เรื่อง ของการเก็บรักษาพนักงาน (Employee Retention) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แทบจะทุกองค์กรพยายามที่จะวางระบบและหาวิธีการที่จะทำ ให้พนักงานลาออกจากองค์กรให้น้อยที่สุด และที่สำคัญก็คือ เวลาที่เราพูดถึงการเก็บรักษาพนักงาน เรามักจะหมายความรวมถึงพนักงานทุกคนในองค์กร ไม่ค่อยมีองค์กรไหนเจาะประเด็นไปที่พนักงานแบบไหนเป็นพิเศษ ซึ่งในทางปฏิบัติองค์กรเองก็คงอยากที่จะเก็บรักษาพนักงานที่มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะทำให้องค์กรเติบโตไปได้
แล้วพนักงานแบบไหนบ้างที่องค์กรไม่ควรจะเก็บเอาไว้แล้ว และถ้าเป็นไปได้ก็ควรปล่อยให้พนักงานเหล่านี้ออกจากองค์กรไปก็น่าจะเป็นสิ่ง ที่ดีที่สุด
- พนักงานที่ไม่สนใจและไม่ใส่ใจทุกอย่างในการทำงาน พนักงานที่มีทัศนคติแบบนี้ จะมีลักษณะที่ว่า มาทำงานทุกวัน แต่ไม่เคยที่จะใส่ใจว่าวันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ไม่เคยคิด หรือสนใจว่า งานจะต้องเป็นอย่างไร ปัญหาที่เกิดจะต้องแก้ไขอย่างไร แต่จะมาทำงานแบบไม่คิดอะไรเลย ใครจะมีปัญหาอะไร ตื่นเต้นกันในเรื่องอะไร ก็ไม่สนใจใส่ใจใดๆ ทั้งสิ้น เวลาบริษัทมีปัญหาก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องของเขา เวลาบริษัทต้องการความร่วมมือ ก็มักจะไม่ค่อยว่าง และไม่ให้ความร่วมมือใดๆ
- มีทัศนคติในเชิงลบต่อทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต พนักงานที่เราไม่ควรเก็บรักษาไว้อีกประเภทหนึ่งก็คือ พนักงานที่คิดลบอยู่ตลอดเวลา มองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ เวลามีโครงการ หรือมีงานอะไรใหม่ๆ หรือมีไอเดียและความคิดเห็นใหม่ๆ เข้ามา ก็มักจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียๆ หายๆ โดยไม่เคยคิดว่าจะมีอะไรที่ดีกว่านั้น พนักงานลักษณะนี้มักจะมองว่า ทุกสิ่งที่บริษัททำเป็นสิ่งที่ผิดหมด ไม่เหมาะสมทั้งหมด ไม่เคยมีอะไรที่ถูกในสายตาของพนักงานคนนี้ ถ้ามีคนแบบนี้เยอะๆ บริษัทก็คงจะแย่ลงทุกวัน
- ไม่เคยสนใจที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น พนักงานอีกประเภทที่ควรปล่อยไปจากองค์กรก็คือ พนักงานที่ไม่เคยคิดที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เวลาจะส่งไปอบรม ก็บอกปัดบ้าง ปฏิเสธบ้าง หรือบางครั้งไปลงชื่ออย่างเดียว แล้วก็หายตัว บางองค์กรถึงกับจ้างโค้ชมาเพื่อที่จะพัฒนาพนักงานในด้านต่างๆ เพื่อที่จะเติบโตก้าวหน้า พนักงานกลุ่มนี้ก็จะบอกเราว่า เขาไม่อยากก้าวหน้าไปไหน ไม่อยากเติบโต ไม่อยากเลื่อนตำแหน่ง ผู้บริหารบางคนบอกกับพนักงานกลุ่มนี้ว่า ถ้าไม่พัฒนาก็จะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน พนักงานก็ตอบกลับมาด้วยความมั่นใจว่า “ผมก็ไม่อยากได้เงินเดือนขึ้นเหมือนกัน”
- นักก่อกวน พนักงาน อีกกลุ่มที่องค์กรไม่อยากเก็บรักษาไว้เลยก็คือ พนักงานที่ชอบก่อกวน ตั้งแก๊งในการนินทาคนอื่น พยายามสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีในการทำงาน โดยการรวมรวมเอาพนักงานที่มีนิสัยที่ไม่ค่อยดีเข้ามาอยู่ร่วมแก๊ง เพื่อสร้างอิทธิพล และอำนาจต่อรองในทางที่ผิดกับบริษัท
แต่พนักงานที่เป็น Talent หรือ Star ของบริษัท ที่มีพฤติกรรมที่ดี ต่างตบเท้าออกจากบริษัทกันไปหมด ถ้าบริษัทของเรามีสภาพเช่นนี้ ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาปรับปรุงระบบการเก็บรักษาพนักงานใหม่
องค์กรที่มีระบบ HR ที่ค่อนข้างจะแรงหน่อย เมื่อพบเจอกับพนักงานที่มีลักษณะไม่ดีดังกล่าว และมั่นใจว่าพนักงานเป็นแบบนั้นจริงๆ สิ่งที่องค์กรจะทำก็คือ เลิกจ้างพนักงานคนนั้นอย่างถูกต้องทุกอย่าง เพื่อที่จะตัดสาเหตุของปัญหาที่อาจจะลุกลามและบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรักษาวัฒนธรรมที่ดี ค่านิยมที่ถูกต้องของตนไว้
แต่อย่างว่านะครับ แต่ละองค์กรก็จะมีวิธีการบริหารจัดการพนักงานที่มีคุณสมบัติไม่ดีเหล่านี้ ที่แตกต่างกันไป แต่สุดท้ายแล้ว มาตรการต่างๆ ก็ต้องตอบโจทย์เรื่องของการเก็บรักษาคนดี คนเก่ง ตามแบบที่องค์กรต้องการไว้ให้ได้ เพราะถ้าในที่สุดแล้วเราเหลือแต่พนักงานแบบแย่ๆ อยู่ทำงาน โดยที่พนักงานแบบเยี่ยมๆ ต่างออกจากองค์กรไปจนหมด คราวองค์กรเราก็จะอยู่ยากขึ้นเยอะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น