เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสไปทำ workshop เรื่องของการบริหารให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ก็ได้พบกับผู้บริหารและพนักงานที่มีความหลากหลายมาก มีทั้งคนเก่งมาก เก่งปกติ แต่ส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นคนที่เก่งกันมาก เพราะมีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ มากมาย แต่ประเด็นของเรื่องก็คือ ผู้บริหารและพนักงานประมาณ 70% ในการประชุมวันนั้น แสดงความเห็นในมุมของการวิพากษ์วิจารณ์ระบบงานที่มีอยู่อย่างเสียๆ หายๆ คนหนึ่งพูด อีกคนหนึ่งเสริม และยิ่งเสริมกันไปอย่างที่เรียกกว่า บริษัทแทบจะไม่เหลืออะไรดีอยู่เลย
แต่พอตั้งคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรที่ทำให้สิ่งไม่ดีเหล่านั้นหมดไป ใครมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่หลายคนได้วิจารณ์กันไปแล้วบ้าง ผลปรากฏว่ามีพนักงานเพียง 5% ได้มั้งครับ (ต้องเรียกว่าน้อยมากครับ) ที่ให้ความเห็นในการแก้ไขปัญหา พอพนักงานและผู้บริหารบางคนได้ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาออกมา พนักงานและผู้บริหารกลุ่มเดิมที่เป็นนักวิจารณ์ ต่างก็ยกมือและวิจารณ์แนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ว่าไม่ดีอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง เคยทำมาแล้วบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ฯลฯ เรียกได้ว่า วิจารณ์จนเจ้าของความคิดนั้นต้องเดินออกจากห้องประชุมไปอย่างเสียหน้า
ประชุมกันจนจบวัน สุดท้ายก็ไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอะไรออกมาได้เลยสักอย่างเดียว ผมนั่งฟังอยู่ทั้งวัน ก็พบว่า ประเด็นที่ถกเถียงกันนั้น เป็นประเด็นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนั้นๆ ว่าดี ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่เอา ไม่สนใจ ไม่ควร ฯลฯ แต่ไม่มีใครที่จะแสดงความเห็นในการต่อยอดความคิดเห็นดีๆ เพื่อให้ได้แนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาเลย พนักงานส่วนใหญ่ในห้องประชุมนั้น เป็นนักวิจารณ์ชั้นยอด แต่วิจารณ์แล้วกลับไม่มีความคิดเห็นดีๆ อะไรออกมาเลย เมื่อไหร่ที่มีคนอื่นแสดงความเห็นอะไรออกมา ก็จะถูกคนกลุ่มนี้วิจารณ์แหลก โดยไม่มีไอเดียหรือความเห็นอะไรดีๆ ที่เป็นประโยชน์ออกมาจากปากพวกเขาเลย
ท่านคิดอย่างไรกับสถานการณ์ข้างต้นครับ
ผมคิดเอาเองนะครับ ว่า ถ้าบริษัทไหนมีแต่พนักงานหรือผู้บริหารที่เป็นนักวิจารณ์ บริษัทคงไปไหนไม่รอด จะทำอะไรก็ถูกวิจารณ์ไปซะหมด ใครจะเสนอะไร ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ต่างก็ถูกวิจารณ์จนไม่อยากจะเสนออะไรอีกต่อไป ส่วนคนที่เป็นนักวิจารณ์ ก็ไม่เคยที่จะคิดอะไรใหม่ที่เป็นประโยชน์เลย แต่กลับคิดว่า ตนเองเก่งมาก และเจ๋งมากๆ ที่ตีความคิดคนอื่นร่วงหมดได้ แต่หารู้ไม่ว่า เป็นคนทำให้บริษัทไม่มีอะไรคืบหน้าด้วยซ้ำไป
ผมเจอกับ เหตุการณ์นี้ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “คนแพ้มองแต่ปัญหา คนชนะมองหาทางออก” ซึ่งเขียนโดย คิมซองโฮ ซึ่งเป็นประธานบริษัท Solomon Institute เป็นโค้ช และที่ปรึกษาที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ที่ประเทศเกาหลี ผู้เขียนได้เขียนเล่าให้อ่านว่า ในองค์กรของเรามีคนอยู่ 4 แบบคือ
