เรื่องของการบริหารงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องนั้น เป็นประเด็นที่หลายบริษัทยังคงให้ความสำคัญอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะผู้บังคับบัญชาของสถาบันฝึก อบรมต่างๆ ที่จัดนั้น ก็ยังคงขายดีอยู่ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม ซึ่งในปัจจุบันนี้ ทักษะเรื่องของการบริหารคน และการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างมาก เพราะหัวหน้างานทุกระดับนั้นจะต้องทำงานโดยผ่านลูกน้องของตน จะต้องหาวิธีการให้ลูกน้องของตนสร้างผลงานที่ดีโดยการดูแลจากหัวหน้า
ปัญหาระหว่างลูกน้องกับหัวหน้าก็เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน หัวหน้าบางคนมีทักษะด้านนี้ดีหน่อย พนักงานให้การยอมรับมากหน่อย ปัญหาในการบริหารจัดการก็จะน้อยกว่า หัวหน้าที่ขาดทักษะในด้านนี้
ประเด็นปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องที่มักจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่ไม่เข้าใจกัน เกิดทิฏฐิ และการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน จนบางครั้งเกิดเป็นความขัดแย้งขั้นรุนแรงในการทำงานก็มีให้เห็นมากมาย ทั้งๆ ที่ถ้ามีการแก้ไขและการเปลี่ยนความคิดสักหน่อย ปัญหาก็จะหายไปได้ง่าย เราลองมาดูประเด็นที่หัวหน้าและลูกน้องต่างมองซึ่งกันและกันแล้วเกิดปัญหา ขึ้นว่ามีประเด็นอะไรบ้าง
- หัวหน้ามองพนักงานว่า ยังขาดความรับผิดชอบ ขาดความตั้งใจในการทำงาน มักจะทำงานแบบขอไปที และไม่ค่อยรู้สึกว่างานนี้ตนเองเป็นเจ้าของ และต้องทำให้สำเร็จ แต่พนักงานก็มองหัวหน้าตนเองว่า เป็นหัวหน้าที่ไม่น่าเคารพเลย บริหารงานก็ไม่เป็น วางแผนก็ไม่ได้ แถมยังเอาแต่สั่งๆๆๆๆๆ โดยไม่ดูสภาพความเป็นจริงว่าตอนนี้เป็นอย่างไร อยากได้นั่น อยากได้นี่ ใช้แหลก โดยไม่เคยมองว่าพนักงานเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน
- หัวหน้ามองพนักงานว่าเป็นคนที่ขี้เกียจ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานเลย ต้องคอยกระตุ้น บังคับ และตามจี้ ไม่เช่นนั้นผลงานก็จะไม่ออกมา แต่พนักงานมองหัวหน้าว่า ไม่เคยที่จะสร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับทีมงานเลย วันๆ เอาแต่ทำหน้าบึ้งตึง ทักทายลูกน้องก่อนก็ไม่มี เดินเข้ามาทำงานแบบหน้าตาซังกะตาย แล้วแบบนี้พนักงานที่ไหนจะมีแรงจูงใจในการทำงานด้วย
- หัวหน้ามองพนักงานว่า เป็นคนที่มีทักษะในการสื่อสารที่แย่มาก พูดอะไรก็ไม่เข้าใจ ให้นำเสนองาน หรือให้เล่าอะไรให้ฟัง ก็พูดไม่รู้เรื่อง วนไปวนมา แต่พนักงานมองหัวหน้าว่า เป็นคนที่มีการสื่อสารที่แย่มาก เพราะไม่เคยที่จะฟังพนักงานให้จบก่อน ชอบพูดแทรกขึ้นมา แล้วบอกว่า รู้แล้วเข้าใจแล้วตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่ฟังให้เข้าใจก่อนที่จะพูดอะไรออกมา บางทีเราต้องนั่งอดทนฟังหัวหน้าพูดจนจบทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการจะรู้เลยด้วยซ้ำไป คุยกันจบแล้วไม่เห็นจะได้อะไรที่ดีขึ้นเลย
