เรื่อง ของการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่เข้ามา มีความเป็นธรรมหรือไม่ เลือกคนตามคุณสมบัติจริงๆ หรือมาจากเด็กเส้น การฝึกอบรมพนักงาน เราเลือกพนักงานที่เรารักเราชอบ แล้วส่งไปอบรม ส่วนพนักงานที่เราไม่ชอบหน้า ก็ปล่อยไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปอบรมอะไร การประเมินผลงานก็เช่นกัน เราประเมินผลงานด้วยผลงานจริงๆ ของพนักงานที่ทำได้ หรือประเมินตามความรู้สึกชอบไม่ชอบพนักงานคนนั้น การบริหารค่าจ้างเงินเดือน เราจ่ายเงินเดือนตามค่างาน ผลงาน และความสามารถจริงๆ หรือจ่ายตามความพอใจของนาย อยากให้ใครมากน้อยก็อยู่ที่นายไม่มีหลักการอะไร ฯลฯ
มีกรณีที่เกิดขึ้นกับการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ถ้าท่านผู้อ่านประสบกับเหตุการณ์นี้แล้วจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ลองมาดูกันนะครับ
บริษัทหนึ่ง รับพนักงานเข้ามาทำงาน 2 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน (สมมุติว่าชื่อ นาย ก และ นาย ข) ทั้งสองคนทำงานในตำแหน่งเดียวกัน ผลงานใกล้เคียงกัน ทำงานกันมาจนครบ 5 ปี นาย ก ก็เริ่มรู้สึกว่าทำงานมานานแล้ว แต่บริษัทไม่เคยส่งสัญญาณอะไรในการเลื่อนตำแหน่งให้เลย ส่วนนาย ข เองก็ไม่ได้คิดมากอะไร คิดแค่เพียงว่า ถ้าทำงานได้ตามผลงาน และตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ ก็คงจะได้รับการปรับตำแหน่งเร็วๆ นี้
วันหนึ่ง นาย ก ทนไม่ไหว ก็เลยเดินเข้าไปคุยกับเจ้านายของตนเอง โดยบอกว่าอยู่มาก็ 5 ปีแล้วแต่ทำไมถึงยังไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งสักที เจ้านายก็ตอบตรงๆ ว่า ในช่วงนี้บริษัทเองยังไม่มีความพร้อม อีกทั้งผลงานของนาย ก เองก็ยังไม่ถึงมาตรฐานที่กำหนดไว้ ก็เลยบอก นาย ก ว่า รออีกสัก 1-2 ปี พร้อมกันนั้นก็มีการวางแผนการพัฒนา นาย ก ว่าจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง
นาย ก กลับไปคิด แล้วก็ตัดสินใจบอกเจ้านายในวันรุ่งขึ้นว่า “ขอลาออก” ซึ่ง นายเองก็ทัดทานไว้ และแจ้งว่าให้รออีกนิด ก็น่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่นาย ก ก็ยืนยันว่าตัดสินใจแล้ว เจ้านายก็ต้องปล่อยให้ไป ส่วนนาย ข ก็ยังคงทำงานต่อไปด้วยความขยันขันแข็ง ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเจ้านายจะเลื่อนตำแหน่งให้ตนเอง
เวลาผ่าน ไป 1 ปีเต็ม จู่ๆ นาย ก ก็กลับมาทำงานที่บริษัทอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มาในตำแหน่งเดิมแล้ว มาในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อครั้งก่อนที่จะลาออกไป โดยเข้ามาดูแลเป็นหัวหน้าของ นาย ข ด้วย
โดยที่ 1 ปีที่ผ่านไปนั้น นาย ก ไปทำงานส่วนตัว และทำงานคล้ายๆ เป็น Freelance ได้สักพัก ก็สมัครเข้าทำงานกับอีกบริษัทหนึ่ง ในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ทำได้ไม่ถึงปี ก็ลาออกมา แล้วก็กลับมาสมัครงานใหม่ที่บริษัทเดิม แล้วสุดท้ายก็ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยไม่มีใครทราบที่มาที่ไปเลย
ในกรณีที่เกิดขึ้นข้างต้นนั้น ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ
- นาย ข จะรู้สึกอย่างไร เพราะตั้งใจทำงานมากขึ้นหวังว่าน่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่กลับรับ นาย ก กลับเข้ามาเป็นหัวหน้าของตนเอง ทั้งๆ ที่นาย ก ก็เป็นคนของลาออกไปเองด้วยซ้ำไป
- พนักงาน ที่ขอลาออกไป เวลารับกลับเข้ามา เราจะรับเข้ามาในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิมแบบนี้หรือ ผมเองก็ไม่ค่อยเห็นกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมากนัก ด้วยเวลาเพียง 1 ปี แม้ว่าจะไปทำงานที่มีคุณค่ามากขึ้น แต่กลับเข้ามาในบริษัทเดิม HR หรือผู้บริหารเองก็น่าจะพิจารณาความเหมาะสม และความเป็นธรรมเมื่อเทียบพนักงานภายในบริษัทที่ทำงานอยู่ด้วย
- กรณี
แบบนี้ท่านคิดว่าเป็นธรรมหรือไม่ ในการบริหารทรัพยากรบุคคล
การที่พนักงานลาออกจากบริษัทไปแล้ว
ปกติเราควรจะรับกลับมาทำงานใหม่อีกครั้งหรือไม่ หรือลาออกแล้วลาออกเลย
นอกจากนั้นก็ยังทำให้ความ น่าเชื่อถือของผู้บริหารในการบริหารคนลดลงในสายตาของพนักงานอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นพนักงานเก่าที่ออกไป และเข้ามาใหม่นั้น อาจจะมีปัญหาในการทำงานร่วมกับพนักงานเดิมของบริษัทได้เช่นกัน เพราะอาจจะเกิดอาการไม่ยอมรับซึ่งกันและกันได้ ลูกน้องไม่ยอมรับเจ้านาย ไม่ยอมทำงานให้นาย สุดท้ายผลงานก็ไม่ออก และมีผลต่อผลงานขององค์กรอยู่ดี
ถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ พนักงานเกิดอยากเติบโต ก็ขอลาออก แล้วหายไปสักปี กลับมาก็ได้โต ตำแหน่งก็สูงขึ้น เงินเดือนก็มากขึ้น ผมว่าคุ้มเกินคุ้ม แล้วการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทจะศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือเปล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น