วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวทางในการบริหารค่าตอบแทนในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

financial-crisis-544944_1280

ช่วงนี้หลายๆ บริษัทต่างๆ ก็บ่นเหมือนกันว่า เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี รายได้ไม่ค่อยจะเข้า ขายก็ไม่ค่อยจะได้ ลูกค้าหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ กว่าจะได้เงินมาสักบาทมันยากขึ้นมาก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่ ค่อยจะดีนัก องค์กรที่ยังต้องการการอยู่รอดปลอดภัย และสามารถผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไปได้นั้น ต่างก็ต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการขนานใหญ่


เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานก็เช่นกัน ช่วงที่เศรษฐกิจตก บริษัทไม่มีรายได้เข้ามาตามเป้าหมาย ทำให้ต้นทุนในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานนั้น สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ที่ลดลง บางองค์กรก็เลยต้องมีมาตรการในการบริหารค่าตอบแทนออกมา เพื่อที่จะรักษาสภาพของบริษัทให้ยังคงอยู่รอดต่อไป เพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมา ก็ได้จะลุยงานกันอย่างเต็มที่ต่อไปได้ มาตรการดังกล่าวมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันครับ
  • ลดเงินเดือนพนักงานลง มาตรการแรกที่มักจะเกิดขึ้นเสมอ ในกรณีที่เศรษฐกิจตกต่ำ และบริษัททำรายได้ไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด และมีแนวโน้มว่าจะขาดทุนอย่างหนัก สิ่งแรกที่บริษัทมักจะทำก็คือ การลดต้นทุนลง และต้นทุนที่ลดได้เร็วมาก็คือ ต้นทุนทางด้านเงินเดือนค่าจ้างของพนักงาน บางบริษัทยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องเลิกจ้างพนักงาน ก็จะใช้วิธีการคุยกับพนักงานเพื่อขอให้พนักงานลดเงินเดือนตัวเองลง ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ต้นทุนของบริษัทดีขึ้น และมีผลกำไรกลับคืนมาได้บ้าง แต่วิธีนี้ก็ต้องมีการพูดคุยกันกับพนักงานอย่างตรงไปตรงมา และเมื่อไหร่ที่สภาพกลับมาเหมือนเดิม ก็อย่าลืมชดเชยให้กับพนักงานในสิ่งที่พนักงานควรจะได้ในภาวะปกติด้วยนะครับ
  • เน้นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานมากขึ้น ใน ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้ขายยาก แต่บริษัทยังไงก็ต้องขาย เพื่อให้ได้รายได้เข้ามา สิ่งที่บริษัทมักจะทำก็คือ การวางแผนกลยุทธ์ใหม่ๆ การหาช่องทางการขายใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงการทำงานของพนักงานค่อนข้างจะมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นจูงใจพนักงานให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานด้วย ระบบค่าตอบแทนก็จะเปลี่ยนจากการเน้นให้เงินเดือนอย่างเดียว มาเป็นอาจจะขึ้นเงินเดือนชะลอลง เพื่อลด Fixed cost แต่ผันเงินรางวัลบางส่วนมาผูกกันผลงาน กล่าวคือ ถ้าพนักงานคนไหนสร้างผลงานที่ดี และสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้มากขึ้นก็จะจ่ายเป็นเงินรางวัลผลงานมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นจูงใจให้พนักงานช่วยกันสร้างผลงานที่ดี เพื่อจะได้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันให้ได้ ซึ่งระบบที่ว่านี้ก็คือ ระบบ Incentive นั่นเอง
  • ชะลอขึ้นเงินเดือน อีก วิธีหนึ่งที่นิยมทำกันก็คือ ขึ้นเงินเดือนในอัตราที่น้อยลง จะไม่ขึ้นเลยก็คงไม่ได้ เพราะพนักงานต่างก็ทำงาน เพียงแต่ตัวเนื้องานอาจจะน้อยลง เหนื่อยน้อยลงในช่วงนี้ เพราะขายไม่ค่อยจะได้ แต่พนักงานก็ยังคงทำงานอยู่ บางคนก็พยายามที่จะสร้างผลงานที่ดีขึ้น เพื่อทำให้องค์กรอยู่รอดต่อไปได้ พนักงานเหล่านี้ เราจะไม่ให้รางวัลผลงานเลยหรือ คำตอบก็คือ ไม่ให้คงไม่ได้ แต่ถ้าให้เท่าเดิม ก็อาจจะมีปัญหาทางด้านสภาพคล่องในอนาคตได้ ก็เลยต้องมีการปรับลดอัตราการขึ้นเงินเดือนลง เช่น จากปกติได้เฉลี่ยกัน 5% ก็อาจจะต้องปรับลงมาเหลือ เฉลี่ยที่ 3% เป็นต้น
  • ไม่ขึ้นเงินเดือน อีก วิธีหนึ่งที่มีหลายบริษัททำก็คือ การไม่ขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน เหตุผลก็คือ ไม่มีเงิน รายได้ไม่เข้า กำไรหดหาย ฯลฯ สิ่งที่จะต้องทำก็คือทำให้สภาพคล่องยังคงอยู่ให้ได้ วิธีก็คือ ไม่ขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือนสูงขึ้น แต่ไม่อยากลด ก็แก้โดยไม่ขึ้นเงินเดือนได้ แต่ก็ต้องมีการพูดคุย ชี้แจงให้พนักงานทราบถึงเหตุผลว่าทำไม และที่สำคัญก็คือ พอภาวะเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม บริษัทมีรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็อย่าลืมชดเชยเรื่องของการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานด้วยนะครับ
ช่วงที่บริษัทขาดรายได้ ไม่มีเงินเข้ามา แน่นอนก็ต้องหาทางประหยัด เพื่อให้สอดรับกับรายได้ที่เข้ามาน้อยลง บริษัทเองก็คงต้องมีมาตรการในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนออกมา แต่จะออกมาตรการอะไรออกมานั้น สิ่งสำคัญในช่วงนี้ก็คือ การสื่อสารให้กับพนักงานทุกคนทราบถึงสถานการณ์จริงของบริษัท โดยห้ามโกหกหรือปิดบัง ต้องเปิดเผยและจริงใจ เพื่อทำให้พนักงานรู้ถึงสภาพปัญหาจริงๆ ถ้าพนักงานรู้ว่าบริษัทไม่มีเจตนาจะกด หรือลดเงินเดือนอยู่แล้วแต่ที่ต้องทำไปก็เนื่องจากขาดสภาพคล่อง พนักงานก็จะเต็มใจให้กับบริษัทเช่นกัน เพื่อทำให้บริษัทอยู่รอด

