วันนี้มาต่อกันในเรื่องของปัจจัยที่จะสร้างความผูกพันของพนักงานกันต่อจากเมื่อวาน นี้นะครับ เมื่อวานได้เขียนไว้ว่า ก่อนที่จะไปถึงความผูกพันนั้น ต้องฝ่าด่าน 2 ด่านก็คือ ด่านแรกจะต้องสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานก่อน และเมื่อพนักงานพอใจแล้ว ด่านที่สองก็คือ จะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน จากนั้นก็เข้าสู่เรื่องของการสร้างความผูกพันได้ วันนี้ก็จะมาต่อในเรื่องที่ว่า แล้วในแต่ละด่านนั้นจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างเป็นพื้นฐาน เพื่อสร้างความพึงพอใจ แรงจูงใจ และความผูกพันให้เกิดขึ้นได้
ด่านแรกก็คือ ความพึงพอใจของพนักงาน แค่เรื่องของความพึงพอใจก็มีหลายท่านที่รู้สึกว่ามันสร้างได้ยากมาก เพราะเราจะทำอย่างไรให้พนักงานทุกคนพอใจมันก็คงยากหน่อย เนื่องจากพนักงานแต่ละคนล้วนต้องการไม่เหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานนั้น ไม่สามารสร้างได้ในพนักงาน 100% ครับ แค่ได้เพียงส่วนใหญ่ของพนักงานรู้สึกพอใจ ก็พอแล้ว ก็เลยเกิดตัวชี้วัดไงครับว่า ความพึงพอใจของพนักงานในเรื่องต่างๆ ของบริษัทจะต้องไม่ต่ำกว่า 80% 85% หรือ 90% อยู่ที่แต่ละองค์กรจะกำหนดเป้าหมายกันอย่างไร แต่ก็ไม่เคยเห็นองค์กรใดที่ตั้งเป้าความพึงพอใจไว้ที่ 100% สักแห่ง
ปัจจัยพื้นฐาน (หลักๆ) ที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีความพึงพอใจในการทำงานกับองค์กรมีดังต่อไปนี้
- ค่าตอบแทนพื้นฐานที่เป็นธรรม ต้อง ย้ำอีกครั้งนะครับว่า เป็นธรรม ไม่ใช่จ่ายมากไป หรือน้อยไป การจ่ายค่าตอบแทนพนักงานของบริษัทจะต้องมีความเป็นธรรมตามหลักของความเป็น ธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณค่าของงาน หรือตามหลักผลงาน ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกว่า ทำงานที่นี่แล้วไม่ได้ถูกเอาเปรียบในเรื่องของค่าตอบแทนกับงานที่ทำ และเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นแล้ว ก็ไม่ได้ถูกเอาเปรียบเช่นกัน เรียกกว่าต้องแฟร์ทั้งมุมของหน้าที่ความรับผิดชอบ และมุมของผลงานที่พนักงานทำได้
- สภาพการทำงานที่ดี อีก ปัจจัยหนึ่งที่สร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นกับพนักงานได้ก็คือ เรื่องของสภาพการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปทางด้านกายภาพมากกว่า เช่น สภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ร้อน ไม่หนาว ไม่มีความเสี่ยงกับอุบัติเหตุ ฯลฯ หรือถ้าองค์กรมีสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง ก็มีการเตรียมการป้องกัน และมีสิ่งที่ทำให้พนักงานมั่นใจได้ว่าตนเองทำงานแล้วจะไม่พบกับสิ่งที่ไม่ดี
- ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ปัจจัย ความพึงพอใจอีกตัวหนึ่งก็คือ เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี คุยกัน เข้าใจกัน และไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน หรือไม่มีการแทงกันข้างหลัง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกพึงพอใจที่จะทำงาน
