วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นิทานสอนใจ: ใครกันที่ชนะ

zen time 

วันนี้วันศุกร์ เหมือนเคยทุกวันศุกร์ ผมจะนำเอานิทานที่ผมได้อ่านเจอ และรู้สึกดี และได้รับคำสอนอยู่ในนิทานมาเล่าให้อ่านกัน วันนี้ก็เช่นกันครับ เป็นนิทานอีกเรื่องหนึ่งที่ได้อ่านไว้นานแล้ว และยังคงเป็นนิทานที่ทำให้ผมรู้สึกว่าคนเราเองมีมุมมองต่อเรื่องเดียวกันที่ แตกต่างกันออกไป ใครที่ถูกสอนมาอย่างไร อยู่กับสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็มักจะคิดไปในทางนั้น ซึ่งจุดนี้เองที่มักจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมาอีกมากมาย แค่เพียงเพราะมุมมองที่มองต่างกันออกไปเท่านั้น นิทานวันนี้มีเรื่องราวอยู่ว่า...


ในประเทศญี่ปุ่นสมัยก่อน มีประเพณีอย่างหนึ่งของพระภิกษุนิกายเซ็น คือ พระภิกษุอาคันตุกะ ที่เดินทางมาถึงที่วัดใด จะต้องตอบปัญหาธรรมชนะพระภิกษุที่อยู่ก่อน จึงจะมีสิทธิ์เข้าพักได้ ถ้าแพ้ก็ต้องเดินทางหาวัดใหม่ต่อไป

วันหนึ่ง มีพระอาคันตุกะองค์หนึ่ง เดินทางมาจากที่ไกลถึงที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศญี่ปุ่น วัดนี้มีพระเซนพี่น้อง 2 องค์อาศัยอยู่ องค์พี่เป็นผู้คงแก่เรียนรอบรู้แตกฉานมาก องค์น้องนอกจากจะตาบอดข้างหนึ่งแล้ว ยังมีสติปัญญาค่อนข้างทึบอีกด้วย เมื่อทราบระเบียบว่า จะต้องมีการโต้ธรรมะกันก่อนเข้าพักอาศัย พระอาคันตุกะก็ยินดีปฏิบัติตาม แต่เนื่องจากพระองค์พี่เหน็ดเหนื่อยจากการปฏิบัติงานมาทั้งวัน จึงได้มอบให้พระองค์น้องทำหน้าที่โต้ปัญหาธรรมแทน และได้แนะให้พระองค์น้องใช้วิธีโต้ปัญหาแบบ "เงียบ" พระทั้งสององค์จึงไปยังที่บูชา จุดธูปบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วการโต้ปัญหาธรรมะก็เริ่มขึ้น ชั่วครู่เดียวพระอาคันตุกะก็เดินออกไปหาพระองค์พี่ แล้วกล่าวว่า

"น้องชายท่านเก่งเหลือเกิน ข้าพเจ้ายอมแพ้แล้ว "

"ท่านโต้ปัญหากันว่าอย่างไรล่ะ" พระองค์พี่ถาม

พระอาคันตุกะจึงชี้แจงว่า "ทีแรกข้าพเจ้าชูนิ้วขึ้นมาก่อนหนึ่งนิ้ว ซึ่งหมายถึงพระพุทธ น้องชายของท่านชูสองนิ้วตอบ ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีพระพุทธก็ต้องมีพระธรรมด้วย ข้าพเจ้าจึงชูสามนิ้วตอบซึ่งหมายถึงว่าถ้าจะให้ครบ ก็ต้องมีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ด้วย คราวนี้น้องชายท่านกลับชูกำปั้นมาที่หน้าผม ซึ่งหมายความว่า จะเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ตาม ก็ต้องมารวมเป็นหนึ่งเดียว คือพุทธศาสนา ผมจึงว่าน้องท่านเป็นผู้ชนะ ผมไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่ที่นี่"

พระภิกษุ อาคันตุกะกล่าวแล้ว ก็ลาพระภิกษุองค์พี่เดินทางต่อไปสักครู่ พระองค์น้องก็เข้ามาหาพระพี่ชายอย่างเร่งรีบ แล้วถามหาพระอาคันตุกะว่า

"เจ้าหมอนั่นมันไปไหนแล้วล่ะ?"

"เธอชนะเขาแล้วไม่ใช่หรือ ?" พระผู้พี่ถามด้วยความสงสัย

"ชนะกะผีอะไรล่ะ" พระองค์น้องโกรธ

"เธอโต้ปัญหากับเขาว่าอย่างไรล่ะ?" พระองค์พี่ถามต่อ

"โต้อย่างไรนะหรือ" พระองค์น้องตะโกน

"พอเห็นหน้าผมเท่านั้น มันก็ชูนิ้วเดียวมาที่หน้าผม ซึ่งมันดูหมิ่นว่าผมมีตาข้างเดียว ผมสู้อดทนเพราะเห็นว่าเป็นแขก จึงชูตอบไปสองนิ้ว แสดงความยินดีที่เขามีตาครบบริบูรณ์ แทนที่มันจะรู้ตัว มันกลับชูนิ้วกลับมาอีกสามนิ้ว ซึ่งหมายความว่า ทั้งผมและมันมีตารวมกันอยู่สามตา อย่างนี้ไม่ใช่เยาะเย้ยแล้วจะเรียกว่าอะไร ผมเหลืออดจริงๆ จึงชูกำปั้นขึ้นมาจะต่อยหน้ามันสักหน่อย แต่มันกลับวิ่งออกมาเสียก่อน"

อ่านจบแล้ว รู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ ผมว่านี่ก็คือมุมมองของคนเราต่อสิ่งต่างๆ แม้ว่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่มุมมองของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างมองในมุมที่ตนสนใจ เข้าใจ และอยากจะมอง และถ้าเป็นแบบนี้ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ในการบริหารคนก็ เช่นกันครับ ท่านที่เป็นหัวหน้างาน เป็นผู้จัดการ ที่ต้องบริหารจัดการลูกน้อง เวลาที่เราคุยกับลูกน้อง หรือได้ยินลูกน้องคุยอะไรมา เรามองอย่างไร เราเห็นในสิ่งที่ลูกน้องของเราเห็นหรือไม่ หรือต่างคนต่างมองในมุมของตนเอง โดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายจะคิดอย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้ เราก็จะไม่ได้ใจลูกน้องของเราได้เลย

ดังนั้นสิ่งที่ควรจะระวังก็คือ อย่าให้มุมมองของตนเองมาปิดหูปิดตา และไม่สนใจมุมมองของคนอื่น จงเปิดใจ ละทิฐิและยอมที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองของตน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งความเข้าใจนี้ก็จะส่งผลดีต่อทั้งการทำงาน และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น