วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความพึงพอใจ แรงจูงใจ และความผูกพัน ใช้อะไรเป็นปัจจัยในการสร้าง (ตอนจบ)

happy_employees

วันนี้มาต่อเรื่องราวจากบทความเมื่อวานนี้กันนะครับ เมื่อวานได้จบลงที่ เราจะสร้างความผูกพันของพนักงานได้ ก็ต่อเมื่อเราต้องมีการทำให้พนักงานเกิดความพึงพอใจก่อน จากนั้นก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้น แล้วจึงจะมาต่อที่การสร้างความผูกพันได้ง่ายขึ้น ซึ่งผมก็ได้ให้แนวทางไปว่า ปัจจัยในการทำให้พนักงานพึงพอใจ และปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจมีอะไรบ้าง วันนี้ก็มาต่อในเรื่องของปัจจัยที่จะทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กรกัน ครับ


ก้าวจากแรงจูงใจสู่ความผูกพันต่อองค์กร

พนักงาน ที่มีความผูกพันต่อองค์กรนั้นมีพฤติกรรม และมีลักษณะอย่างไรบ้าง หลายท่านอาจจะทราบดีอยู่แล้ว แต่จนวันนี้ ก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่เข้าใจผิด มองเรื่องของความผูกพันเหมือนกับความพึงพอใจแค่นั้น แต่จริงๆ แล้วความผูกพันนั้นจะลึกกว่าความพึงพอใจหลายเท่าตัว
  • เป็นพนักงานที่มีความใส่ใจในงานของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่มีแรงจูงใจ แต่มีความรู้สึกรัก และอยากทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความสนุก และความสุขที่ได้ทำงานที่ตนเองรัก แม้ว่างานนั้นอาจจะมีความยากลำบาก มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ก็ทำงานนั้นด้วยความรู้สึกที่ดี ไม่มีอาการท้อแท้ใดๆ ให้เห็น
  • เป็นพนักงานที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย คือ เป็นคนที่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมในความสำเร็จขององค์กรอย่างเต็มที่ มีความตั้งใจ และความต้องการ และความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรที่ตนทำงานอยู่นั้นบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอา ไว้จริงๆ ลุยงานเต็มที่โดยยึดเป้าหมายขององค์กรเป็นหลัก
  • แสดงออกให้เห็นถึงความเป็นเจ้าขององค์กร สิ่ง ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างพนักงานที่มีแรงจูงใจในการทำงาน กับพนักงานที่มีแรงจูงใจ และผูกพันด้วย ก็คือ พนักงานที่ผูกพันกับองค์กรนั้น จะเป็นคนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าขององค์กร ทำอะไร คิดอะไร จะอยู่บนมุมมองแบบที่เจ้าของธุรกิจคิด เช่น เห็นกับประโยชน์ขององค์กรมากกว่าประโยชน์ของตนเอง เวลาที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ก็จะมาเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ และรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของงานนั้นจริงๆ ถ้านึกภาพไม่ออก ตัวอย่างที่ชัดๆ ก็เช่น ถ้าบริษัทให้โทรศัพท์มือถือมาใช้ และเราเองก็มีของตนเองอยู่เครื่องหนึ่ง เครื่องไหนที่เราจะดูแลรักษามันดีกว่ากัน แน่นอนก็คือ เครื่องของเราเอง ส่วนเครื่องของบริษัทก็ใช้เต็มที่ โดยไม่ค่อยสนใจ หรือห่วงใยเท่าไหร่ว่าจะเป็นอะไร นี่ก็คือ ความแตกต่างของคนที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าขององค์กร กับคนที่ไม่รู้สึกอะไรมากนัก หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ รถที่ท่านเช่ามา ท่านจะเอามาขัดสีฉวีวรรณ จนเงาวับหรือไม่ คนที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ก็คือคนที่ดูแลของที่ไม่ใช่ของตนเอง เหมือนกับว่าเป็นของของตนเองจริงๆ
Happy business people laughing against white backgroundแล้วปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามจากแรงจูงใจ ไปสู่ความผูกพันได้
  • ผู้นำขององค์กร ด่าน แรกก็คือ ผู้นำขององค์กรเลยครับ พนักงานที่จะมีความผูกพันกับองค์กรได้นั้น ผู้นำจะมีส่วนสำคัญมากๆ ผู้นำจะต้องสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม สร้างอารมณ์ร่วม ทั้งในด้านเป้าหมาย การทำงาน และแรงบันดาลใจให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า องค์กรแห่งนี้ก็คือ บ้านของเขาเอง
  • วัฒนธรรมองค์กร ด่านที่สองก็คือ วัฒนธรรมองค์กรที่ดี ที่ทำให้พนักงานสามารถที่จะแสดงผลงานที่ดี และเมื่อไหร่ที่พนักงานมีผลงานที่ดี ก็จะมีการบอกกล่าว และให้รางวัลที่รูปแบบที่จับต้องไม่ได้ เช่น คำชม การให้ความสำคัญ และการทำให้พนักงานรู้สึกว่า ตนเองมีส่วนสำคัญในความสำเร็จขององค์กร เรียกว่า ทำให้พนักงานรู้สึกว่า องค์กรขาดเขาไม่ได้
ด้วยเหตุ นี้เองที่ทำให้เรื่องของการสร้างความผูกพันนั้น ไม่ใช่แค่เพียงการทำให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจแค่นั้น แต่จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อทำให้พนักงานพึงพอใจก่อน จากนั้นก็วางระบบในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อทำให้พนักงานเกิดแรงจูงในในการทำงาน อยากที่จะพัฒนาตนเอง ผลักดันตนเองให้สร้างผลงานที่ดี แล้วสุดท้ายก็ถึงมาต่อด้วยการทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันต่อองค์กรได้

ถ้าเราเริ่มต้นอย่างถูกวิธี และไปตามขั้นตอนของมัน ความผูกพันของพนักงานก็สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ แต่ที่บางองค์กรยังไม่สามารถทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกผูกพันได้ แม้ว่าจะมีความพยายามสำรวจ หาสาเหตุ และมองหาวิธีการแก้ไขมานานแล้ว ก็เพราะเราทำมันผิดทางนั่นเองครับ

ความรู้สึกผูกพันไม่ใช่เรื่องที่จะ สร้างได้ภายในวันสองวันนะครับ ต้องอาศัยเวลาและความอดทน และที่สำคัญก็คือ ต้องอาศัยผู้บริหารระดับสูงที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ จริงๆ

ไม่ใช่แค่เป็นแฟชั่น เห็นทำเรื่องความผูกพัน ก็อยากทำบ้าง ถ้าเป็นแบบนี้อย่าทำเลยครับ พนักงานเสียความรู้สึกเปล่าๆ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น