- หัวหน้ามองพนักงานว่า เป็นคนที่เห็นแก่ตัว ทำงานของตนเองเสร็จแล้ว ไม่เคยคิดที่จะสละเวลามาช่วยงานของคนอื่นในทีมบ้าง ส่งไปเรียนเรื่องการทำงานเป็นทีมก็แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่อง มีแต่คอยสร้างปัญหาให้ทีมงานอยู่ตลอดเวลา ส่วนพนักงานก็มองหัวหน้าว่า เป็นคนที่ลำเอียง เลือกปฏิบัติ รักพนักงานไม่เท่ากัน บางคนได้ดีกว่าบางคน มอบหมายงานก็ให้งานไม่เท่ากัน ใครที่เป็นลูกรักก็ให้งานง่ายๆ และไม่หนักมาก ใครที่หัวหน้าไม่ชอบก็ไม่สนใจ หรือบางครั้งก็พยายามทำให้รู้สึกแย่มากขึ้น แล้วแบบนี้ใครจะทำงานเป็นทีมกับหัวหน้าแบบนี้
- หัวหน้ามองพนักงานว่า เรียน รู้ช้า สอนอะไรก็ไม่จำ ไม่มีความตั้งใจในการเรียนรู้งาน ทั้งๆ ที่หัวหน้าเองก็พยายามที่จะสอนงานให้ ให้คำแนะนำในการทำงานอยู่เสมอ ส่วนพนักงานก็มองหัวหน้าว่า เป็นคนที่สอนงานไม่รู้เรื่อง พูดอะไรวนไปวนมา สอนอะไรก็งงไปหมด ไม่ดูเลยว่าพนักงานแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน บางคนเรียนรู้ช้า บางคนเรียนรู้เร็ว ก็น่าจะปรับวิธีการสอนให้เข้ากับผู้เรียนมากกว่า
- หัวหน้ามองพนักงานว่า ต้องคอยให้ตำหนิดุด่าว่ากล่าวตลอด งานถึงจะออกมา แต่ก็ยังออกมาไม่ดี จะทำให้มันดีเลยไม่ได้หรืออย่างไร ส่วนพนักงานก็มองหัวหน้าว่า วันๆ เอาแต่ด่าๆๆๆ งานที่ให้ทำ สอนก็ไม่เคยสอน แถมยังจะมาเอางานที่ดีมีคุณภาพ พอทำได้ดีก็ไม่เคยชมเลย แต่พอพลาดเมื่อไหร่ ท่านด่าแบบไม่มีชิ้นดี แล้วแบบนี้จะมีแรงจูงใจในการทำงานได้อย่างไร
- หัวหน้ามองลูกน้องว่า วันๆ มัวแต่คิดเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ ทำไมได้น้อยบ้าง ทำไมบริษัทนั้นให้มากกว่าบ้าง ไม่เคยที่จะคิดว่า งานนี้จะทำอย่างไรให้สำเร็จได้บ้าง ไม่เคยคิดที่จะปรับปรุงการทำงานแบบเดิมๆ ให้มันดีขึ้นบ้าง ส่วนพนักงานก็มองหัวหน้าว่า ให้งานตั้งเยอะแยะ แต่เรื่องเงินเดือนกลับไม่เคยพูดถึง และมักจะตอบว่า ตั้งใจทำงานไปก่อน ส่วนเรื่องเงินเดือนนั้นเดี๋ยวมันก็มาเอง ถ้าผลงานของเราออกมาดี
จากที่ผมเคยบรรยายเรื่องทักษะการบังคับบัญชา และเป็นที่ปรึกษาในด้านการบริหารคน ก็พบเยอะครับว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครผิด และไม่มีใครถูกเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างมองแต่มุมของตนเอง ไม่เคยเปิดใจมองอีกฝ่ายหนึ่งเลย คำว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย มีแต่จะคิดว่า ต้องให้อีกฝ่ายปรับก่อน เราถึงจะปรับ
ประเด็นก็คือการพัฒนาทักษะในการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น เคยได้ยินมั้ยครับว่า เรียนแล้วให้กลับไปปรับลูกน้องตนก่อน โดยที่ตัวหัวหน้าไม่ต้องปรับอะไรเลย คงไม่มีใครเขาคิดกันแบบนี้แน่ๆ ครับ
การที่เราจะเป็นหัวหน้างานที่ดี ได้นั้น มันอยู่ที่ตัวเราเอง อยู่ที่การเปิดใจพัฒนาตนเอง ยอมรับในสิ่งที่ตนเองยังไม่ดี และปรับปรุงให้ดีขึ้น แม้ว่าบางครั้งลูกน้องอาจจะไม่ตั้งใจทำงาน เรียนรู้ได้ช้า หรือไม่อยากทำงาน หน้าที่ของหัวหน้าก็คือต้องมองกลับมายังตนเองว่า แล้วเราจะต้องทำอย่างไรให้ลูกน้องเราตั้งใจทำงาน ตั้งใจเรียนรู้งาน
เปลี่ยน ที่ตัวเราเองก่อน แล้วทุกอย่างมันจะดีขึ้นเอง อย่ามัวไปโทษลูกน้องว่าไม่ดีเลยครับ นี่คือเคล็ดลับในการพัฒนาทักษะการเป็นหัวหน้างานที่ถูกต้องครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น