เรื่องราวของการบริหารคนต่าง Gen ก็ยังเป็นเรื่องที่ยังได้รับความนิยมอยู่ แม้ว่าจะดูซาๆ ไปบ้าง โดยเฉพาะกับการบริหารเด็กรุ่นใหม่ Gen Y ด้วยแล้วดูเหมือนเรื่องราวเหล่านี้จะค่อยๆ เงียบไป ไม่รู้ว่าที่เงียบไปนั้นคือ เราสามารถที่จะบริหารจัดการเด็ก Gen Y ได้อย่างดีแล้ว หรือ เริ่มเบื่อเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ทั้งๆ ที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนรุ่นนี้เริ่มออกมาสู่ตลาดแรงงานอย่างเต็มที่ และเริ่มเข้าสู่ชีวิตการทำงาน
แต่อย่างไรก็ดี ยังคงมีบางบริษัทที่ยังต้องการศึกษาเรื่องเหล่านี้ และต้องการที่จะบริหารจัดการคนกลุ่มนี้ให้ได้ดีที่สุด เนื่องจากนี่คือกลุ่มคนหลักที่จะสร้างผลงานให้กับองค์กรของเราในอนาคตข้าง หน้า เราคงจะไปคาดหวังผลงานที่ดีจากกลุ่ม baby boom และ กลุ่ม Gen X แบบ 100% ก็ไม่ได้แล้ว เพราะกำลังคนสำคัญที่จะนำพาองค์กรของเราไปสู่อนาคตที่ดีก็คือ คนกลุ่มนี้นั่นเอง
มีบทความของ Martha Maznevski ที่เขียนไว้ใน SHRM เกี่ยวกับลักษณะของ Gen Y ไว้อย่างน่าอ่าน ผมก็เลยเอามาเล่าต่อ และเสริมประสบการณ์ของตนเองเข้าไปบ้าง เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพมากขึ้น เผื่อว่าจะสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการเด็ก Gen Y ได้ดีขึ้น อย่างน้อยก็เข้าใจความคิดของเด็กรุ่นนี้ได้ดีขึ้น
- ชอบเรียนรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้จากประสบการณ์ แต่เป็นประสบการณ์แบบไม่มีการวางแผนอะไรมากนัก ผู้เขียนบทความได้อ้างอิงเรื่องของการเล่นเกม ว่าเด็กรุ่นนี้เล่มเกมโดยที่ไม่มีคู่มือในการเล่น มักจะต้องลองผิดลองถูก และปล่อยให้ตัวเองลุยไปจนตาย แล้วก็เริ่มเล่นใหม่ หาทางใหม่เพื่อที่จะฝ่าด่านของเกมไปให้ได้ ซึ่งวิธีการเล่นเกมนี้ก็มีผลต่อการใช้ชีวิต และการทำงานด้วยเช่นกัน กล่าวคือ จะทำงานแบบลุยดะ โดยไม่สนใจว่าจะมีวิธีการทำงานอย่างไร ใครจะบอกอะไร ก็ไม่สน แต่ฉันจะลองทำของฉัน สุดท้ายถ้าพลาด ก็คิดว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็เริ่มต้นใหม่ได้ ดังนั้นการที่จะบอกเด็กรุ่นนี้ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร บางทีเขาก็ไม่เชื่อ ผู้จัดการหรือหัวหน้างานก็อาจจะต้องรอให้เขาทำแล้วพลาด แล้วก็เอาความผิดพลาดนี่มาสอนและพัฒนาเขาให้ดีขึ้น
- ไม่ได้มองชีวิตเป็นเส้นตรง เด็ก รุ่นนี้โตมาพร้อมกับปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การล่มสลายขององค์กร ความสำเร็จของบุคคลต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเขารับรู้ว่าโลกนี้ไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัย และจะอยู่อย่างมีความสุขไปตลอดได้ ก็เลยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน การใช้ชีวิต ไม่ค่อยนิ่งสักเท่าไหร่ ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยเครื่องมือสื่อสาร และเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ก็ทำให้การ Focus ของเด็กรุ่นนี้มีน้อยลง ทำนี่นิด โน่นหน่อย เปลี่ยนไปเรื่อย ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่มักจะมองว่าเป็นเด็กที่ไม่อดทน และไม่มีสมาธิจดจ่อในการทำงาน ซึ่งจริงๆ เขาถูกสังคมหล่อหลอมมาแบบนี้ ดังนั้นผู้จัดการที่ต้องบริหารเด็กกลุ่มนี้ก็ต้องพยายามเข้าใจวิธีการคิด และการใช้ชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ด้วย เวลาให้งาน หรือพูดอะไร ก็ไม่ควรจะพูดยาวๆ ควรจะจับประเด็นสั้นๆ สรุปให้ได้ใจความ แล้วก็ปล่อยให้ไปทำงานกันต่อไป ก็น่าจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กรุ่นนี้มากขึ้น
