เรื่องของความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจนั้น ในปัจจุบันบริษัทที่ได้เปรียบก็คือ บริษัทที่ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดได้ จะสังเกตเห็นว่าในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเรื่องของโทรศัพท์มือถือ ใครที่จะเป็นผู้นำตลาดได้จะต้องมีไอเดียใหม่ๆ หรือต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทำให้ผู้ใช้งาน ใช้งานมันได้อย่างสะดวก และไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน ถ้าสามารถทำได้ ความได้เปรียบก็จะเกิดขึ้นกับบริษัทนั้นๆ ทันที มันเลยทำให้ผู้บริโภคต้องมานั่งรอดูว่า ค่ายไหนจะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาให้เราได้ใช้กัน แนวโน้มมันเป็นแบบนี้มากขึ้น
พอเห็นแบบนี้แล้ว มองย้อนกลับมาในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคล ก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าขนาดธุรกิจเองยังพยายามคิดค้นหา Innovation ออกมาอยู่ตลอด แล้วงาน HR จะมี Innovation กับเขาได้บ้างหรือเปล่า ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวทางในการบริหารคนเพื่อที่จะสร้าง แรงดึงดูด สร้างพลังในการเก็บรักษา และสามารถที่จะสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานได้มากขึ้นนั่นเอง
ท่านผู้อ่านเองล่ะครับคิดว่างาน HR เราจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้หรือไม่ หรืออย่างน้อยมีการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ได้หรือไม่ ถ้าถามผม ผมก็ต้องตอบว่า “ได้” อย่างแน่นอนครับ อยู่ที่เราจะมอง หรือสร้างมันหรือเปล่า
ก่อนจะไปพิจารณาเรื่องนวัตกรรมทาง HR ก็คงต้องมามองว่า ธุรกิจของเรานั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาขึ้นสักแค่ไหน มีเป้าหมายที่จะพัฒนาอะไรใหม่ๆ ออกสู่ตลาดหรือเปล่า เพราะงาน HR จะต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายของธุรกิจอยู่เสมอ เมื่อเข้าใจเป้าหมายของธุรกิจแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราชาว HR แล้วล่ะครับ ว่าจะคิดต่อยอดของเก่า หรือสร้างของใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบ HR ได้สักแค่ไหน
- ระบบสรรหาผู้สมัคร ระบบนี้เราสามารถต่อยอดวิธีการสรรหาไปสู่รูปแบบใหม่ได้หรือไม่ จากเดิม รอผู้สมัครเข้ามาหาเรา ปัจจุบันเราต้องออกไปหาผู้สมัครมากขึ้น ต้องการช่องทางใหม่ๆ ที่จะได้มาซึ่งผู้สมัครที่ตรงคุณสมบัติที่เราต้องการได้อย่างไร เรียกว่าต้องสร้างแนวทางเชิงรุกมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยี Social network ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราเอามาประยุกต์ในการสรรหาคัดเลือกสักแค่ไหน เราดึงประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เพื่อการหาคน และคัดเลือกคนได้หรือไม่ บางบริษัทเริ่มเข้าไปเปิด หรือร่วมในการสอนหลักสูตร หรือวิชาบางวิชาในคณะที่ตนต้องการคนที่จะมาทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้นิสิตนักศึกษารู้จักบริษัท และจบแล้วจะได้มาสมัครงานกับบริษัทด้วยเช่นกัน