- ความมั่นคงในงาน ถ้า งานที่ทำ และบริษัทที่ทำงานด้วย มีความมั่นคง พนักงานมั่นใจว่า ทำงานที่นี่แล้วบริษัทไม่เจ๊งง่ายๆ และจะมีงานให้ทำไปตลอด ก็จะมีความพึงพอใจมากกว่าการทำงานกับบริษัทที่ขาดความมั่นคง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับบริษัทใหญ่ หรือเล็กนะครับ เพราะเคยเห็นมาเยอะแล้วว่า บริษัทใหญ่มาก แต่พนักงานรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงานเลย ผลก็คือ ไม่เกิดความพึงพอใจในการทำงานตามมา
ปัจจัยพื้นฐาน (หลักๆ) ที่ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงาน
ด่านที่สองก่อนไปถึง ความผูกพัน ก็คือ การทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจในการทำงาน การที่พนักงานพอใจแล้วนั้น ไม่ได้แปลว่าพนักงานจะเกิดแรงจูงใจเสมอไป บางคนพึงพอใจที่จะอยู่ที่นี่ แต่ไม่มีแรงจูงใจที่จะสร้างผลงานที่ดี หรือพัฒนาตนเอง พัฒนางานอะไรเลย อยู่เฉยๆ ไปเรื่อยๆ ก็มี แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่จะเป็นตัวกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน
- รางวัลตอบแทน (Reward and Recognition) แรง จูงใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ พนักงานได้รับรางวัลตอบแทนที่สมกับสิ่งที่พนักงานได้ทำไว้ ซึ่งก็คือ ผลงาน การที่องค์กรมีระบบการให้รางวัลตอบแทนตามผลงานที่เป็นธรรม สะท้อนผลงานพนักงานจริงๆ เมื่อพนักงานรู้ว่า ถ้าเขาทำมาก ทำดี ก็จะได้รับรางวัลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับสิ่งที่พนักงานทำไป ผลที่ตามมาก็คือ พนักงานจะมีแรงจูงใจในการทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้ว่า ยิ่งทำดีจะยิ่งได้ดี อีกเรื่องหนึ่งก็คือ รางวัลที่ไม่เป็นตัวเงิน กล่าวคือ เวลาที่พนักงานทำผลงานได้ดี ก็จะได้รับคำชื่นชมจากหัวหน้า ได้รับการยอมรับจากหัวหน้า และเพื่อนร่วมงานของตนเอง หรือทุกคนในบริษัทต่าง ก็ยอมรับในฝีมือของพนักงานคนนั้น สิ่งนี้จะยิ่งสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานคนนั้นมากขึ้นไปอีก
- ความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Development) ปัจจัยที่สองที่จะสร้างแรงจูงใจให้พนักงานสร้างผลงานที่ดี และอยากเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ก็คือ ระบบความก้าวหน้าในสายอาชีพขององค์กรนั่นเอง พนักงานที่ทำงานได้ดี มีผลงานดี แล้วองค์กรมีระบบในการพัฒนาเพื่อทำให้พนักงานได้มีความก้าวหน้าในการทำงาน สูงขึ้น มีเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน พนักงานสามารถเลือกที่จะเติบโตได้ ฯลฯ
- ความท้าทายในตัวงานที่ทำ (Task Interest) อีก เรื่องที่จะสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานได้ก็คือ เรื่องของความท้าทายในการทำงาน ซึ่งก็อยู่ที่หน้าที่และความรับผิดชอบของตัวงานด้วยเช่นกัน ถ้างานนั้นเป็นงานที่มีความท้าทายอยู่พอสมควร ไม่ยาก ไม่ง่ายจนเกินไป มีโครงการใหม่ๆ มีความท้าทายใหม่ๆ มาให้พนักงานได้ลองทำอยู่ตลอด แรงจูงใจในการทำงานของพนักงานจะมีมากกว่า งานที่ไม่มีความท้าทายอะไรเลย ทำซ้ำๆ กันไปทุกๆ วัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น