- แบบนักวิจารณ์ ก็คือคนประเภทที่ชอบที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็น ระบบงาน ของคนอื่นที่ทางลบตลอดเวลา และนั่งดูปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่คิดที่จะทำอะไร คิดอย่างเดียวคือ จะวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น และมักจะทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ลงไป คนกลุ่มนี้คิดตลอดว่าถ้าได้ทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ ก็จะรู้สึกดีมากมาย
- แบบเฉื่อยชา เป็นกลุ่มพนักงานที่ไม่สนใจอะไรเลย ใครจะดี ใครจะร้าย ก็ไม่สนใจ บริษัทจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ร้ายแรงสักแค่ไหน ก็ไม่รู้ไม่สน เวลาที่ได้รับมอบหมายงานอะไร ก็มักจะเก็บงานนั้นไว้ก่อน ยังไม่อยากที่จะลงมือทำ รอจนถูกตาม ถูกกระตุ้นมากๆ เข้าค่อยลงมือทำ เป็นพนักงานที่มองโลกในแง่ร้าย และมองว่าตัวเองไม่มีความสามารถอะไร ก็เลยไม่อยากทำอะไร ถูกกระตุ้นอย่างไร ด้วยวิธีการใด ก็ไม่ได้ผลสักวิธี เรียกได้ว่าเป็นที่ตัวพนักงานคนนั้นเองเลย ที่ไม่เอาอะไรสักอย่าง
- แบบหัวดื้อ เป็น พนักงานที่รั้นมาก ๆ เป็นคนที่รีบร้อน ใจร้อน มั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป ไม่เคยคิดอะไรให้รอบคอบก่อน ไม่มีการวางแผนใดๆ คิดอะไรได้ อยากทำ ก็จะลงมือทำเลยทันที โดยไม่สนใจว่าจะมีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เวลามีใครมาค้าน หรือแสดงความเห็น ก็จะไม่ฟัง และคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
- แบบนักแก้ปัญหา ก็ คือพนักงานที่มองหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และนำเอาสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ในการทำงานเพื่อทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่แก้ปัญหาเก่งๆ ก็มักจะเป็นคนที่มีความคิดเห็นดีๆ อยู่เสมอ และมีการวางแผนในการทำงานอย่างดี ไม่ลุยดะ โดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมอะไรเลย นอกจากนั้นยังเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่แสดงความคิดเห็นอย่าง มีเหตุมีผล และถ้าตัวเองทำผิด ก็จะยอมรับผิด แต่จะไม่นั่งจมปลักกับความผิดที่เกิดขึ้น แต่จะรีบหาทางในการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาดนั้นโดยเร็วที่สุด
นึกย้อนกลับไปถึงบริษัทในบ้านเรา หลายแห่งก็มีพนักงานแบบนักวิจารณ์อยู่ ก็ไม่น้อยเลย ถ้าเรามีพนักงานแบบนักวิจารณ์ในปริมาณที่เยอะมากๆ เข้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทก็คงจะเดาได้ไม่ยากเลยนะครับว่าจะเจริญขึ้น หรือเจริญลง
ผมเองก็เคยเจอมากับตัวเองแล้ว บริษัทที่มีแต่นักวิจารณ์เป็นส่วนใหญ่ ใครทำอะไร มาจากไหน คิดอะไรใหม่ วางแผนจะทำอะไร ฯลฯ ก็ถูกวิจารณ์จนไม่มีใครที่อยากจะคิด สุดท้ายพนักงานแบบนักแก้ปัญหาทนไม่ได้ ก็ออกจากองค์กรไปที่ละคนสองคน แล้วบริษัทก็ค่อยๆ ถอยหลังไปเรื่อยๆ เพราะมัวแต่วิจารณ์กันไปมาโดยไม่มีใครที่จะคิดหาทางออกกันเลย
แล้วแบบนี้บริษัทจะเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร จริงมั้ยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น