วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

เรื่องของผลงานไม่ใช่แค่เพียงการให้คะแนนแล้วจบ

employee-performance-appraisals

ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูแห่งการประเมินผลงานอีกแล้วนะครับ ผมเชื่อว่า แทบจะทุกองค์กร จะต้องมีปัญหาในเรื่องของการประเมินผลงานไม่มากก็น้อย และเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ ของทั้งผู้จัดการที่จะต้องประเมินผลงานลูกน้อง และพนักงานเองที่ต้องมานั่งลุ้นว่าผลประเมินปีนี้จะออกมาอย่างไร


จริงๆ เรื่องของการประเมินผลงานนั้นไม่ใช่เรื่องของการนั่งลุ้นของพนักงานเลย ถ้าองค์กรใดมีระบบในการบริหารผลงานที่ดี พนักงานจะรู้ตัวเองและสามารถที่จะประเมินตนเองได้แล้วว่า ปีนี้ผลงานของตนเองจะออกมาอย่างไร โดยไม่ค้านกับผลการประเมินของนายตนเอง หรือถ้าจะมีแตกต่างก็จะไม่มากอย่างมีนัยสำคัญใดๆ

ปัญหาของการประเมินผลงานที่ยังคงเกิดขึ้นในองค์กรปัจจุบัน
  • ผู้จัดการประเมินผลงานลูกน้องไม่เป็น คนที่เป็นหัวหน้า มอบหมายงานให้ลูกน้อง ดูแลลูกน้องทำงาน ตรวจสอบงานของลูกน้อง ฯลฯ แต่พอถึงเวลาประเมินผลงาน กลับกลายเป็นว่าประเมินผลงานลูกน้องไม่ได้ ประเมินไม่เป็น ประเมินไม่ตรงกับผลงานจริงๆ บางคนก็อวยกันไป โดยที่ไม่ตรงกับผลงานจริงที่ทำได้เลย
  • ผู้จัดการมองลูกน้องตนเองเก่งหมด อีก กรณีหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ คนที่เป็นหัวหน้ามักจะมองว่าลูกน้องของตนเองเก่งหมดเลย ในช่วงเวลาประเมินผลงานนี่แหละครับ ทั้งๆ ที่ระหว่างปีในการทำงานร่วมกันนั้น มีคำตำหนิมากมาย บางคนมาคุยกับเพื่อนผู้จัดการด้วยกันว่า ลูกน้องของตนเองนั้นยังใช้ไม่ได้เลย ทำงานพลาดเยอะ ถูกผู้บริหารตำหนิมาก็เยอะ แต่สุดท้ายพอถึงช่วงประเมินผลงาน กลับกลายเป็นว่าพนักงานทุกคนในฝ่ายได้ผลงานระดับดีมากกันทุกคน ไม่มีใครถูกประเมินออกมาไม่ดีเลยสักคน แม้กระทั่งคนที่โดนตำหนิว่าผลงานแย่มากก็ตาม
  • ประเมินไปเพื่อให้มันจบๆ ผู้ จัดการบางคนก็มองเรื่องการประเมินผลงานเป็นเรื่องที่ทำให้ตนเองเสียเวลาใน การทำงาน พอถึงเวลาที่ได้แบบฟอร์มประเมินผลงานก็เลยทำการติ๊กๆ ไปให้มันเสร็จๆ โดยไม่สนใจว่าผลงานจริงๆ ของพนักงานแต่ละคนจะเป็นอย่างไร แค่ติ๊กให้เสร็จๆ ไป แล้วส่งคืนให้กับฝ่ายบุคคลก็เรียบร้อยแล้ว
  • วนผลงานกัน หรือ บางแห่งเรียกกันว่าเข้าคิวผลงานดีมาก โดยผู้จัดการจะมีการตกลงกับพนักงานในทีมไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ในแต่ละปี จะประเมินผลงานใครที่จะได้ A แล้ว B และ C ฯลฯ ไล่กันไป ตามระบบที่กำหนดไว้ของบริษัท จากนั้นก็จะบอกกับพนักงานว่า ในแต่ละปีจะถึงคิวใครบ้างที่จะได้ระดับผลงานอะไร เพื่อแบ่งปันผลงานที่ดีมาก ดี ให้กับพนักงานทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสระดับผลงานดีๆ บ้าง
performance-appraisal formลองคิด และพิจารณากันให้ดีนะครับ ว่า ถ้าเราในฐานะผู้จัดการ ประเมินผลงานลูกน้องของเราในแบบที่กล่าวมาข้างต้น จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ผลงานของพนักงานของเราจะไม่ได้รับการพัฒนาอะไรเลย

ปกติ สิ่งที่ผู้จัดการจะต้องบริหารจัดการก็คือ ผลงานของหน่วยงานของตนเอง จะต้องออกมาดี และเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การที่ผู้จัดการจะสร้างผลงานของหน่วยงานตนเองให้ดีได้นั้น ตัวผู้จัดการคนเดียวก็คงไม่สามารถทำได้ ก็ต้องอาศัยผลงานของพนักงานแต่ละคนที่จะต้องทำผลงาน และเอาผลงานของทุกคนมาต่อกัน จนเป็นผลงานของหน่วยงาน
performance_managementและถ้าผู้จัดการ คนนั้นไม่เคยสนใจ หรือพิจารณาถึงผลงานจริงๆ ของพนักงานคนนั้นเลย การพัฒนาก็จะไม่เกิดขึ้น งานที่ยากขึ้น มากขึ้น แต่พนักงานกลับมีทักษะในการทำงานเท่าเดิม หรือน้อยลง แล้วแบบนี้ผู้จัดการจะมีผลงานที่ดีได้อย่างไร ถ้าไม่ดูแลผลงานของพนักงานให้ดีด้วย

ดังนั้นการประเมินผลงาน หรือการบริหารผลงาน จึงเป็นภารกิจสำคัญของคนที่เป็นผู้จัดการที่จะต้องพิจารณาผลงานพนักงานแต่ละ คนว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้นำเอาช่องว่าง หรือจุดอ่อน จุดแข็งของพนักงานแต่ละคนมาพัฒนาต่อยอดกันออกไป เพื่อให้มีความพร้อมที่จะสร้างผลงานที่ดีขึ้นต่อไปอีก

และถ้าทำได้ จริงตามนั้น แสดงว่าพนักงานคนนั้นก็มีผลงานที่ดี และเมื่อมีผลงานที่ดีจริงๆ ระบบการให้รางวัลก็จะไปตอบแทนพนักงานที่มีผลงานที่ดี ส่งเสริมคนที่มีผลงานดีให้สร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง และไปกระตุ้นพนักงานที่ยังมีผลงานไม่ดี ให้พัฒนาตนเองเพื่อที่จะทำผลงานให้ดีขึ้นให้ได้นั่นเอง

นี่คือสิ่งสำคัญของการประเมินผลงานที่ควรจะเป็น และควรจะทำให้เกิดขึ้นในองค์กรครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น