตาไว้ว่าในอนาคตจะต้องได้รับการเลื่อนตำแหน่ง สูงขึ้นไป เพื่อที่จะได้รับผิดชอบมากขึ้น และสร้างผลงานที่ดีขึ้นให้กับองค์กร รวมทั้งยังถือเป็นการช่วยทำให้พนักงานเติบโตตามเส้นทางความก้าวหน้าในสาย อาชีพอีกด้วย


จาก พนักงานเติบใหญ่ไปเป็นผู้จัดการ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ทักษะ พฤติกรรมต่างๆ ล้วนแต่เปลี่ยนแปลงไปเกือบหมด จากเดิมที่ไม่เคยต้องดูแลทีมงาน ก็ต้องมีทีมงาน มีพนักงานเข้ามาให้เราดูแล มากบ้างน้อยบ้าง ยากบ้าง ง่ายบ้าง แล้วแต่ ดังนั้นการที่จะสร้างพนักงานให้เป็นผู้จัดการที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรจะมีการวางแผนอย่างดี

สิ่งที่ผมมักจะพบเจอตาม องค์กรต่างๆ ที่มีโอกาสเข้าไปช่วยงาน ก็คือ ผู้บริหารระดับสูงหน่อย เวลาที่คิดจะเลื่อนตำแหน่งพนักงานให้เป็นผู้จัดการ มักจะคิดเดี๋ยวนั้น ตอนนั้น คิดแบบไม่มีการเตรียมการล่วงหน้ากันเลย
managerเมื่อถึงฤดูกาลแห่งการเลื่อนตำแหน่ง ผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ก็คิดว่าปีนี้จะเลื่อนใครดี โดยที่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าอะไรเลย คิดตอนนั้นเลย ว่าปีนี้จะเสนอชื่อนายคนนี้ นางสาวคนนั้นขึ้นไปเป็นผู้จัดการ ทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่เคยเตรียมความพร้อมให้พนักงานคนนั้นเลยสักนิด แต่คิดแค่เพียงว่า เราต้องการจะสร้างบารมี สร้างบุญคุณให้พนักงานรู้สึกว่า เราเองเป็นคนที่ทำให้เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่ง

