วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

ค่าจ้างถ้ายังบริหารเช่นนี้ ยังไงก็ไม่เป็นธรรม

money-548948_1280

เรื่องราวของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนก็ยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้ บริหาร และนักบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งพนักงานเอง เนื่องจากเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการตอบแทนการทำงานของพนักงาน พนักงานทุกคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นระดับใด ล้วนแต่ทำงานเพื่อแลกกับค่าตอบแทนทั้งสิ้น ดังนั้นการบริหารค่าตอบแทนที่ดี จึงต้องตอบโจทย์ในเรื่องของความเป็นธรรมในการจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เวลาที่ผมสัมมนาเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ก็มักจะถามผู้เข้าสัมมนาว่า ค่าจ้างนั้น จะต้องจ่ายอย่างไร บริหารอย่างไร ส่วนใหญ่ก็มักจะตอบได้ว่า ต้องบริหารอย่างเป็นธรรม และไม่ได้แปลว่าจ่ายสูงจะเป็นธรรม หรือจ่ายต่ำจะไม่เป็นธรรม แต่ความเป็นธรรมนั้นเกิดจากการเปรียบเทียบกับอะไรบางอย่าง เช่น เทียบกับงาน หน้าที่และความรับผิดชอบ และผลงานที่ทำออกมา เป็นต้น

