วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ทักษะอะไรบ้างที่เป็นจุดอ่อนของผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่

employees

เรื่องของทักษะในการเป็นหัวหน้างานนั้น เป็นเรื่องที่คุยกันได้ไม่รู้จักจบสิ้น แม้ว่าจะมีทฤษฎีต่างๆ มีองค์ความรู้ มีเคล็ดลับต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรอยู่เสมอในเรื่องของ การเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม สาเหตุของการลาออกของพนักงานส่วนหนึ่งก็มาจากคนที่เป็นหัวหน้าอยู่เหมือน เดิม หรือ ถ้าบางคนไม่ลาออก ก็มักจะหมดกำลังใจ หมดแรงจูงใจในการทำงานไปดื้อๆ พอไปถามเข้าว่าทำไม คำตอบที่ได้ก็คือ เพราะหัวหน้าอีกเช่นกัน


จากผลของการทำ Engagement Survey ที่ทำให้ลูกค้า รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อดูว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้พนักงานไม่ Happy หรือ ไม่ Engage โดยเน้นไปที่มุมของหัวหน้างานเป็นหลัก ก็พบประเด็นที่สำคัญว่า การที่พนักงานลาออกเพราะหัวหน้านั้น ตัวหัวหน้าเองขาดทักษะอะไรบ้าง ก็เลยทำให้พนักงานไม่อยากที่จะอยู่ทำงานด้วย ลองมาดูกันครับ
  • ทักษะการจูงใจ ประเด็นแรกที่มักจะเป็นปัญหาของคนเป็นหัวหน้าก็คือ ไม่รู้วิธีในการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกน้องของตนเอง มีลูกน้องก็ไม่รู้ว่าจะมีวิธีการที่จะทำให้ลูกน้องมีกำลังใจในการทำงานได้ อย่างไร แต่รู้แค่วิธีการทำลายแรงจูงใจของลูกน้อง ก็คือ เวลาไม่พอใจ ก็จัดเต็มด้วยคำด่าสารพัด เวลาที่ลูกน้องทำงานได้ดี กลับไม่มีอะไรแสดงออกมาให้เห็นเลย แม้กระทั่งจะชายตามองมาที่ตัวพนักงานสักหน่อยก็ไม่มี
  • ทักษะการสื่อความ ทักษะ ตัวที่สองที่มักจะสร้างปัญหาให้กับคนที่เป็นหัวหน้าก็คือ การสื่อความกับลูกน้องนั่นเองครับ หัวหน้าหลายคน พูดไม่รู้เรื่อง เวลาที่ได้รับมอบหมายงานมา ก็มาถ่ายทอดแบบที่ลูกน้องฟังจบแล้วก็ยังงงๆ ว่าตกลงให้ทำอะไรกันแน่ พอลูกน้องถามเข้า ก็ตำหนิว่า ทำไมแค่นี้ไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่อธิบายเพิ่ม ลูกน้องก็ไปทำมา พอทำมาผิด ก็โดนตำหนิอีก หาว่าไม่ฟังให้เข้าใจ ทำไมจับประเด็นแค่นี้ก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วตัวนายต่างหาก ที่จะต้องตรวจสอบความเข้าใจของลูกน้องเสมอ ว่าที่พูดไปนั้นลูกน้องเข้าใจอย่างแท้จริงหรือเปล่า ยิ่งไปกว่านั้น หัวหน้างานบางคนพูดเรื่องง่ายๆ ให้เป็นเรื่องยากได้ตลอดเวลา ชอบสรรหาคำวิชาการที่ดูเท่ๆ มาใช้ เพื่อจะบอกลูกน้องว่า ฉันเก่ง แต่สุดท้ายแล้วการทำให้ตัวเองดูเก่ง กลับทำให้ลูกน้องไม่รู้เรื่องมากขึ้น ผลงานก็แย่ลง และทำงานด้วยความอึดอัด
