วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ระบบของบริษัทจูงใจใคร ระหว่างพนักงานผลงานดี กับผลงานไม่ดี

employee-motivation

ช่วงปลายปีแบบนี้ ใกล้ช่วงเวลาแห่งการประเมินผลงานเข้ามาทุกทีแล้ว พอพูดถึงเรื่องของผลงาน ปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับพนักงานที่มีผลงานที่ดีมากขึ้นเยอะ พยายามหาวิธีการที่จะส่งเสริม และจูงใจพนักงานที่มีผลงานดี ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายแห่งที่มีวิธีในการจูงใจพนักงานผิดทาง กล่าวคือ พนักงานที่มีผลงานที่ดี กลับไม่ค่อยสนใจใส่ใจ แต่จะให้ความสำคัญกับพนักงานที่มีผลงานที่ไม่ดี ลองดูเหตุการณ์ดังต่อไปนี้นะครับ

  • การขึ้นเงินเดือนตามผลงาน มีองค์กรมากกว่า 50% จากผลการสำรวจค่าจ้างในปีนี้ ที่ระบุว่า พนักงานที่ได้ผลงานในระดับที่แย่สุดนั้น ยังได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน บางองค์กรให้ถึง 3% ซึ่งถือว่าสูงทีเดียวเมื่อเทียบกับพนักงานที่ได้ผลงานระดับดี และได้ตามเป้าหมายซึ่งได้ประมาณ 5% ส่วนพนักงานที่มีผลงานที่ดีมากนั้นจะได้เฉลี่ยที่ 7% ซึ่งความแตกต่างระหว่างพนักงานที่มีผลงานที่ดีมาก กับแย่มากนั้นมีความใกล้กันจนอาจจะทำให้พนักงานที่มีผลงานที่ดีขาดแรงจูงใจ ในการสร้างผลงานที่ดีต่อไปในอนาคตได้ พอถามผู้บริหารว่า ทำไมพนักงานที่มีผลงานที่แย่สุดถึงยังได้รับการขึ้นเงินเดือนตามผลงาน คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ก็คือ “สงสารพนักงานที่ทำงานด้วยกันมาทั้งปี ก็ไม่อยากให้เขารู้สึกไม่ดี” ประเด็นอยู่ที่ ถ้าเราให้พนักงานกลุ่มนี้ เราก็ต้องคิดถึงพนักงานที่มีผลงานในระดับดีมากด้วยว่ามี% ความแตกต่างที่เพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้หรือไม่
    motivation
  • โบนัสตามผลงาน ยัง บริษัทอีกหลายแห่งที่ให้โบนัสพนักงานในระดับที่ไม่แตกต่างกัน บางแห่งพนักงานได้โบนัสในอัตราที่เท่ากันหมด ไม่ว่าผลงานของพนักงานจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผลงานดีสุดยอด ก็ได้เท่ากับผลงานยอดแย่ หรือถ้าจะมีการให้โบนัสที่แตกต่างกันไป ก็ยังคงไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญตามผลงานมากนัก ระหว่างพนักงานที่มีผลงานดีมาก กับแย่มากนั้น มีความใกล้กันอีกเช่นกัน ก็เลยทำให้พนักงานที่ทำงานดีมาก เริ่มไม่อยากทำผลงาน เพราะทำไป ก็ได้รับรางวัลตอบแทนที่ไม่แตกต่างจากพนักงานที่ไม่ทำผลงานอะไรมากนัก แบบนี้สู้ไม่ทำดีกว่า เพราะไม่ต้องเหนื่อย แถมรางวัลตอบแทนก็ยังได้พอๆ กัน
  • การมอบหมายงาน พนักงานที่มีผลงานที่ดี จะเป็นพนักงานที่ทำงานได้ดี เวลาที่นายมอบหมายงานอะไรให้ ไม่ว่าจะยากแค่ไหน ก็สามารถจัดการให้ได้อย่างดี โดยแทบจะไม่มีปัญหาอะไร ในทางตรงกันข้ามพนักงานที่มีผลงานที่แย่หน่อย เวลาทำงานก็มักจะทำผิดพลาดบ่อยๆ จนนายรู้สึกไม่ค่อยอยากมอบหมายงานให้ สุดท้ายก็เลยหันไปมอบหมายงานให้กับพนักงานที่เก่งกว่า ผลงานดีกว่า ส่วนพนักงานที่ผลงานไม่ดี ก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องคิดอะไร กลายเป็นว่าพนักงานที่เก่งกว่า กลับกลายเป็นต้องทำงานหนักกว่า มากกว่า แถมเวลาขึ้นเงินเดือน หรือได้โบนัส ก็ได้รางวัลที่ไม่มีความแตกต่างกันอีก ก็ยิ่งทำให้พนักงานที่มีผลงานดีหมดกำลังใจได้
  • การพัฒนาพนักงาน พนักงาน ที่มีผลงานไม่ดี มักจะได้รับการใส่ใจจากนาย และหาวิธีการที่จะพัฒนาเพื่อให้มีผลงานที่ดีขึ้น แต่พนักงานที่มีผลงานดี กลับไม่ค่อยได้รับการพัฒนาอะไรจากนายเท่าไหร่ เพราะคิดว่า มีผลงานที่ดีแล้ว ก็เลยไม่ต้องพัฒนาอะไร สุดท้ายคนเก่งก็ไม่ค่อยได้รับการพัฒนาอะไร ส่วนคนไม่เก่งกลับกลายเป็นได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ในทางปฏิบัติ ถ้าองค์กรของเรามุ่งเน้นที่จะเก็บรักษาพนักงานที่มีผลงานที่ดีไว้ ก็ควรจะมีมาตรการและระบบต่างๆ ที่ทำให้คนเก่งรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัล คำชม หรือการพัฒนา ก็ควรจะมีสิ่งที่แตกต่างออกไปจากพนักงานที่มีผลงานแย่ๆ

รางวัลก็ควรจะ แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนระหว่างพนักงานที่มีผลงานดี กับแย่ โดยส่วนตัวแล้วผมกลับมองว่าพนักงานที่มีผลงานที่แย่ๆ นั้น ไม่ควรจะได้รับรางวัลอะไรเลยด้วยซ้ำไป เอารางวัลของพนักงานแย่ๆ นี้ไปให้พนักงานที่มีผลงานดี ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจะดีกว่า

มิฉะนั้นเราจะเหลือแต่พนักงานที่มีผลงานแย่ๆ ทำงานกับบริษัท แต่พนักงานที่มีผลงานที่ดีก็พากันตบเท้าออกจากบริษัทกันไปหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น