เชื่อหรือไม่ ว่า ทั้งๆ ที่ผู้บริหาร และผู้จัดการหลายคน มองเรื่องของการบริหารค่าจ้างว่าต้องบริหารอย่างเป็นธรรม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในการบริหารค่าจ้างเงิน เดือนอยู่เสมอ เราลองมาดูกันว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
  • จ่ายค่าจ้างโดยไม่มีการพิจารณาเงินเดือนของพนักงานเดิม เวลาที่เรารับพนักงานเข้ามาทำงาน พนักงานขอเงินเดือนเท่าไหร่ ก็ให้เลย โดยที่ไม่พิจารณาพนักงานในตำแหน่งเดียวกัน ที่เคยทำงานกับบริษัทมาก่อน และยังทำผลงานในเกณฑ์ดีด้วย ผลก็คือ ให้เงินเดือนพนักงานใหม่สูงกว่าพนักงานเดิมที่ทำงานอยู่ในตำแหน่งงานที่ใกล้ เคียงกัน พอถามผู้บริหารว่าทำไมถึงไม่พิจารณาถึงคนเก่า ก็ได้รับคำตอบว่า “มัวแต่ดูคนเก่า เราก็จ้างคนใหม่ไม่ได้สิ อีกอย่างเงินเดือนก็เป็นความลับ ไม่น่าจะรู้กันอยู่แล้ว” คำตอบนี้ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ ผมก็ถามกลับไปว่า “เดี๋ยวนี้ความลับไม่มีหรอกครับ แล้วถ้าพนักงานเกิดรู้เงินเดือนกัน แบบนี้ก็จะทำให้เกิดผลเสียตามมามากมาย” ก็ได้รับคำตอบมาด้วยความมั่นใจว่า “เรา มีระเบียบไว้ว่า ถ้าพนักงานเอาเรื่องเงินเดือนค่าจ้างมาคุยกัน หรือรู้เงินเดือนซึ่งกันและกัน ก็จะออกใบเตือนทันที และถ้าผิดซ้ำก็ไล่ออกเลย” นี่คือคำตอบจากผู้บริหารท่านหนึ่ง ประเด็นไม่ใช่เรื่องระเบียบข้อบังคับ ประเด็นก็คือ แม้พนักงานจะกลัวระเบียบ และไม่กล้าคุยกันเรื่องเงินเดือน แต่พนักงานเองก็รู้อยู่แก่ใจว่า คนใหม่เข้ามาสูงกว่าเขาที่ทำงานมาร่วม 10 ปี แบบนี้พลังในการทำงานก็ย่อมจะหดหายไป เนื่องจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั่นเอง
  • เวลาปรับเงินเดือนใหม่ ก็ปรับแค่พนักงานใหม่ไม่ปรับคนเก่า อีก กรณีที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ เวลาที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ หรือ อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ตามวุฒิการศึกษาในอัตราใหม่ หรือมีการปรับโครงสร้างเงินเดือนให้สูงขึ้น ตามราคาตลาด ฯลฯ พอปรับแล้วก็ย่อมจะมีผลกระทบกับเงินเดือนพนักงาน ปรากฏว่า พนักงานใหม่ที่เข้ามาหลังจากมีการปรับอัตราเงินเดือนใหม่ ก็ได้เงินเดือนในอัตราใหม่ ส่วนพนักงานเก่าที่ทำงานมาก่อนที่จะมีการปรับอัตราใหม่ ก็ได้รับเงินเดือนตามปกติที่เคยได้รับไป ผลก็คือ พนักงานใหม่เงินเดือนสูงกว่าพนักเก่าอีกเช่นกัน พอถามผู้บริหารก็ได้รับคำตอบว่า “ก็ พนักงานเก่าเรารับเข้ามาในอัตราเก่า เขาก็ควรจะได้รับในอัตรานั้นอยู่แล้ว ส่วนในปีนี้ เราปรับอัตราใหม่ ซึ่งบังคับใช้กับพนักงานใหม่ที่เข้างานในปีนี้เป็นต้นไปเท่านั้น” (เงิบครับ)
  • จ่ายค่าจ้างเสริมที่ทำให้พนักงานรู้สึกไม่เป็นธรรม ค่าจ้างเสริมที่ว่านี้ก็คือ ค่าจ้างที่บวกเพิ่มสำหรับพนักงานนี่จบมาจากมหาวิทยาลัยบางแห่ง รวมทั้งค่าเกียรตินิยม ซึ่งผมเองคิดว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะไม่มีแล้ว แต่กลับพบว่ายังมีหลายองค์กรที่จ่ายค่าจ้างเหล่านี้ให้พนักงานอยู่ ประเด็นก็คือ พนักงานที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน เข้างานพร้อมกัน แต่มาจากมหาวิทยาลัยที่ต่างกัน ก็จะได้รับเงินเดือนที่ไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่ทำงานเดียวกัน คำถามก็คือ ลักษณะแบบนี้ถือว่าเป็นธรรมหรือไม่ ถ้ามองกันให้เป็นกลาง คำตอบก็คือ ไม่เป็นธรรม เรื่องของค่าจ้างนั้น ความเป็นธรรมมักจะเกิดจากค่างานของตำแหน่งงาน ถ้าทำงานเหมือนกัน ตำแหน่งงานเดียวกัน ค่างานเท่ากัน เมื่อค่างานเท่ากัน ก็ต้องได้รับค่าจ้างที่เท่ากันด้วย (แต่จะเริ่มไม่เท่ากัน ก็เนื่องจากผลงานและความสามารถของพนักงานแต่ละคนที่สร้างให้กับองค์กร)
  • ปรับเงินเดือนและโบนัสไม่เป็นไปตามผลงานจริงๆ ประเด็น สุดท้ายก็คือ เรื่องของรางวัลผลงาน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือการให้โบนัส ทั้งๆ ที่บางบริษัทประกาศชัดเจนว่า นโยบายเรื่องการขึ้นเงินเดือน และโบนัสนั้น จะจ่ายให้ตามผลงานของพนักงาน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามนั้น กลับจ่ายตามเกณฑ์อื่น เช่น ตามอายุงาน และตามความพึงพอใจของผู้บริหาร พอถามว่าทำไมไม่จ่ายให้ตรงกับผลงานที่ประเมินได้ คำตอบก็คือ “ผลการประเมินที่เราทำนั้น มันไม่สะท้อนผลงานจริงๆ ของพนักงานเลย ถ้าเราเอาไปให้รางวัลมันก็ไม่เป็นไปตามผลงานอยู่ดี” ผมก็สงสัยว่า แล้วที่ท่านทำอยู่นั้น มันสะท้อนผลงานจริงๆ หรือ และสงสัยต่อไปอีกว่า “แล้วแบบนี้จะมีการประเมินผลงานไปทำไมให้เสียเวลา และเสียทรัพยากรของบริษัท”
จากประเด็นความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติ แต่เป็นธรรมในด้านนโยบายที่ประกาศ พนักงานเองก็จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมอยู่ดี เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่พนักงานได้รับ มันไม่เป็นไปตามนโยบายที่ประกาศกร้าวไว้ ไม่ว่าค่าจ้างจะจ่ายสูงสักแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าสูงแล้ว ไม่เป็นธรรม มันก็ไม่มีประโยชน์อีกเช่นกันครับ

ดังนั้นผู้บริหาร และ HR ยุคใหม่ ก็คงต้องวางระบบ และกำหนดนโยบาย รวมทั้งผลักดันวิธีการบริหารค่าตอบแทนให้เป็นธรรมให้มากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อจะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นธรรมจริงๆ และเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจ และแรงจูงใจในการสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น