วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

การบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นงานของใคร

teamwork

มีคำถามเกิดขึ้นซึ่งมาจากผู้จัดการสายงานที่มาเรียนเรื่องของ HR for non HR ว่า “จริงๆ แล้วงานบริหารทรัพยากรบุคคลนั้นเป็นงานของใครกันแน่ ทำไมถึงต้องมาเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ทำด้วย แล้วถ้าผู้จัดการสายงานทำหน้าที่บริหารบุคคลได้ แสดงว่าฝ่ายบุคคลก็ไม่จำเป็นต้องมีในบริษัทสิ” ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ กับคำถามนี้


ความ นิยมในการเรียนรู้และฝึกอบรมในเรื่องของ HR for Non HR หรือบางแห่งเรียกกันว่า HR for Line Manager นั้น มีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีเหตุผลว่า เรื่องของการบริหารคนนั้น คนที่จะสามารถบริหารจัดการเรื่องคนได้ดีที่สุดก็คือ คนที่เป็นหัวหน้าของพนักงาน ซึ่งจะรู้จักงาน รู้จักคน และรู้จักว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้งานและคนไปด้วยด้วยได้ดี และที่สำคัญก็คือ ฝ่ายบุคคลนั้นเป็นหน่วยงานสนับสนุนในเรื่องนี้ ซึ่งจะสนับสนุนได้ดี ก็ต้องอาศัยคนที่เป็นผู้จัดการสายงานที่ต้องแจ้ง และบอกถึงเหตุต่างๆ ของการบริหารคน เพื่อให้ HR สามารถที่จะสนับสนุนได้อย่างดี และตรงกับความต้องการ

ในอดีตนั้น ผู้จัดการสายงานอาจจะไม่เคยต้องทำสิ่งเหล่านี้ และ HR ก็เป็นคนบริหารจัดการให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาคัดเลือกพนักงาน การพัฒนาฝึกอบรม การบริหารผลงาน การบริหารค่าจ้างเงินเดือน การสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ HR เดิมเป็นคนบริหารจัดการทั้งหมด แต่ผลที่ได้กลับออกมาแล้วไม่ตรงกับสิ่งที่ ผู้จัดการสายงานต้องการ และมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้จัดการกับหน่วยงานบุคคลกันมาโดยตลอด บางบริษัท กลุ่มพนักงานถึงกับมอง HR เหมือนเป็นตำรวจคอยจับผิดพนักงาน และเป็นหน่วยงานที่สร้างภาระให้อยู่ตลอดเวลา

human-resources-keys
แต่ในปัจจุบันผู้จัดการสายงานก็เริ่มเรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วคนที่ต้องทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเรื่องคนนั้น ก็คือ คนที่เป็นหัวหน้างาน ผู้จัดการ ฯลฯ (แล้วแต่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งอะไร) เพราะเมื่อไหร่ที่จะต้องมีคนเข้ามาทำงานในหน่วยงาน ก็ต้องมีการกำหนดว่าคนที่เราต้องการนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร และต้องถูกพัฒนาอะไร ผลงานเป็นอย่างไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ผู้จัดการสายงานจะต้องทำหน้าที่ โดยที่มี HR เป็นหน่วยงานที่คอยสนับสนุนเครื่องมือ และวิธีการ เพื่อส่งเสริมให้การบริหารคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง และพนักงานเองก็มีความสุขในการทำงานกับบริษัทเช่นกัน