- ระบบการคัดเลือก เรา น่าจะมีวิธีการคัดเลือกแบบใหม่ๆ ที่เข้ามาเสริม การสัมภาษณ์หรือไม่ ที่จะทำให้เราสามารถเลือกผู้สมัครได้ตรงกับที่เราต้องการ บางบริษัทก็คิดต่อยอดโดยไปหาแบบทดสอบต่างๆ เข้ามาใช้ บางแห่งก็ปรับปรุงวิธีการสัมภาษณ์ วิธีการตั้งคำถาม บางแห่งก็ใช้วิธีการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาจริงๆ โดยที่ผู้สมัครไม่รู้ตัว เพื่อให้เขาแสดงพฤติกรรมที่แท้จริงออกมา จะเห็นว่าปัจจุบันเรามีวิธีการคัดเลือกพนักงานที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเฟ้นหาตัวจริงเข้ามาทำงานกับบริษัทนั่นเอง แล้วบริษัทของท่านเองล่ะครับ มีการคิดค้น หรือต่อยอดวิธีการคัดเลือกพนักงานอย่างไร หรือยังคงใช้วิธีการเดิมๆ มาตั้งแต่ในอดีต จนปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง
- ระบบการพัฒนาพนักงาน นอก จากการส่งพนักงานไปอบรม หรือการจัดอบรมแบบ In-house training ที่เรานิยมทำกันแล้ว เรายังมีวิธีการอื่นๆ ที่จะพัฒนาพนักงานได้ดีกว่า training หรือไม่ ในปัจจุบันก็มีวิธีการพัฒนาพนักงานมากขึ้น อาทิ การ Coaching การมอบหมายงาน การเป็นพี่เลี้ยง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การดูงาน ฯลฯ ประเด็นที่สำคัญมากกว่าก็คือ เครื่องมือที่จะวิเคราะห์ว่าพนักงานคนไหนจะต้องถูกพัฒนาเรื่องอะไร จะได้พัฒนาได้ตรงจุดมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา การเรียนผ่านหน้าเว็บไซต์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถนำเข้ามาใช้ในการพัฒนาพนักงานของบริษัทได้
- ระบบค่าตอบแทน เรา สามารถคิดแนวทางในการจ่ายใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการทำงาน หรือวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ ถ้าพนักงานมีการทำงานที่บ้านมากขึ้น หรืออนาคตเด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเข้ามาเป็นพนักงานประจำของบริษัทอีกต่อไป แล้วระบบการให้ค่าตอบแทนจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โครงสร้างเงินเดือนที่เคยมีใช้เป็นโครงสร้างหลัก และโครงสร้างเดียว ก็อาจจะต้องมีวิธีการออกแบบให้ยืดหยุ่นมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ เราเคยคิดต่อยอดออกไปหรือไม่ ระบบการให้รางวัล การขึ้นเงินเดือนการให้โบนัส ยังใช้ได้หรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนไปเป็นระบบ Incentive ตามผลงานมากขึ้น
- ระบบสวัสดิการพนักงาน สภาพ การทำงานในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วเรื่องของสวัสดิการพนักงานจะต้องปรับปรุง หรือมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเสริมได้บ้าง ถ้าแนวโน้มกำลังวิ่งไปหา Work Life Balance หรือเน้นไปที่เรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น แล้วระบบสวัสดิการของบริษัทจะต้องปรับอย่างไรบ้าง
- ระบบความก้าวหน้าในสายอาชีพ แทน ที่จะเติบโตในองค์กรเดียว อนาคต พนักงานอาจจะสามารถทำงานได้มากกว่า 1 บริษัท หรือเปล่า สามารถรับงานได้มากกว่า 1 ที่ เสมือนว่าเป็นลูกจ้างของสองบริษัทหรือมากกว่า ในคราวเดียวกัน เพราะคนเก่งหายากมากขึ้น หรือถ้าไม่ใช่แนวนี้แสดงว่า พนักงานที่เก่งๆ จะต้องผันตัวเองไปเป็น Freelance มากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะมีวิธีการในการบริหารความก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงานอย่างไร ยังคงต้องมี Career Path หรือไม่ หรืออาจจะเป็นว่า พนักงานที่เก่งๆ ขององค์กร บริษัทก็ส่งเสริมโดยการเปิดบริษัทใหม่ ให้เลย แล้วพนักงานคนนี้ก็เป็นเจ้าของบริษัท โดยรับงานให้กับบริษัท และสามารถรับงานที่อื่นได้ด้วย หรือถ้าไม่เปิดบริษัท ก็ส่งเสริมให้พนักงานกลายเป็นฟรีแลนซ์กันไปเลย จะได้หรือไม่
บริษัทของท่านเองมี Innovation ทางด้าน HR บ้างหรือไม่ครับ ถ้ามีลองเล่าสู่กันฟังบ้างก็ได้นะครับ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น