วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ที่ปรึกษา HR ไทยหรือต่างชาติดีกว่ากัน


ทำงานที่ปรึกษาทางด้าน HR มานาน มีลูกค้าและคนรู้จักมากมายที่สนใจจะหาบริษัทที่ปรึกษาวางระบบ HR ต่างๆ ให้กับบริษัท และมักจะสอบถามว่า ถ้าจะใช้ที่ปรึกษา ควรจะใช้ที่ปรึกษาไทย หรือต่างชาติดี ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร


ในความเห็นของผมเองนั้น มันก็มีทั้งข้อดี และข้อไม่ดีของทั้งสองฝ่าย คงต้องลองพิจารณาสิ่งต่อไปนี้ประกอบด้วย
  • ความต้องการของบริษัทเราเอง เรา ต้องการอะไร ระบบอะไรที่อยากได้ เป้าหมายคือทำไปเพื่อแก้ปัญหา หรือทำให้มีระบบใหม่ๆ อะไรขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์อะไรบ้างขององค์กร ผมมองว่าตัวบริษัทเองจะต้องมีความเข้าใจในความต้องการของตนเองอย่างชัดเจน ก่อนที่จะหาที่ปรึกษาเข้ามาทำการวางระบบ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ตัวที่ปรึกษาเองก็จะไม่รู้ว่าบริษัทต้องการให้ทำอะไร และจะกลายเป็นการนำเสนอระบบทุกอย่างให้กับบริษัท เสนอไปเสนอมากลายเป็นโครงการยักษ์ ใช้งบประมาณมากมาย จะว่าดีมันก็ดีนะครับ เพียงแต่บริษัทเราเองมีความพร้อมสักแค่ไหนที่จะทำโครงการใหญ่ขนาดนั้น เพราะได้ไม่พร้อมแล้วทำ ผลก็คือ ไม่สามารถจะนำระบบใหม่ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ผลที่ออกมาก็จะไม่ดี และไม่ได้ตามที่เราต้องการจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราไม่ชัดเจนในตัวเอง บางครั้งที่ปรึกษาที่เข้ามา ก็พาเราออกนอกประเด็นไปเรื่อยเลยจนไปไกลกว่าเป้าหมายและความต้องการของเรา เอง
  • ความพร้อมของบริษัท ไม่ ว่าจะเป็นความพร้อมทางด้านตัวผู้บริหารเอง หัวหน้างาน ผู้จัดการ และพนักงานในองค์กร มีความพร้อมสักแค่ไหนที่จะนำเอาระบบงานใหม่ๆ เข้ามาใช้ บางองค์กรพนักงานอยู่ทำงานมานานมาก เวลาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างก็ทำได้ยากมาก ในกรณีแบบนี้พอที่ปรึกษาวางระบบเสร็จแล้ว การเอาระบบไป Implement จริงๆ ก็จะยากมาก เพราะการเอาระบบใหม่ๆ มาใช้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้จัดการ หัวหน้างานทุกระดับ และยิ่งคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยอยากเปลี่ยนด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้การเอาระบบมาใช้เป็นไปได้ยากมากขึ้นไปอีก จนสุดท้ายบางองค์กรถึงกับยอมแพ้ และหันกลับไปใช้ระบบเดิม
  • วัฒนธรรมในการทำงานของบริษัท รวม ถึงความเชื่อต่างๆ ในการทำงานของบริษัทตนเองว่าเป็นอย่างไร บางองค์กรเชื่อในเรื่องอาวุโส บางองค์กรเชื่อเรื่องผลงาน และความสามารถของพนักงาน บางองค์กรเชื่อผู้นำ บางองค์กรเชื่อโชคลาง ฯลฯ เนื่องจากความเชื่อต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อความคิด และวิธีการทำงานของพนักงานในบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่เราหาที่ปรึกษาเข้ามาทำงาน และวางระบบนั้น ที่ปรึกษาเองอาจจะนำเอาระบบและความคิดที่ไม่ได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของ องค์กรเราเข้ามา ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ระบบใหม่ที่จะใช้นั้น เป็นไปได้ยากมากขึ้นไปอีก
เมื่อเราเข้าใจตัวบริษัทของเราเอง แล้ว ก็ต้องนำเอาความเข้าใจเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้กับที่ปรึกษาที่เรากำลังใจให้เขา เข้ามาวางระบบเพื่อให้เขาเข้าใจ และสอบถามว่า พอจะมีแนวทางในการนำระบบไปใช้อย่างได้ผลหรือเปล่า
จากนั้นลองมาดูว่าแนวทางการเลือกว่าจะเป็นที่ปรึกษาไทย หรือต่างชาตินั้น ต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง
  • ความรู้ความสามารถ ถ้า พิจารณาจากความรู้และความสามารถแล้ว ผมมองว่าอยู่ที่ตัวที่ปรึกษาที่เข้ามาวางระบบให้เราด้วย เพราะเป็นหัวหน้าโครงการทั้งหมด จริงๆ แล้วคนไทยเองก็เก่งไม่แพ้ฝรั่งอยู่แล้ว แต่บางบริษัทอาจจะต้องใช้ฝรั่งเพราะบริษัทแม่ใช้อยู่ ก็เลยเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าบริษัทที่ยังพิจารณาอยู่ว่าจะหาที่ปรึกษาสัญชาติใดดี ผมมองว่า ลองให้เขาเข้ามาคุยทั้งคู่เลยก็ได้ครับ แล้วพิจารณาความรู้ความสามารถ แนวคิด วิธีการของแต่ละแห่งให้ชัดเจน และที่สำคัญพยายามมองให้ทะลุในเรื่องของทักษะในการนำเสนอ เพราะที่ปรึกษาบางคนนำเสนอเก่งมาก มากจนคนฟังเคลิ้มไปเลยก็มี