  • ทักษะการฟัง นอก จากการพูดแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เป็นปัญหาของคนเป็นหัวหน้า ก็คือ ฟังไม่เป็น ทั้งๆ ที่เราก็มีหูสองข้างเหมือนกัน แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่ได้ใช้หูที่เรามีฟังอย่างเข้าใจลูกน้อง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เวลาลูกน้องมาพูดอะไรกับหัวหน้า หัวหน้าก็มักจะตัดบท และมักจะตอบโต้ทันที โดยใช้มุมมองของตนเองเป็นหลัก บางครั้งก็แค่เพียงได้ยินเท่านั้น แต่ไม่ได้ฟังอย่างเข้าใจใดๆ ปัญหาก็เลยไม่ได้ถูกแก้ไข
  • การสร้างทีมงาน ปัญหา อีกประการของหัวหน้าก็คือ สร้างทีมงานที่ดีไม่ค่อยเป็น มีแต่จะทำลายทีมงานมากกว่า กล่าวคือ เวลามีพนักงานในทีม มานินทาเพื่อนให้ฟัง ในแง่ไม่ดี นายก็ผสมโรงด้วย พออีกคนรู้เข้า ก็ยิ่งเข้าหน้ากันไม่ติด และไม่เกิดความเชื่อถือในตัวนายอีกต่อไป และก็มีผลกระทบต่อคนในทีมทันที ทีมก็จะไม่เป็นทีม ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นทันที และยิ่งถ้านายยังไม่แก้ไข ความขัดแย้งก็จะยิ่งรุนแรงหนักขึ้น สุดท้ายพนักงานก็ทำงานอย่างไม่มีความสุข
  • ความไม่โปร่งใส ประเด็น สุดท้ายที่ทำให้พนักงานรับไม่ได้เลยก็คือ หัวหน้าขาดความโปร่งใสในการบริหารงาน บางคนมีนอกมีในกับพนักงาน จนทำให้มีผลต่อผลงาน และการให้รางวัล บางคนก็มอบหมายงานแบบไม่เป็นธรรม ให้งานที่ดีกับคนสนิท ลูกน้องที่ไม่ชอบหน้า ก็ไม่สนใจ ใส่ใจใดๆ บางคนก็ลำเอียงมากมาย เรียกว่าออกนอกหน้ากันเลย พนักงานคนไหนที่ไม่อวย ไม่ประจบ หัวหน้าก็จะไม่สนใจใดๆ จนสุดท้ายพนักงานที่พยายามสร้างผลงาน แต่เอาไม่เก่งก็กลับกลายเป็นคนที่ผลงานแย่ที่สุด ผิดกับคนที่ไม่ทำงานอะไร แต่อวยนายเก่งหน่อยก็เติบโตกันไป แบบนี้ก็คงไม่มีลูกน้องคนไหนอยากทำงานด้วย
คุณสมบัติ 5 ประการข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผมสรุปจากงานโครงการ Engagement ที่ทำให้กับลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะพออ้างอิง และเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านอยู่บ้าง ในกรณีที่อยากจะวางแผนพัฒนาพนักงานที่เป็นผู้บังคับบัญชา ก็อย่าลืมประเด็น 5 ประเด็นข้างต้นด้วยนะครับ

ในทางตรงกันข้ามถ้าหัวหน้าทุกคน หรือส่วนใหญ่ในองค์กร มีคุณสมบัติทั้ง 5 ประเด็นข้างต้นที่ดี ผลโดยตรงที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกของพนักงานจะดีขึ้น เวลาทำงานก็มีความสุขในการทำงาน เวลาคุยกะนาย ก็ไม่ต้องกังวลว่านายจะคุยไม่รู้เรื่อง เวลาทำงานก็เน้นกันไปที่ผลงาน เพราะนายก็ให้ความสำคัญกับผลงาน และความเป็นธรรม

สุดท้ายพนักงานก็จะทำงานอย่างมีความสุข ความสุขนี่แหละครับที่จะทำให้ผลงานของพนักงานดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อผลงานขององค์กรด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น