วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

อะไรในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ควรเป็นความลับบ้าง

stamp-143799_1280

เรื่องของเงินเดือนนั้น แทบจะทุกบริษัทถือว่าเป็นเรื่องความลับสุดยอด เป็นเรื่องที่ไม่ควรเอามาคุยกัน พูดกัน หรือเอามาแลกเปลี่ยนกัน ในองค์กรภาคเอกชนแทบจะทุกแห่ง จะถือว่าเงินเดือนนั้นเป็นความลับ บางแห่งมีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างเข้มงวดว่า ถ้าใครเอาเรื่องของเงินเดือนมาคุยกัน จะถูกหนังสือเตือน ซึ่งถือว่าเป็นการผิดระเบียบบริษัท แต่อย่างไรก็ดี เรื่องราวแบบนี้ ยิ่งปิดก็เหมือนยิ่งเปิด ยิ่งทำให้มันลับก็ยิ่งไม่ลับ เพราะคนเราทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็นกันอยู่ในตัวเอง เรื่องของตนเองไม่ค่อยจะอยากรู้ แต่กลับอยากรู้เรื่องของคนอื่น พอรู้แล้ว ก็รับไม่ได้ ถ้าในกรณีที่มีความเหลื่อมล้ำกันในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน


ด้วยเหตุดังกล่าว ก็เลยทำให้เรื่องราวแทบจะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารค่าจ้างเงิน เดือนกลายเป็นเรื่องราวแบบลับๆ ที่ไม่มีใครอยากคุย หรือไม่มีใครที่เอามาคุยกันหรือชี้แจงกัน ผลก็คือ พนักงานก็เอาไปคิดกันเอง บวกกันไปเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาตามมาในเรื่องของความไม่พอใจ ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ฯลฯ

