มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับบางบริษัท ที่ผู้บริหารระดับสูงมีความใส่ใจพนักงานมาก มีความเป็นห่วง และต้องการให้พนักงานทุกระดับเกิดแรงจูงใจในการทำงาน ก็เลยมีนโยบาย และแนวทางในการบริหารจัดการแบบ แปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาเพื่อที่จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า ผู้บริหารระดับสูงกำลังให้ความสำคัญกับพนักงาน เพื่อหวังผลว่า พนักงานจะได้มีพลัง และมีแรงจูงใจ และได้รับแรงบันดาลใจจากผู้บริหารระดับสูงไปด้วย
แต่ผลที่ได้ออกมากลับไม่ค่อยเป็นไปตามที่ผู้บริหารระดับสูงคาดหวังไว้ นโยบายเหล่านี้มีอะไรบ้าง และเกิดผลอะไรบ้างลองมาดูกันครับ
- นโยบายเปิดประตู (Open Door) ก็คือ ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร หรือ CEO มีนโยบายเปิดประตูห้อง เพื่อที่จะให้พนักงานที่ต้องการจะพูดคุยด้วย หรือต้องการจะหารือเรื่องงาน หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยไม่ต้องผ่านผู้จัดการ หรือหัวหน้างานของตนเอง ซึ่งนโยบายนี้ถ้าทำให้ดี ผมคิดว่า มันก็จะเกิดผลดีตามมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกันบางองค์กรก็คือ พนักงานบางคนเข้ามาหา CEO โดยตั้งใจจะข้ามหัว หัวหน้าของตนเองจริงๆ เพื่อให้ CEO ให้การสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งพนักงานกับหัวหน้าของเขาอาจจะมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่ก่อน ถ้าผู้บริหารระดับสูงสุดไม่ระวัง และไม่พิจารณาข้อเท็จจริงให้ดี ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการทำงานได้ง่ายๆ CEO บางคนฟันธง และตัดสินใจพนักงานให้เลย หรือไม่ก็ฟังคำเพ็ดทูลของพนักงานโดยไม่ไปสอบถามผู้จัดการสายงาน ใช้อำนาจกระโดดข้ามบรรดาผู้อำนวยการฝ่าย ผู้จัดการฝ่ายลงไปเลยก็มี ก็เลยทำให้บรรดาผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ก็เหมือนกับหมดความน่าเชื่อถือลงทันทีในสายตาของพนักงาน ผลก็คือพนักงานเริ่มได้ใจก็วิ่งตรงหา CEO ของบริษัททันทีเวลาที่มีเรื่องต้องขอความเห็นชอบโดยไม่ผ่านผู้บังคับบัญชา ของตนเองอีกต่อไป แล้วแบบนี้จะมีผู้บริหารระดับกลางไปทำไม
- นโยบายกินข้าวกับ CEO นโยบาย นี้ เริ่มมีหลายบริษัทเอามาใช้จริง ซึ่งก็คิดจากมุมมองของผู้บริหารว่า ถ้าผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรลดช่องว่างลง มาพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับพนักงานบ้าง ก็น่าจะทำให้พนักงานรู้สึกว่า CEO ของเราไม่ได้เป็นเทวดา หรือเป็นอะไรที่เข้าถึงไม่ได้เลย ก็เลยมีนโยบายที่ให้พนักงานในทุกระดับได้มีโอกาสพบปะพูดคุย และทานข้าวกับ CEO ของตนเอง ฟังดูเหมือนดี แต่พอลงมือทำจริงๆ กลับกลายเป็นไม่ค่อยมีพนักงานที่อยากจะไปนั่งกินข้าวกับ CEO สักเท่าไหร่ บางคนไปมาแล้ว แทนที่จะรู้สึกดี กลับรู้สึกไม่ค่อยดี เพราะไม่รู้จะคุยอะไรกับ CEO ก็เลยต่างคนต่างนั่งกินข้าวกันไป ไม่ได้คุยอะไรเลย ถ้า CEO เป็นคนเงียบๆ อีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่ บางองค์กรก็จัดให้พนักงานดีเด่น หรือพนักงานที่มีผลงานในระดับยอดเยี่ยม ได้เข้าไปทานข้าวกับ CEO ซึ่งผลออกมาก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ก็คือ พนักงานส่วนใหญ่จะพยายามบ่ายเบี่ยง เพื่อที่จะไม่ต้องไปนั่งกินข้าวกับ CEO ดูๆ ไปแล้วก็เหมือนกับพนักงานไม่ได้มีความสุขในการที่จะทำอะไรแบบนี้เลย สุดท้ายนโยบายนี้ก็เลยไม่ได้ผลอีกเช่นกัน (บางองค์กรที่เขาทำได้ดี ก็มีนะครับ แต่ก็ทำได้ไม่นานเช่นกัน เพราะสุดท้ายก็ไม่รู้จะคุยอะไร เพราะกินกันจนครบทุกคนแล้ว)
- ให้ CEO เข้าร่วมการประชุม บาง องค์กรคิดว่า ถ้าในการประชุมบางประชุม ก็อยากให้ CEO ได้เข้ามาเป็นกำลังใจพนักงานเวลาประชุม จะได้เห็นว่าพนักงานทำงานกันอย่างไร เก่งแค่ไหน เวลาที่นำเสนองาน และประชุมงานกัน เพื่อที่จะเป็นการโชว์ศักยภาพในการทำงานของพนักงาน แต่ในทางปฏิบัติหลายครั้งที่การประชุมครั้งนั้น เต็มไปด้วยความเงียบ และน่าอึดอัด เพราะ CEO นั่งฟังอยู่ด้วย ก็เลยไม่มีพนักงานคนไหนกล้าที่จะพูดอะไร เพราะเกร็ง และกลัวความผิดพลาด ขนาดรู้ล่วงหน้าแล้ว แต่ก็ยังอดรู้สึกไม่ได้ บางครั้ง CEO เองก็ทนไม่ได้ ก็ต้องให้ความคิดเห็น จนกระทั่งกลายเป็นการล้วงลูกลึกจนเกิน จนทำให้พนักงาน และผู้จัดการแทบจะไม่ต้องทำอะไร เพราะ CEO คิดให้ตลอด ยิ่งถ้า CEO เป็นคนที่เจ้าความคิดมากๆ ก็จะทำให้การประชุมครั้งนั้นแกคิดของแกคนเดียว โดยที่พนักงานในทีมงานไม่ได้ทำอะไรเลย สุดท้ายก็กลายเป็นว่า CEO ทำเอง คิดเองทั้งหมด
แล้วทุกอย่างก็จะออกมาดีเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น