วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องไม่ชอบทำงานด้วย

bad bossss

เรื่องของหัวหน้ากับลูกน้องนั้น เป็นเรื่องราวที่ไม่มีวันจบสิ้น ถ้าเป็นนิยาย ก็คงเป็นนิยายที่ไม่มีวันจบลงได้ง่ายๆ ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีและแนวคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะใช้ในการบริหารระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องก็เกิดขึ้นมาก มาย แต่กลับยังคงมีเรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างคนสองกลุ่มนี้อยู่เสมอ ผมคิดว่าที่มันไม่จบ ก็เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกของคนเรามากกว่า มีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรื่องก็จบลงยากกว่าเดิม


หัวหน้าที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่เก่งเรื่องงานก็พอ ในทางปฏิบัติหัวหน้าจะต้องทำงานให้สำเร็จโดยผ่านลูกน้องของตนเอง ดังนั้นทักษะในการบริหารคนจึงมีความสำคัญมาก นิตยสาร Harvard Business Review ได้ทำการรวบรวมความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อหัวหน้า ว่าพฤติกรรมของหัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องไม่อยากที่จะทำงานด้วยเลย ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง
  • ไม่เคยสนใจใส่ใจความความสำเร็จของลูกน้องตนเอง พนักงาน ทุกคนที่มาทำงานก็ย่อมที่จะอยากจะสร้างผลงานที่ดีให้นายตนเองได้เห็น และเมื่อไหร่ที่มีผลงานที่ดีออกมา ก็อยากให้นายชื่นชม แต่นายบางคนกลับไม่เคยคิดที่จะชื่นชมความสำเร็จของลูกน้องตนเองเลย นิ่งๆ เหมือนไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่ก็เอาผลงานของลูกน้องไปเสนอนายใหญ่แล้ว
  • ไม่เคยให้แนวทางที่ชัดเจนแก่ลูกน้อง พฤติกรรม ของหัวหน้าที่ลูกน้องไม่ค่อยชอบใจเรื่องที่สองก็คือ หัวหน้าที่ไม่เคยบอกถึงเป้าหมาย และแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน มีแต่ภาพเบลอๆ ถามอะไรก็บอกยังไม่รู้ หรือยังไม่ได้ตัดสินใจ ลูกน้องก็เลยทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะเดินทางไหนดี
  • ไม่เคยคิดที่จะคุยกับลูกน้อง โดย เฉพาะการให้ Feedback ทางด้านผลงานแก่ลูกน้องตนเอง ปัจจุบันนี้เรื่องของ Feedback ทางด้านผลงานนั้นเป็นอีกเรื่องที่พนักงานอยากได้จากนาย และมีงานวิจัยเยอะมากที่ยืนยันว่า การที่พนักงานไม่อยากทำงาน และไม่มีความรู้สึกรักงานที่ตนทำเลย ก็มีสาเหตุมาจากการที่หัวหน้าไม่เคยพูดคุยและบอกพนักงานเกี่ยวกับผลงานของตน เองเลย
  • แอบอ้างผลงานของลูกน้องตนเอง นาย แบบนี้ก็เป็นนายที่ลูกน้องไม่อยากทำงานด้วยเช่นกัน เป็นประเภทใช้งานลูกน้องแล้ว ลูกน้องทำงานให้แล้ว สุดท้ายนายก็แอบอ้างผลงานของลูกน้องตนเอง บอกว่าเป็นผลงานของตนเอง ตนเป็นคนคิด และลงมือทำมันด้วยความเหนื่อยยาก
  • ด่าลูกน้องเสียๆ หายๆ เวลาที่ทำงานไม่ดี โดย ปกติแล้วการทำงานของลูกน้องก็ย่อมจะต้องมีทั้งผลงานที่ดี และไม่ดี เวลาที่ลูกน้องทำงานได้ไม่ดี นายไม่ชอบใจ ก็ด่ากราด โดยไม่ไว้หน้าลูกน้องตนเอง แทนที่จะใช้วิธีการพูดคุยที่เรียกกว่า Constructive criticism ก็คือ การวิพากษ์กันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ผลงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด่ากราดอย่างเดียว พนักงานก็หมดกำลังใจในการทำงานให้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ
  • จำชื่อลูกน้องตัวเองไม่ได้ สิ่ง ที่พนักงานรับไม่ได้อีกเรื่องก็คือ คนเป็นนายจำชื่อตนเองในฐานะลูกน้องไม่ได้เลย เรียกที่ไรก็ต้องถามทุกทีว่าชื่ออะไร แสดงให้เห็นว่าไม่เคยใส่ใจ หรือสนใจในตัวลูกน้องเลย แบบนี้ใครจะอยากทำงานด้วยล่ะครับ
  • ไม่เคยสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานเลย นายประเภทสุดท้ายที่ลูกน้องบอกว่าไม่อยากทำงานด้วยก็คือ นายที่ไม่เคยสอบถามถึงทุกข์สุขในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ครอบครัว สุขภาพ ความเป็นอยู่ด้านต่างๆ ฯลฯ
ทั้ง 7 รูปแบบนี้ เป็นเหตุผลที่พนักงานได้เรียงลำดับความสำคัญมาให้ด้วย ว่าแบบไหนที่รับไม่ได้มากที่สุด ก็ตามข้อที่ผมเขียนไว้ข้างต้น ลูกน้องทุกคน เวลาที่มาทำงานให้กับบริษัท และมีนายที่ดูแลเขาอยู่นั้น ที่พึ่งคนแรกในการทำงานของตนเองก็คือนายที่เขาขึ้นตรงด้วย เวลาที่ทำงานได้ดี ก็อยากให้นายได้เห็น และอยากได้รับการชื่นชมจากนายของตนเอง เพราะถ้านายไม่รู้ไม่ชี้ ไม่เคยใส่ใจ ไม่สนใจอะไรเลยในตัวลูกน้อง อีกทั้งยังเอารัดเอาเปรียบในเรื่องของการทำงาน ฯลฯ ทำงานกับนายแบบนี้ ผมคิดว่าไม่ต้องมีนายเลยยังจะดีกว่า