- เป็นคนที่มีความจงรักภักดี แต่จงรักภักดีต่อหลักการ ไม่ใช่กับตัวบุคคล เด็ก Gen Y จะเป็นกลุ่มคนที่รักที่จะพัฒนาตนเอง รักที่จะมีโอกาสในการทำงานใหม่ๆ ที่ท้าทายอยู่เสมอ และยึดมั่นใจหลักการที่ถูกต้อง ตามที่ตนเองเชื่อ ดังนั้นนายที่พยายามจะทำให้เด็กกลุ่มนี้รัก และรู้สึกดีนั้น จะไม่ได้ผลอะไรกับคนรุ่นนี้เลย เพราะเขาไม่ได้สนใจนาย แต่เขาสนใจที่ตัวงานว่า งานที่เขาทำนั้นจะได้รับการพัฒนา และได้รับโอกาสในการเติบโตในชีวิตตนเองได้อย่างไร ดังนั้นถ้าจะซื้อใจ Gen Y ก็ต้องเน้นไปที่การพัฒนา การเรียนรู้ การสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานให้เขา มากกว่าที่จะพยายามทำตัวเองให้เป็นผู้นำที่ดี มีบารมีในมุมของความเป็นผู้ใหญ่ใจดี แค่นั้นไม่พอสำหรับเด็กรุ่นนี้แน่นอน
- เป็นคนที่มองไม่ค่อยออกว่าอะไรเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องที่เปิดเผยได้ เนื่อง จากการแชร์ การโพสต์ ผ่านเครือข่ายสังคมต่างๆ เป็นชีวิตของคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะทำอะไร กินอะไร ไปไหน เจออะไร เห็นอะไร ท่านก็จะต้องถ่ายรูป และโพสต์ขึ้นเครือข่าย เพื่อให้คนอื่นได้รับทราบในสิ่งที่ตนเองได้เจอมา ซึ่งในบางครั้งเรื่องราวเหล่านั้นก็เป็นเรื่องงาน เรื่องนาย เรื่องเงินเดือน เรื่องที่ไม่ควรจะไปเปิดเผย แต่จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งก็เนื่องจากเขาไม่รู้ตัว ดังนั้นคนที่เป็นหัวหน้าของคนกลุ่มนี้ก็จะต้องสอน และให้คำแนะนำ ในเรื่องเหล่านี้มากหน่อย อย่าคิดไปเองกว่าเด็กรุ่นนี้น่าจะรู้ว่าอะไรควรหรืออะไรไม่ควร ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรจริงๆ ครับ
- เป็นคนที่ไม่อดทนต่อนายที่แย่ๆ เด็กรุ่นนี้เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ถ้าเจอกับหัวหน้าที่ไม่มีตรรกะที่ดี และไม่สามารถที่จะตอบคำถาม หรือสร้างความมั่นใจให้ตัวเขาได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะไปจากหัวหน้า และองค์กรนั้นทันทีโดยไม่ลังเล ดังนั้นถ้าเราต้องการจะรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ให้ดี องค์กรก็ควรจะพัฒนาพนักงานในระดับหัวหน้าให้เป็นหัวหน้าที่พร้อมทั้งเรื่อง งาน และเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นต่อหัวหน้า และต่อองค์กร
- เป็นคนที่ทำงานซ้ำๆ (แต่เป็นงานที่สำคัญ) ไม่ได้ เด็ก รุ่นมักจะคิดว่างานที่สำคัญนั้นจะต้องมีความท้าทายตลอดเวลา และไม่ใช่งานที่ทำซ้ำๆ แต่จริงๆ แล้วทุกงานจะมีส่วนที่เป็นงานที่ท้าทาย และเป็นงานที่จะต้องทำซ้ำ เป็นประจำอยู่ พอเป็นแบบนี้ เด็กรุ่นนี้ก็มักจะคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้งานที่ท้าทายไปหมดแล้ว มีแต่งานประจำซ้ำๆ ซากๆ ก็เลยทำให้รู้สึกเบื่อ เปลี่ยนงานไป ก็จะรู้สึกแบบเดิมอีก เพราะทุกงานมันก็ต้องมีประเด็นเรื่องของงาน Routine อยู่แล้ว ดังนั้นหัวหน้างานของคนกลุ่มนี้จะต้องทำความเข้าใจกับพนักงานรุ่นนี้ว่าความ เป็นจริงของงานนั้นเป็นอย่างไร มีอะไรที่ท้าทาย อะไรที่สำคัญ แต่อาจจะดูไม่ค่อยท้าทาย แต่ถ้าทำได้ดีแล้วจะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงาน ซึ่งก็น่าจะช่วยทำให้เขารู้สึกดีต่อการทำงานนั้นมากขึ้น
Gen Y ก็เช่นกันนะครับ อย่าคิดว่า Gen อื่นจะต้องหันมามองว่าเราเป็นคนสำคัญ แล้วจะต้องเปลี่ยนเข้าหาเรา เราเองก็ต้องศึกษา Gen อื่นด้วยเช่นกัน และพยายามอาศัยจุดเด่นของเราในการทำงาน และการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ และการสร้างผลงานที่ดี ถ้าเราทำได้แบบนี้ เราก็จะเป็น Gen Y ที่โดดเด่น และไม่เหมือนใครเช่นกันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น