วันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้ไปร่วมงานเสวนาเล็กๆ ในงาน e-job expo2014 @fortune town ซึ่งในงานก็มีบริษัทต่างๆที่ต้องการรับสมัครพนักงานเข้ามาเปิดบูธ เพื่อรับประวัติและรายละเอียดของผู้สมัครแต่ละคน รวมทั้งยังมีการสัมภาษณ์เบื้องต้นก่อนด้วย ผมเองก็เห็นผู้ที่เข้ามาสมัครงานมากมาย ทั้งนิสิตนักศึกษาจบใหม่ และผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานเข้ามาเดินในงานมากพอสมควร
ประเด็นที่ผมได้เข้ามาร่วมเสวนาในงานครั้งนี้ทางผู้จัดงานเขาตั้งชื่อว่า HR รุ่นเก๋า เล่าประสบการณ์ ก็คือหน้าที่ของผมกับผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่งก็คือ คุณปฐม อินทโรดม เจ้าพอ commart ของบ้านเรา จะต้องให้ข้อคิด และแนวทางในการสมัครงานให้กับน้องๆ ในงานว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ที่จะทำให้เราได้เปรียบมากกว่าคนอื่น และสามารถได้งานเกือบทุกที่ที่สมัครไป ซึ่งผมก็สรุปประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญๆ มาไว้ในบทความนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจสมัครงาน นิสิตนักศึกษาที่ไม่ได้ไปร่วมงานนั้น รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปได้มองเห็นมุมมองของผู้ประกอบการมากขึ้นว่า เขาต้องการพนักงานแบบไหนเข้าทำงานในองค์กร
- มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี (EQ) ประเด็น แรกที่สำคัญที่ได้กล่าวถึงในการเสวนาวันนั้นก็คือ ระหว่าง IQ กับ EQ อะไรที่สำคัญกว่ากันในการคัดเลือกพนักงาน ซึ่งคำตอบก็ออกมาค่อนข้างชัดเจนและเป็นเอกฉันท์ว่า EQ สำคัญกว่า IQ เพราะในการทำงานในองค์กรนั้น จะต้องทำงานร่วมกับคนอื่น จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกองค์กร ดังนั้นคนที่จะทำงานได้ดี และได้เปรียบคนอื่นก็คือ คนที่มี EQ ที่ดีกว่าคนอื่นนั่นเอง แต่ก็มีประเด็นสอบถามมาว่า แล้ว IQ สูงๆ ไม่ดีกว่าหรือ คำตอบก็คือ IQ สูงๆ ดีครับ เพียงแต่ถ้า IQ สูงแต่ EQ ไม่ค่อยดีนัก ก็จะทำงานได้แค่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะงานทางด้านสายเฉพาะทางที่ไม่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ก็จะพอได้อยู่ แต่ถ้าต้องการเติบโตไปเป็นผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องดูแลทั้งเรื่องงาน และเรื่องคนด้วยแล้ว คนที่มี EQ ที่สูงจะสามารถบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ดี และสามารถที่จะใช้คนที่มี IQ สูงให้ทำงานได้อีกด้วย ดังนั้นถ้าต้องการจะได้เปรียบในการหางาน สมัครงาน ก็คงต้องพยายามพัฒนา EQ ของตนให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
- มีความอดทน ใน งานวันนั้นได้พูดถึงเรื่องของเด็กรุ่นใหม่ที่เป็น Gen Y ว่าไม่อดทนในการทำงาน เวลาเจองานที่ยาก หรือมีปัญหา ก็มักจะท้อแท้ และไม่อยากที่จะทำงานต่อไป ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าน่าจะเป็นที่แต่ละคนมากกว่า แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นของทางนายจ้างที่เขาต้องการพนักงานเข้าทำงานก็คือ ต้องการพนักงานที่มีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงาน มีความอดทนต่อความยากลำบากในการทำงาน จริงๆ แล้วการทำงานทุกแห่งล้วนแต่มีความยากลำบากด้วยกันทั้งสิ้น เพราะต้องสร้างผลงานให้กับนายจ้าง ทำให้นายจ้างเห็นถึงความสำคัญของเรา ดังนั้นถ้าเราไม่สู้งาน ไม่แสดงให้เห็นถึงความอดทนต่อเรื่องต่างๆ ก็จะทำให้เสียเปรียบในการทำงาน เราอาจจะได้งานแต่เรื่องของการเติบโตอาจจะมีปัญหา เพราะคนที่จะเติบโตได้ในการทำงานนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความอดทนในการทำงานอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เพราะการที่เราจะไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการได้นั้น มันไม่มีทางไปได้แบบสบายๆ อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราขาดความอดทนที่มากพอ เราก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ยากเช่นกัน
- มีความมุ่งมั่น อีก ประเด็นหนึ่งที่นายจ้างต้องการจากพนักงานก็คือ คนที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ความมุ่งมั่นก็คือ การที่ทำงานแล้วยึดเป้าหมายและความสำเร็จไว้ จากนั้นก็พยายามหาทางที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ โดยที่ไม่ล้มเลิกกลางทาง
การบ่น หรือ แชร์ความรู้สึก ที่ต้องระวังอย่างมากที่จะทำให้มีผลต่อการทำงานของเราเอง ก็คือ การต่อว่า หรือตำหนิองค์กรที่เราทำงานอยู่ หรือการบ่นแรงๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับเจ้านายของเราเอง ผมเคยเจอบางคนบ่นถึงนายใน facebook ว่า “เมื่อไหร่จะตายๆ ไปได้ซะที” สิ่งที่บ่นไปนั้นอาจจะทำให้เราสบายใจ แต่กลับส่งผลร้ายต่อตัวเราเองอย่างมากมาย ซึ่งมีผลต่ออนาคตในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นผู้สมัครงาน ใหม่ คนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อสังคมต่างๆ ก็คงต้องระมัดระวังตัวเองให้ดี จะแชร์อะไร ก็คงต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีเสียก่อนเพราะแชร์ไปแล้วมันเปลี่ยนแปลงได้ยาก มากครับ
นอกจากนั้นก็คงต้องพยายามสร้างตัวเราเองให้เป็นที่ต้องการของ องค์กรต่างๆ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติข้างต้นเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง เพื่อสร้างความได้เปรียบของตัวเราเอง
เวลาสมัครงานที่ไหน ก็จะมีแต่คนต้องการให้ไปทำงานด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น