แต่พอกลับมาสู่สภาพเดิมแล้ว ผู้บริหารของบริษัทจะต้องไม่ลืมทดแทนบุญคุณของพนักงานด้วยนะครับ โดยการอาจจะมีการปรับฐานเงินเดือนใหม่ เพื่อยกเงินเดือนพนักงานขึ้นมาให้อยู่ในสภาวะปกติ เหมือนกับว่าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น พนักงานควรจะได้เท่าไหร่ ก็จะต้องให้ได้เท่านั้นด้วยเช่นกัน นี่คือการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้เกิดขึ้นกับพนักงาน และทำให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทเป็นธรรมกับเขา

ไม่ใช่ทำเหมือนบางองค์กร ช่วงไม่มีก็ขอความร่วมมือพนักงานลดเงินเดือนบ้าง จ่ายไม่ครบบ้าง ไม่ขึ้นเงินเดือนบ้าง แต่พอกลับสู่สภาพเดิมแล้ว ผู้บริหารกลับทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ และไม่สนใจใส่ใจว่าจะปรับค่าจ้างให้กลับมาสู่สภาพเดิมที่มันควรจะเป็นแต่ อย่างใด เข้าข่าย มีทุกข์ร่วมต้าน แต่พอมีสุขกลับเสพสุขเพียงคนเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น