เมื่อวานนี้ได้เขียนเกี่ยวกับแนวโน้มของสวัสดิการในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นงานวิจัยของ SHRM ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำการสำรวจเรื่องสวัสดิการจากพนักงานในประเทศของเขา ซึ่งก็มีผู้อ่านมากมายที่ให้ความสนใจ และให้ข้อคิดเห็นมา มีผู้อ่านที่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ให้เอามาพิจารณาและปรับใช้กับบ้านเรา และก็มีผู้อ่านบางท่านที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องราวที่อเมริกา เอามาใช้ในบ้านเราได้ยาก เพราะวัฒนธรรมต่างกัน
ผมเองคิดว่าทั้งสองมุมมองก็มีส่วนที่ถูกทั้งคู่ ในมุมของผมคือ เราควรจะมองถึงแนวโน้มของการบริหารสวัสดิการมากกว่า เพราะยังไงเราเองก็ไม่สามารถที่จะเลียนแบบ หรือเอามาใช้ตรงๆ ได้อยู่แล้ว เพียงแต่แนวโน้มของสวัสดิการมันเป็นไปในแนวทางนั้น ซึ่งก็น่าจะเอามาพิจารณาในการปรับปรุง และพัฒนาระบบการให้สวัสดิการขององค์กรให้มีความทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ในอนาคตมากขึ้น
ประเด็นที่ผมรู้ นึกในเรื่องของสวัสดิการบ้านเราก็คือ เป็นอีกเรื่องที่ผู้บริหารขององค์กรบ้านเราส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ความ สำคัญกับเรื่องนี้ ผมเคยไปวางระบบสวัสดิการให้กับองค์กรบางแห่ง ซึ่งผู้บริหารระดับสูงไม่ค่อยจะอยากให้สวัสดิการต่างๆ ตามที่คู่แข่ง และตลาดเขามีให้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มันทำให้ต้นทุนในการบริหารคนสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้กำไรของบริษัทลดลง
ท่านผู้อ่านเห็นอย่างไรกับความคิดเห็นนี้ครับ
เราลองมามองมุมมองที่ผมคิดเล่นๆ ดูนะครับ
- องค์กร ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะทำงาน มีพันธกิจ วิสัยทัศน์ และมีเป้าหมายผลงานในแต่ละปีที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกำไร ยอดขาย ต้นทุน หรืออื่นๆ ที่องค์กรอยากบรรลุผลสำเร็จ โดยมีเจ้าของลงทุน และมีผู้บริหารทำหน้าที่บริหารจัดการให้ผลงานออกมาให้ได้ตามเป้าหมายที่ กำหนดไว้
- ผู้ บริหารเริ่มจ้างพนักงานเข้ามาทำงาน เพราะเป้าหมายเหล่านั้นที่กำหนด ผู้บริหารลำพังกลุ่มเดียวนั้นไม่สามารถที่จะทำได้ ก็เลยต้องเริ่มจ้างพนักงานเข้ามารับผิดชอบงานในแต่ละหน้าที่งาน เพราะทรัพยากรบุคคลก็คือสิ่งที่จะทำให้ผลงานขององค์กรไปได้ตามที่เราต้องการ
- พอ จ้างพนักงาน ก็ต้องให้ค่าจ้าง เพื่อดึงดูด และเก็บรักษาคนเก่งให้ทำงานกับองค์กรให้นานที่สุด ถ้าเราบริหารไม่ดี ไม่สามารถแข่งขันได้ เราก็จะไม่สามารถดึงดูดและรักษาพนักงานในแบบที่เราต้องการได้ ผลงานก็ไม่เกิด หรือเกิดแต่ไม่ได้ตามที่เราต้องการเพราะเราขาดพนักงานมือดีเข้ามาทำงาน
- พนักงาน เข้ามาทำงานก็ต้องการความเป็นอยู่ที่ดีในการทำงานเช่นกัน องค์กรก็ต้องจัดหาสวัสดิการให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก และเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานในการทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดี จะได้ไม่ต้องคิดมากเรื่องนี้ และเอาความคิดมาลงที่งาน เพื่อสร้างผลงาน
เหมือนกับนิทานเรื่องห่านทองคำ ที่ชาวนาเลี้ยงห่านไว้ แล้วห่านออกไข่เป็นทองคำให้วันละฟอง ถ้าไม่มองในประเด็นชาวนาโลภมาก ฆ่าห่านไปซะก่อน แต่เรามามองว่า ถ้าเราต้องการให้ห่านออกไข่ทองคำให้เราทุกวันจริงๆ เราจะต้องทำอย่างไรกับห่านตัวนั้นดีครับ ????
ผมเชื่อว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่จะตอบว่า เราก็ต้องดูแลห่านตัวนี้ให้ดี ให้อาหารการกินที่ดี และมีประโยชน์ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับห่าน และมีมาตรการที่จะทำให้ห่านมีร่างกายที่แข็งแรง ฯลฯ เพื่อที่จะได้ออกไข่ทองคำให้เราได้นานๆ ในเวลาที่ห่านไม่สบาย เราก็ต้องดูแล เพื่อให้ห่านหายจากไม่สบายเร็วๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ห่านออกไข่ทองคำให้เราอีกเช่นกัน
กลับมาที่พนักงานของบริษัท เปรียบเสมือนห่านทองคำหรือเปล่าครับ เราจ้างพนักงานเข้ามา เพราะเชื่อว่าพนักงานคนนี้น่าจะสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรได้ (ออกไข่ทองคำ) และถ้าเราไม่ดูแลพนักงานให้ดี แล้วพนักงานจะสร้างผลงานที่ดีให้เราได้จริงหรือ
เรื่องของสวัสดิการก็ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีแนวทางในการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เวลาป่วยก็มีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีเพื่อให้หายป่วยได้เร็ว เพื่อพร้อมที่จะกลับมาทำงานสร้างผลงานที่ดี มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีเพื่อเอื้อให้พนักงานมีแรงจูงใจในการสร้างผล งานที่ดี ฯลฯ
ประเด็นที่ว่ามาข้างต้นไม่ได้แปลว่า เราจะต้องไปสร้างระบบสวัสดิการที่แพงๆ ใช้เงินเยอะๆ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ให้พนักงานด้วยความจริงใจ และเต็มใจ และให้ตามกำลังที่บริษัทสามารถรับได้ ย้ำนะครับ เต็มใจที่จะให้ ไม่ใช่ให้เพราะมีเหตุมาบังคับว่าต้องให้ ถ้าเป็นอย่างหลัง พนักงานเขารับรู้ได้นะครับว่าจริงๆ แล้วองค์กรไม่ได้อยากให้เขาเลย แต่ด้วยสิทธิของพนักงานเขาก็รับสวัสดิการตัวนั้นไป แต่เขาจะไม่แสดงความจริงใจในการทำงานกับองค์กรด้วยเช่นกัน
อย่าลืมนะครับ ถ้าเราดูแลพนักงานดี พนักงานก็จะดูแลงานของบริษัทอย่างดีด้วยเช่นกันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น