แล้วถ้าเราต้องเตรียม ความพร้อมให้กับพนักงานก่อนที่จะเลื่อนให้เขาเป็นผู้จัดการนั้น มีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องเตรียม ผมรวบรวมประเด็นเหล่านี้จากการที่ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ พนักงาน ผู้จัดการ ก็ได้ให้ความเห็นในมุมที่ว่าขณะนี้ผู้จัดการของตนเองนั้นยังขาดทักษะอะไร ก็เลยเอาจุดนี้มาสรุปให้อ่านกันว่า ถ้าเราจะต้องเตรียมความพร้อม ควรจะเตรียมในเรื่องอะไรกันบ้าง
  • การสื่อความ ทักษะ แรกที่พนักงานส่วนใหญ่พูดเหมือนกันก็คือ อยากให้ผู้จัดการของตนเองสื่อความเป็น สื่อความรู้เรื่อง แสดงว่าทักษะการสื่อความที่ดีนั้น น่าจะเป็นทักษะสำหรับคนที่จะได้รับการเลื่อนไปเป็นผู้จัดการจะต้องได้รับการ พัฒนาก่อนเรื่องอื่นเลย เพราะส่วนใหญ่ที่เจอก็คือ เป็นผู้จัดการแต่พูดไม่รู้เรื่อง อธิบายงานแต่พนักงานไม่เข้าใจ พูดเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก และที่สำคัญก็คือ ขาดทักษะในการฟังคนอื่นอย่างเข้าใจ ดังนั้น การสื่อความที่ว่านี้ ก็จะกินความรวมถึงทักษะในการพูด การสื่อ การเขียน การอ่าน และที่สำคัญก็คือ การฟังนั่นเอง มิฉะนั้นจะเกิดประเด็นที่ว่า “ผู้จัดการคนนี้คุยกับเครื่องจักรรู้เรื่อง แต่คุยกับพนักงานไม่รู้เรื่องเลย”
  • การสร้างแรงจูงใจ ทักษะ ที่สองที่จะต้องได้รับการพัฒนาก่อนที่จะปรับตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้จัดการก็ คือ ทักษะการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ผู้จัดการส่วนใหญ่มักจะไม่รู้เทคนิคในการทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจในการทำ งาน แต่มักจะรู้เทคนิคในการทำลายแรงจูงใจของพนักงานมากกว่า สุดท้ายก็มีแต่เสียงบ่นจากผู้จัดการว่า ลูกน้องของตนเองขี้เกียจ ไม่อยากทำงาน ในขณะที่พนักงานเองก็บ่นถึงหัวหน้าว่า เป็นคนที่ทำลายพลังและความมุ่งมั่นตั้งใจทั้งหมดที่ตนเคยมี สรุปแล้วคนที่จะต้องได้รับการพัฒนาก่อนเพื่อนก็คือ คนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการนี่แหละครับ จะต้องเข้าใจ และสามารถนำเอาหลักการจูงใจมาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจพนักงาน การเปิดใจรับฟังพนักงาน การกล่าวคำชมเชยอย่างจริงใจเวลาพนักงานทำงานได้ดี รวมทั้งการสอนงานเวลาที่พนักงานทำงานผิดพลาด และให้กำลังใจเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองก็ยังสามารถที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ได้
  • การสอนงาน ทักษะ ที่สามที่มีความจำเป็นมากๆ สำหรับคนที่จะเป็นผู้จัดการก็คือ ทักษะการสอนงานนั่นเองครับ ผู้จัดการส่วนใหญ่มักจะถูกพนักงานมองว่า สอนงานไม่เป็น หรือไม่สอนงานเลย เอางานไปทำเองเสียหมด เวลาพนักงานทำงานไม่ดี ทำงานผิดพลาด คนแก้ไขก็คือ ผู้จัดการ โดยที่พนักงานไม่ได้รับการสอนใดๆ ว่าอะไรถูกอะไรผิด ก็เลยทำงานไม่ค่อยได้ และผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ผู้จัดการบางคนเก่งงานมากๆ เทคนิคต่างๆ แพรวพราว แต่กลับไม่เคยสอนสิ่งที่ตนเองรู้ให้กับลูกน้องเลย บางคนก็สอนไม่เป็น สอนทีไรก็ต้องเสียงดัง ขึ้นเสียงกันทุกที ก็เลยทำให้ทั้งนายก็ไม่อยากสอน พนักงานก็ไม่อยากเรียน ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากก่อนที่จะเลื่อนพนักงานมือดีเป็นผู้ จัดการ
  • การสร้างทีมงานที่ดี ทักษะ ที่สี่ก็คือ การสร้างทีมงาน เนื่องจากตอนที่ทำงานเป็นพนักงาน ก็ทำงานเฉพาะบางส่วน บางงาน อาจจะไม่เห็นภาพรวมเท่าไหร่นัก แต่พอเป็นผู้จัดการ ก็ต้องเอาผลงานของพนักงานแต่ละคนมาปะติดปะต่อกัน จะเป็นภาพใหญ่ได้ ดังนั้นคนที่เป็นผู้จัดการจะต้องมีทักษะในการสร้างทีมงานที่ดี สามารถที่จะทำให้คนหลายๆ คนในทีมทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขและความพอใจร่วมกัน ประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน และทำงานกันอย่างสนุกสนาน เพื่อสร้างผลงานที่ดีออกมาร่วมกันเป็นทีม พนักงานเก่งๆ ที่ทำงานเก่งๆ มักจะทำงานของตนเองมาโดยตลอด ทำงานด้วยตนเอง ไม่ต้องไปร่วมกับใคร แต่พอขึ้นมาเป็นผู้จัดการเมื่อไหร่ จะไม่สามารถทำงานคนเดียวได้อีกต่อไป จะต้องประสานทีมงาน แก้ไขความขัดแย้งในทีม คอยเป็นกาวใจให้ทีมงาน ไม่ใช่เป็นคนที่ยุยง และสร้างความร้านฉานในทีมงานเสียเอง
สี่ทักษะข้างต้น เป็นทักษะหลักๆ สำหรับคนที่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นผู้จัดการจะต้องได้รับการเตรียมความพร้อมก่อน ที่จะเลื่อน จริงๆ แล้วไม่ควรที่จะเลื่อนขึ้นไปก่อนแล้วค่อยเตรียมความพร้อม เพราะอาจจะไม่ทันการณ์

ดังนั้น ถ้าท่านเล็งแล้วว่าพนักงานคนไหนที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้จัดการได้ในอนาคต ก็อย่าลืม เรียกเขามาคุยกันก่อน ถึงสายอาชีพในอนาคตว่าเขาต้องการเดินเส้นทางไหน และถ้าพนักงานต้องการเดินสายบริหาร ก็อย่าลืมวางแผนพัฒนาพนักงานในสี่เรื่องข้างต้นก่อนเลย เพื่อที่เวลาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการแล้ว เขาจะได้พร้อมที่จะสร้างผลงานที่ดีในทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น