  • การประยุกต์ใช้จริงกับบริษัท ปัญหา ของที่ปรึกษาไม่ว่าจะคนไทย หรือต่างชาติอีกเรื่องก็คือ เรื่องของความสามารถในการ Implement ระบบที่วางไว้เพื่อให้บริษัทนำเอาไปใช้จริง ที่ปรึกษาหลายรายที่ทำระบบโดยการมีระบบมาตรฐานของตนเองไว้ จากนั้นก็เอาสิ่งที่เป็นมาตรฐานที่ตนมีนั้นมาวางให้กับบริษัทต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม และความเข้ากันได้ของแนวคิด และวิธีการทำงาน รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละแห่งเลย สุดท้ายก็เป็นแค่รายงานสรุปผลการวางระบบ แต่ระบบที่วางก็ไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริงอย่างที่ควรจะเป็น ยิ่งไปกว่านั้น บางแห่งพอถามว่า แล้วบริษัทจะ Implement อย่างไรก็ไม่สามารถตอบได้อีก เพราะไม่เคยทำจริงนั่นเอง
  • องค์ความรู้ใหม่ๆ บริษัท ที่ปรึกษาต่างชาติระดับใหญ่หน่อยจะมีข้อได้เปรียบตรงที่มีฐานข้อมูลจากงาน วิจัยค่อนข้างเยอะ ดังนั้นข้อมูลอ้างอิงสำคัญๆ จะมีเยอะมาก ก็ยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้ได้มากขึ้น แต่ถ้าระบบที่เราจะให้ที่ปรึกษามาทำให้นั้น ไม่ได้อาศัยข้อมูลวิจัยอะไรมากมายขนาดนั้น ผมเองคิดว่าที่ปรึกษาไทยเก่งๆ ก็มีหลายท่านที่สามารถช่วยวางระบบได้ เพราะปัจจุบันนี้ความรู้ต่างๆ มันเรียนทันกันหมด สิ่งที่น่าจะเป็นตัวตัดสินก็คือ ความสามารถในการนำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับบริษัท และช่วยให้บริษัทของเรามีผลที่ดีขึ้นจากระบบใหม่ที่วางไว้จริงๆ
  • งบประมาณที่ใช้ เรื่อง สุดท้ายก็คือเรื่องของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ การใช้ที่ปรึกษาต่างชาติก็ต้องเข้าใจว่ามีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าที่ปรึกษา ไทยอยู่ประมาณ 2-3 เท่าตัว (แล้วแต่งานที่ให้ทำ) ถ้าบริษัทของท่านไม่มีข้อจำกัดทางด้านการเงิน และอยากได้ที่ปรึกษาต่างชาติเข้ามาช่วยทำให้ ก็เลือกได้เลยครับ แต่สิ่งที่อยากจะย้ำก็คือ ของแพงอาจจะไม่ได้เป็นของดีเสมอไป ผมเองก็ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดีนะครับ หลายแห่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ดีอยู่แล้ว ด้วยชื่อเสียงของบริษัทที่อยู่มานาน แต่ถ้าท่านเองไม่ได้มีงบประมาณมากนัก และคิดว่า ที่ปรึกษาไทยๆ ก็สามารถช่วยท่านได้ ก็เลือกที่ปรึกษาไทยก็น่าจะเหมาะสมกว่าครับ เพราะคนไทยเองก็เก่งๆ อยู่หลายคนเหมือนกัน
ประเด็นต่างๆเหล่านี้เป็นแค่เพียงแนวความ คิดของผมเอง ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็เขียนจากประสบการณ์ของตนเองที่ทำงานในแวดวงที่ปรึกษามากว่า 20 ปี ผมเองโดยส่วนตัวเชื่อเสมอว่า คนไทยเก่งไปแพ้ต่างชาติเลย บริษัทที่ปรึกษาไทยๆ ที่ดีๆ ก็มีอยู่พอสมควรในบ้านเรา ที่สามารถเลือกใช้ได้ตามงาน และตามความถนัดของแต่ละบริษัท ยิ่งไปกว่านั้น ความเข้าใจวัฒนธรรมแบบไทยๆ ของคนไทยกันเอง มันจะช่วยทำให้เรื่องของการสื่อความ และการนำเอาระบบไปใช้ ทำได้ง่ายกว่าเยอะครับ

บางท่านอาจจะเถียงว่า บริษัทที่ปรึกษาฝรั่งในไทย ก็จ้างคนไทยไม่ใช่หรือ แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ระบบเขามีมาอยู่แล้ว ดังนั้นคนไทยที่เข้าไปทำงานก็ต้องเรียนรู้ระบบต่างๆ ของเขา ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดไปตามระบบที่มีอยู่ ซึ่งก็อาจจะทำให้การนำเอาระบบมา Implement กับองค์กรไทยๆ ทำได้ยากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นได้ครับ

สุดท้ายก็อยู่ที่ท่านแล้วล่ะ ครับ ก่อนจะตัดสินใจ ก็ลองนำเอาเกณฑ์ที่ผมว่าไว้ ไปช่วยในการพิจารณาได้เลยครับ ประเด็นที่ผมอยากจะเน้นก็คือ การ Implement ระบบที่วางไว้ได้ในทางปฏิบัติจริงมากกว่าครับ

เข้าข่ายว่า เก่งไม่กลัว แต่กลัวว่าซื้อมาแล้วใช้งานกับบริษัทไม่ได้เลยก็จะเสียทั้งเงินและเวลาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น