วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความแตกต่างของ Training, Coaching, Counselling, Mentoring


เวลาที่พูดถึงเรื่องของระบบบริหารผลงาน นอกจากคำว่า KPI และ Competency แล้ว ยังมีอีก 1 คำที่มักจะนำมาใช้ในระบบบริหารผลงานด้วย ก็คือ คำว่า Coaching นั่นเอง เรื่องของการ Coaching นั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าต้องการที่จะบริหารผลงานของลูกน้องให้เขาสามารถทำผลงานที่ดีขึ้นได้ตาม KPI ที่กำหนดไว้


แต่เมื่อไหร่ที่พูดถึงคำว่า Coaching ก็มักจะมีคำอื่นๆ ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นคำว่า Feedback   Counselling   Mentoring รวมถึงคำว่า Training ซึ่งมักจะสร้างความสับสนให้กับพนักงาน หัวหน้างาน และผู้บริหารหลายๆ คน ผมเชื่อว่า มีหลายท่านเข้าใจความแตกต่างของคำเหล่านี้อย่างดีอยู่แล้ว แต่ก็เชื่ออีกว่า มีอีกหลายท่านที่สับสนกับคำต่างๆ เหล่านี้ว่าจริงๆ แล้วแต่ละคำมันคืออะไร และมีความหมายอย่างไรกันแน่ วันนี้ผมจะมาเขียนให้อ่านกัน เผื่อว่าจะช่วยให้ท่านที่ยังไม่ค่อยเข้าใจความแตกต่างของคำเหล่านี้ เข้าใจมันได้ดีขึ้นครับ
  • Training แปลเป็นไทยว่าการฝึกอบรม ซึ่งพนักงานและผู้จัดการส่วนใหญ่ในองค์กรบ้านเรามีความเข้าใจคำนี้ตรงกันมาก ที่สุด ความหมายง่ายๆ ของคำนี้ก็คือ การที่พนักงานไปเข้าชั้นเรียน ที่มีการเรียนการสอน เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ ทักษะในการทำงานด้านต่างๆ เป้าหมายของการฝึกอบรมก็คือ การเพิ่มพูนความรู้ ทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงาน โดยอาศัยวิทยากร และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ด้านนั้นมาถ่ายทอดให้ฟังกัน
  • Coaching แปล เป็นไทยว่าการสอนงาน ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนเท่ากับความหมายของคำๆ นี้จริงๆ โดยความหมายที่แท้จริงของคำว่า Coaching นั้นก็คือ การช่วยทำให้ผู้ถกโค้ชสามารถตระหนักถึงความสามารถของตนเองในการไปสู่เป้า หมายที่ต้องการได้ ผมชอบความหมายของคำว่า Coaching ที่เขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า “Helping people to unlock their potential” ซึ่งก็คือ เป็นการช่วยให้พนักงานได้รู้ว่าตนเองมีศักยภาพอะไรบ้าง เป็นการปลดล็อค ข้อจำกัดในตัวเอง เพื่อจะได้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้ เป็นการส่งเสริม กระตุ้น และผลักดัน ให้พนักงานได้เรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง และสามารถที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง มากกว่าการมานั่งสอนกันทีละขั้นทีละตอน แบบนี้เราจะเรียกกว่า Teaching มากกว่า
  • Counselling การ ให้คำปรึกษาหารือ คำนี้จริงๆ แล้วแตกต่างกับสองคำข้างต้นค่อนข้างมาก แต่ก็เห็นหลายคนใช้ปะปนกันไปมาเหมือนกัน การ Counselling นั้น เป็นการให้คำปรึกษาหารือ โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาในอดีตที่ผ่านมา เป็นการช่วยให้พนักงานสามารถที่จะก้าวผ่านปัญหาในอดีตที่อาจจะมีผลต่อผลงาน ในอนาคต แต่ถ้าเป็นการ Coaching จะเน้นไปที่อนาคต เพื่อจะดูว่า เราจะทำให้พนักงานไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างไร ด้วยวิธีการใดบ้าง มองอนาคตเป็นหลัก แต่การ Counselling จะมองอดีตเป็นหลัก เช่นพนักงานมีปัญหาเรื่องของความท้อแท้ หมดพลัง แบบนี้ก็ต้องแก้ไขที่อดีต ลักษณะนี้จะถือเป็นการ Counselling มากกว่า Coaching
  • Mentoring หรือ ภาษาไทยใช้คำว่า พี่เลี้ยง ลักษณะของการเป็นพี่เลี้ยงก็คือ เป็นการนำเอาคนที่มีประสบการณ์มากๆ มากให้คำแนะนำถึงแนวทางต่างๆ ในการทำงาน โดยเน้นไปที่ให้คนๆ นั้นเป็นตัวอย่างที่ดี (Role Model) เพื่อที่จะทำให้พนักงานเข้าใจวิธีการและแนวทางในการทำงานมากขึ้น แต่คำว่า Coaching นั้น คนที่เป็น Coach อาจจะไม่จำเป็นต้องรู้คำตอบทุกอย่าง แต่ต้องมีความสามารถที่จะช่วยให้พนักงานหาคำตอบนั้นได้ด้วยตนเอง
ดังนั้นถ้าท่านต้องการใช้คำว่า Coaching เพื่อการบริหารผลงานแล้ว สิ่งที่ท่านจะต้องเน้นมาก็คือ คนที่เป็นโค้ช จะต้องเป็นผู้ที่ช่วยให้พนักงานตระหนักถึงความสามารถของตน และสามารถที่จะหาทางออกเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยตนเองได้ ถ้ายังหาไม่เจอ หรือยังไม่ใช่ โค้ชก็จะค่อยๆ ชี้แนะไปเรื่อยๆ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้คำตอบทุกอย่าง

เมื่อเห็นภาพดังนี้แล้ว ผมคิดว่าน่าจะพอเห็นภาพของคำว่า Coaching ในระบบบริหารผลงานมากขึ้นนะครับ เนื่องจากในระบบบริหารผลงานนั้น เราจะต้องบริหารพนักงานให้เขาสร้างผลงานให้ได้ตาม KPI ที่กำหนดไว้ ซึ่งก็คือเป้าหมายในอนาคตที่องค์กรต้องการ ดังนั้นคำว่า coaching ก็จะเข้ามามีส่วนมากหน่อย เพราะเป็นการช่วยพนักงานโดยการมองไปที่อนาคตมากกว่าอดีต และเป็นการทำให้พนักงานตระหนักว่าตนเองมีความสามารถในการทำงานให้ได้ตาม KPI ที่ตั้งไว้ได้ โดยที่หัวหน้าอาจจะไม่ได้เป็นผู้บอกคำตอบ แต่จะเป็นผู้ชี้แนะ และใช้คำถามเพื่อให้ลูกน้องได้คิด ไตร่ตรอง และหาแนวทางนั้นได้ด้วยตนเอง

ถ้าเราทำให้พนักงานสามารถคิดหาแนวทางได้ ด้วยตนเองจริงๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พนักงานจะเก่งขึ้น มีความสามารถมากขึ้น คิดหาทางแก้ไขปัญหาได้ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งนี่ก็คือ ผลดีของการ Coaching

อย่าลืมนะครับว่า Coaching is Helping people to unlock their potential.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น