ระยะนี้เป็นช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจทั้งในประเทศเราเอง และต่างประเทศ องค์กรหลายแห่งเริ่มมีมาตรการรัดเข็มขัด โดยมีการประกาศลดต้นทุนการทำงาน ลดเวลาการทำงาน และที่แรงสุดก็คือ ลดพนักงานลง เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงอยู่รอดได้ บางองค์กรอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบในทางอ้อม ซึ่งก็ต้องระมัดระวังตนเองอยู่พอสมควร ก็เลยเป็นเหตุให้งบประมาณที่ถูกตัดในปีนี้ก็คืองบประมาณทางด้านการบริหาร ทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะงบประมาณทางด้านการฝึกอบรม
และด้วยเหตุผลนี้เอง ที่ทำให้หลายๆ องค์กรใช้เรื่องของงบประมาณมาเป็นข้ออ้างกับผู้บริหารว่า ก็เพราะไม่มีงบประมาณในการฝึกอบรม ก็เลยทำให้ไม่สามารถที่จะพัฒนาพนักงานได้ เหตุผลนี้ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ
ในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากร บุคคลนั้น เรายังมีเครื่องมืออีกมากมายครับ ไม่ใช่แค่เพียงการฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วการฝึกอบรมพนักงานนั้นเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับ การให้ความรู้ในลักษณะที่ในองค์กรไม่เคยมีมาก่อน และต้องไปหาจากภายนอกเข้ามา รวมทั้งเป็นการเปิดโลกทัศน์ของคนเรียนให้มองเห็นวิธีการปฏิบัติงานขององค์กร อื่นๆ
แต่ถ้าเราต้องการพัฒนาพนักงานในการทำงาน หรือพฤติกรรมบางอย่างที่องค์กรต้องการให้มี เราก็สามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่ไม่ใช่การฝึกอบรมก็ได้ เรียกได้ว่า แม้ว่างบประมาณของการฝึกอบรมจะถูกตัดลงไปจนไม่เหลือสักบาท เราก็ยังสามารถที่จะพัฒนาพนักงานในองค์กรได้ด้วยวิธีการอื่นๆ วิธีการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันนะครับ
- On the Job Training วิธีแรกที่ไม่ต้องเสียเงินงบประมาณเลยก็คือ การอบรมแบบทำงานไปด้วย ก็คือ ให้พนักงานที่ทำงานได้รับการฝึกอบรมการทำงานที่หน้างานเลย เรียนรู้วิธีการทำงานไปพร้อมกับการทำงานจริงๆ ซึ่งปกติแล้ว OJT เรามักจะทำกันช่วงที่พนักงานเข้าทำงานกันใหม่ๆ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็น เพราะเราสามารถประยุกต์ใช้วิธีการนี้ในการพัฒนาพนักงานที่ประสบการณ์ในการทำ งานมาแล้วก็ได้เช่นกัน
- Internal Training เป็นการฝึกอบรมภายใน โดยใช้พนักงานที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นๆ หรือ พนักงานที่มีความสามารถในการเป็นวิทยากรภายในได้ มาเป็นผู้ออกแบบหลักสูตร และให้ความรู้แก่พนักงานภายในบริษัท ซึ่งวิธีการนี้ปัจจุบันหลายองค์กรก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย บางหลักสูตรก็ให้พนักงาน หรือวิทยากรภายในคนนี้ ไปศึกษา และเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องมาก่อน จากนั้นก็ให้เขาเป็นผู้ออกแบบ และทำหลักสูตร จากนั้นก็เริ่มวางแผนในการอบรม วิธีนี้ใช้งบประมาณในการอบรมน้อยมาก ถ้าจะมี ก็เป็นงบที่ส่งพนักงานที่เป็นวิทยากรภายในไปอบรมภายนอกมากกว่า แต่จริงๆ ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถเรียนรู้ได้ เพื่อนำความรู้นั้นมาถ่ายทอดต่อกันภายในองค์กร
- Coaching วิธีการนี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันมากขึ้น เป็นวิธีการพัฒนาพนักงานรายบุคคลที่ดี วิธีการก็คือ คนที่เป็นผู้จัดการ หรือหัวหน้างาน สามารถทำตัวเป็น Coach เพื่อสอนแนะการทำงานให้กับลูกน้อง เรื่องของการ Coach นั้นจะไม่เหมือนกับการ on the job training ตรงที่ การ Coach จะต้องมีการกำหนดเรื่องที่จะโค้ช และต้องมีการวางแผนการโค้ชแบบตัวต่อตัว กับพนักงานคนที่เราต้องการจะพัฒนาด้วยวิธีการนี้ ซึ่งถ้าเราทำกันภายในองค์กรก็มักจะเป็นการให้หัวหน้างานโดยตรงเป็นคนโค้ชลูก น้องตนเอง หรือถ้าจะให้ลึกขึ้นกว่านี้ ก็คือ หาพนักงานที่เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีบารมี มีประสบการณ์มากพอ เป็นโค้ชภายในองค์กร และทำหน้าที่โค้ชพนักงานภายใน โดยมุ่งเน้นไปที่พนักงานที่เป็น talent ก่อนเลยก็ได้ ด้วยวิธีการโค้ช จะทำให้พนักงานมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราต้องการ และทำให้พนักงานมีความมั่นใจและมีความสามารถที่โดดเด่นขึ้นได้อย่างเห็นได้ ชัด ถ้าเราโค้ชเขาได้อย่างถูกทาง
- Self-Development การ พัฒนาตนเอง เป็นวิธีการพัฒนาพนักงานโดยให้ตัวพนักงานเองพัฒนาตนเอง ซึ่งวิธีการส่วนใหญ่ก็คือ การมอบหมายให้ไปอ่านหนังสือเรื่องต่างๆ ที่ต้องการให้พัฒนา แล้วก็นัดประชุม เพื่อให้พนักงานคนนั้นมาเล่าให้ฟังว่า ที่อ่านมานั้นได้อะไรบ้าง และจะเอามาพัฒนาการทำงานของตนได้อย่างไรบ้าง
- Job Assignment การมอบ หมายงาน เป็นวิธีการพัฒนาพนักงานอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณอะไรเลย เพียงแต่คนที่เป็นหัวหน้าจะต้องมีทักษะในการมอบหมายงาน และทักษะในการบริหารจัดการการทำงานของลูกน้องได้ดี เราสามารถมอบหมายงานที่ท้าทาย ให้กับลูกน้องของตนเองได้ และร่วมกันวางแผนการทำงาน จากนั้นก็ปล่อยให้ไปดำเนินการ และให้มีการประชุมเพื่อทราบความคืบหน้าเป็นระยะๆ ที่สำคัญก็คือ เวลาที่มีการประชุมติดตามงานกัน ก็ให้สอบถามพนักงานเสมอว่า มีปัญหาอะไร แก้ไขอย่างไร และได้เรียนรู้อะไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานจริงๆ ร่วมกัน ก็ถือเป็นการเรียนรู้และการพัฒนาพนักงานที่ดีได้อีกทางหนึ่ง
ไม่มีเงินก็ยังสามารถพัฒนาพนักงานได้ครับขอให้มีความตั้งใจและมีเจตนาที่จะพัฒนาจริงๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น