บทบาทสำคัญของผู้จัดการสายงานกับการบริหารคนมีอะไรบ้าง
  • สรรหาคัดเลือกพนักงาน ผู้ จัดการสายงานสามารถมีส่วนร่วมในการสรรหาพนักงานได้โดย การแจ้งถึงคุณสมบัติที่ชัดเจนมาก และต้องชัดเจนมากพอที่จะให้ HR สามารถออกไปสรรหาคนได้ตรง เพื่อจะได้เข้ามาเลือกกันต่อ นอกจากนั้นก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครด้วย เพราะผู้จัดการสายงานต้องการพนักงานแบบไหน ย่อมน่าจะเป็นผู้ที่เข้ามามีส่วนในการคัดเลือกด้วย เพื่อที่จะได้พนักงานที่มีคุณสมบัติที่ตรงกับที่เราต้องการมากที่สุดนั่นเอง
  • การพัฒนาพนักงาน ผู้ จัดการสายงานจะต้องมีบทบาทในการวางแผนพัฒนาพนักงานที่ตนดูแล โดยการศึกษา วิเคราะห์จากผลงาน และพฤติกรรมการทำงานของพนักงานแต่ละคน หาจุดแข็ง จุดอ่อนของพนักงานให้พบ วางแผนในการพัฒนาพนักงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การทำให้พนักงานมีความรู้ ความสามารถในการสร้างผลงานที่ดีให้ได้
  • วางแผนก้าวหน้าตามสายอาชีพ สำหรับ บริษัทที่มีการวาง Career Path ผู้จัดการสายงานจะต้องมีบทบาทในการบริหารจัดการการเติบโตของพนักงานตามสาย อาชีพ โดยจะต้องพูดคุย วางแผนร่วมกันว่า จะเติบโตอย่างไร แบบไหน และถ้าจะโตตามสายอาชีพที่เลือกไว้นั้น จะต้องพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง รวมทั้งจะต้องมีการประเมินความคืบหน้าดูว่า พนักงานเติบโตไปได้ตามแผนการเติบโตที่วางไว้ได้สักแค่ไหน
  • ประเมินผลงานพนักงาน ผู้ จัดการสายงานจะต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการประเมินผลงานพนักงานของตน เองอย่างตรงไปตรงมา ตามผลงานที่ทำได้จริงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้มองเห็นพนักงานแต่ละคนว่าจะต้องพัฒนาอะไรต่อบ้าง เพื่อให้ผลงานออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อที่จะได้นำผลการประเมินไปใช้ในการให้รางวัลได้อย่างเป็นธรรม
  • สร้างแรงจูงใจในการทำงาน หน้าที่อีกประการหนึ่งของคนที่เป็นผู้จัดการสายงานก็คือ จะต้องเป็นคนที่สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานในทีมงานของตนเอง โดยการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี มีการพูดคุยกับพนักงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้คุณแก่พนักงานในกรณีที่พนักงานทำงานได้ดี และให้โทษแก่พนักงานในกรณีที่พนักงานทำผิดจริงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเกิดความน่าเชื่อถือในการทำงานร่วมกัน
แล้วบทบาทของฝ่ายบุคคลล่ะ ทำอะไรบ้าง ถ้าผู้จัดการสายงานทำอย่างที่ว่ามาทั้งหมดข้างต้น
    HR-planning111
  • สรรหาคัดเลือกพนักงาน ฝ่าย บุคคลจะใช้ข้อมูลคุณสมบัติของพนักงานที่กำหนดมาจากผู้จัดการสายงาน มาเป็นข้อมูลในการออกไปสรรหาพนักงานตามแหล่งต่างๆ เพื่อให้ได้พนักงานตรงตามที่ต้องการ และจะหาเครื่องมือในการคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็นการใช้แบบทดสอบต่างๆ การวางแผนการสัมภาษณ์ การเตรียมคำถามในการสัมภาษณ์ ซึ่งบางเรื่องอาจจะต้องร่วมกันออกแบบกับผู้จัดการสายงานด้วยเช่นกัน
  • การพัฒนาพนักงาน ฝ่าย บุคคลจะเป็นผู้ที่นำข้อมูลที่ได้จากผู้จัดการสายงานในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของพนักงาน และนำมาวางแผนในการพัฒนาพนักงานอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Training Road-map และหลักสูตรต่างๆ พร้อมทั้งจะเป็นผู้ที่จัดทำชุดพฤติกรรมหลักที่บริษัทต้องใช้ เพื่อให้เป็นพื้นฐานที่ผู้จัดการสายงานจะต้องนำไปวิเคราะห์พนักงานของตนเอง ทั้งนี้จะได้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่วิเคราะห์กันไปคนละทาง จากนั้นก็ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกในการจัดฝึกอบรมพนักงาน การประสานวิทยากร การประเมินผลการฝึกอบรม ฯลฯ ให้ข้อมูลในเรื่องของการพัฒนาพนักงานกับผู้จัดการสายงานแต่ละคน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้จัดการสายงานในการวางแผนพัฒนาพนักงานต่อไป
  • วางแผนก้าวหน้าสายอาชีพ ฝ่าย บุคคลจะทำหน้าที่ในการวางระบบความก้าวหน้าในสายอาชีพ และร่วมกับผู้จัดการสายงานในการกำหนดเกณฑ์ในการก้าวหน้าว่าจะต้องประกอบไป ด้วยอะไรบ้าง และต้องผ่านการอบรมเรื่องอะไร โอนย้ายงานอะไร และผลงานจะต้องเป็นอย่างไร รวมทั้งทำหน้าที่ในการเป็นคนให้ข้อมูล ตรวจสอบผลการพัฒนา และสรุปเสนอผู้บริหาร เพื่อพิจารณาในการเลื่อนระดับงานตามสายอาชีพที่กำหนดไว้
  • ประเมินผลงานพนักงาน ฝ่าย บุคคลจะทำหน้าที่ในการวางระบบการประเมินผลงาน ตั้งแต่การกำหนดตัวชี้วัดผลงานร่วมกับผู้จัดการ วางระบบในการให้ข้อมูลผลงาน และกำหนดแบบฟอร์มและวิธีการในการให้คะแนน น้ำหนักต่างๆ ในการประเมินผลงาน รวมทั้งทำหน้าที่ในการปรับความคิดและมาตรฐานของผู้ประเมินให้มีความใกล้ เคียงกัน ก่อนที่จะประเมินผลงานจริงในแต่ละปี หลังจากนั้นก็จะทำหน้าที่ในการรวบรวมผลการประเมิน และตรวจสอบปรับแก้ไขร่วมกับผู้บริหารและผู้จัดการสายงาน เพื่อให้ออกมาเป็นธรรมมากที่สุด เพื่อนำไปใช้ต่อในการพัฒนาพนักงาน และการให้รางวัลผลงานอย่างเป็นธรรม
การที่งานบริหารทรัพยากร บุคคลของบริษัทจะดี หรือไม่ดีนั้น ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายบุคคลแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้จัดการสายงาน และฝ่ายบุคคลในเรื่องต่างๆ โดยยึดเอาความสำเร็จ และแผนงานของบริษัทเป็นสำคัญ จากนั้นก็ร่วมกันหาแนวทางในการ หาคน เลือกคน พัฒนาคน และดูแลความก้าวหน้าของคนร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า

ทรัพยากรบุคคล คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร นั่นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น