และ นี่ก็คือสาเหตุหลักที่พนักงานส่วนใหญ่ที่ไม่ผูกพัน (Not Engage) กับการทำงานในองค์กร ซึ่งก็คือ สาเหตุมาจากหัวหน้าของตนเองเป็นส่วนใหญ่ครับ

คำถามก็คือ แล้วถ้าองค์กรเรามีหัวหน้าที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ จะทำอย่างไรดี นี่คือสิ่งที่ท้าทายมากๆ ในการพัฒนาหัวหน้างาน ให้เปลี่ยนพฤติกรรมจากไม่ดี ไปสู่พฤติกรรมที่ดี ซึ่งอาศัยการฝึกอบรมเพียงอย่างเดียวไม่มีทางจะได้ผลเลย ต้องอาศัยผู้บริหารระดับสูงที่ต้องคอยดูแล Feedback และเอามาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานของคนที่เป็นหัวหน้าด้วย และนำไปเชื่อมโยงกับระบบการให้รางวัลที่เหมาะสมด้วย ใครที่เปลี่ยนแปลงตนเองจนกลายเป็นหัวหน้างานที่ดี ก็จะมีรางวัลในแง่ผลงานให้ด้วย

ก็ต้องอาศัยวิธีการ แนวทางที่ชัดเจน และที่สำคัญก็คือ ต้องอาศัยเวลาพอสมควรในการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่เป็นหัวหน้า

อีกประเด็นที่ไม่ควรจะลืมเลยก็คือ อย่ามัวแต่มุ่งเน้นการพัฒนาหัวหน้างานให้เป็นหัวหน้าที่ดี จนลืมการพัฒนาพนักงานให้เป็นพนักงานที่ดีด้วยนะครับ เพราะสองคนนี้จะต้องทำงานด้วยกันทุกวันดังนั้น การพัฒนาก็ต้องทำทั้งหัวหน้าและลูกน้องด้วยครับ

เมื่อลูกน้องดี หัวหน้าก็ดี และเมื่อหัวหน้าดี ลูกน้องก็ดีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น