เรื่องของเงินเดือนนั้นมีอะไรที่ควรจะเป็นความลับบ้าง และอะไรที่ควรเปิดเผยบ้าง มาดูกันครับ
  • ตัวเลขเงินเดือน ข้อมูล นี้จะต้องถือเป็นความลับ พนักงานคนไหนได้เงินเดือนเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเอามาเปิดเผยกันอยู่แล้ว หรือแม้แต่พนักงานเอง ก็ไม่ควรที่จะไปรู้ตัวเลขเงินเดือนของคนอื่นในบริษัทเช่นกัน เพราะนี่คือเรื่องของส่วนบุคคลจริงๆ แล้วใครบ้างที่ควรจะรู้เงินเดือนของพนักงาน หนึ่งก็คือ ฝ่ายบุคคลที่ต้องทำหน้าที่ในการจ่ายเงินเดือน สองก็คือ ผู้จัดการสายงานระดับสูงที่ต้องดูแลเรื่องของผลงานและการขึ้นเงินเดือนของ พนักงาน สองคนนี้จำเป็นที่จะต้องทราบเงินเดือนของพนักงานที่เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นก็บริหารจัดการไม่ได้อีกเช่นกัน
  • โครงสร้างเงินเดือน ข้อมูลจะต้องถือเป็นความลับที่ไม่ควรเปิดเผยในที่สาธารณะอีกเรื่องก็คือ ข้อมูลโครงสร้างเงินเดือนของบริษัท ซึ่งก็คือตารางที่บอกค่า minimum Midpoint Maximum ของกระบอกเงินเดือนของบริษัท เรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องของนโยบายบริษัท และเป็นเรื่องที่ไม่พึงเปิดเผยอยู่แล้ว เพราะรู้ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้รู้สึกไม่ดี เพราะเรื่องของเงินเดือนมันไม่ใช่เรื่องที่จะทำความเข้าใจกันได้ง่ายๆ จะไม่เหมือนกับราชการ หรือรัฐวิสาหกิจในอดีตที่บอกโครงสร้างเงินเดือนกันเลย แต่ภาคเอกชนจะไม่มีใครบอกกันอยู่แล้ว แล้วใครบ้างที่ต้องรู้โครงสร้างเงินเดือน คำตอบก็คือ HR ที่ทำหน้าที่ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน และผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งผู้บริหารสายงานที่จะต้องบริหารเงินเดือนของพนักงาน ก็ต้องทราบ แต่จะให้ทราบเฉพาะโครงสร้างเงินเดือนของระดับงานที่มีลูกน้องอยู่เท่านั้น ว่าพนักงานคนนี้ อยู่ในกระบอกไหน และมีกรอบต่ำสุดสูงสุดเท่าไหร่ เพราะจะได้ใช้ประกอบในการบริหารเงินเดือนพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ขึ้นกว่าการที่ไม่รู้โครงสร้างเงินเดือน
  • คะแนนค่างาน สำหรับบริษัทที่มีการประเมินค่างาน และจัดระดับงานออกมา ตัวข้อมูลที่เป็นความลับมากๆ อีกอันหนึ่งก็คือ คะแนนค่างานที่ประเมินตำแหน่งงานต่างๆ ออกมา ว่าตำแหน่งไหนได้คะแนนเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ บางแห่งประกาศเลยว่าคะแนนค่างานนั้นถือเป็นความลับยิ่งกว่าเรื่องของเงิน เดือนด้วยซ้ำไป เพราะคนที่รู้คะแนนค่างานจะมีแค่เพียง ผู้บริหารของฝ่ายบุคคล และเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ประเมินค่างานเท่านั้น คนอื่นจะไม่มีสิทธิรู้เลย แต่ถ้าจะต้องบอก ส่วนใหญ่ก็จะบอกเป็นระดับงานมากกว่า ว่าตำแหน่งงานนี่อยู่ในระดับงานใด และการบอกระดับงานก็จะไม่ใช่การประกาศให้คนอื่นรู้ แต่จะเป็นบอกพนักงานเป็นการส่วนตัวว่า ตำแหน่งที่เขาทำงานอยู่นั้นอยู่ในระดับใด พนักงานแต่ละคนก็จะรู้ของตนเองเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องไปรู้ของเพื่อน แต่ในทางปฏิบัติพนักงานก็คุยกันอยู่ดี เพียงแต่เรื่องนี้ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับเรื่องเงินเดือนพนักงาน
ส่วนเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นความลับเลยก็คือ เรื่องของระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ว่าบริษัทมีแนวทางในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนอย่างไร เช่น มีการประเมินค่างาน ก็อธิบายกันได้ ว่าประเมินค่างานคืออะไร ประเมินไปทำอะไร จากนั้นก็บอกว่าบริษัทมีโครงสร้างเงินเดือนนะ หน้าตาเป็นอย่างไร และมีความหมายอะไรบ้าง โดยที่ไม่จำเป็นต้องบอกตัวเลขจริงๆ ในโครงสร้างเงินเดือนเลย บอกแค่เพียงหลักการ และวิธีในการบริหารจัดการมากกว่า

นอกจากนี้เรื่อง ราวที่ควรจะบอกอีกเรื่องก็คือ หลักการในการบริหารการขึ้นเงินเดือน และการคำนวณโบนัส สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่ไม่ใช่ความลับอะไรเลย เพราะการขึ้นเงินเดือน และการให้โบนัสนั้น เป็นเรื่องที่ผูกผลงานพนักงาน ถ้าเราทำเป็นความลับโดยไม่มีการอธิบายกันว่าหลักการเป็นอย่างไร ก็จะมีผลต่อแรงจูงใจในการสร้างผลงานของพนักงานด้วย เพราะทำงานไปก็ไม่รู้ว่าตนเองจะได้รับค่าตอบแทนตามผลงานอย่างไร ด้วยวิธีการใด

ถ้าสิ่งที่ควรบอก แต่กลับไม่บอก สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พนักงานจะไม่เข้าใจในเรื่องนี้ และจะเกิดถามกันมากมาย ว่า ทำไม่ ทำไม ทำไม โดยที่ไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่มีใครรู้ สุดท้ายพนักงานก็คิดกันไปเองใหญ่โตเป็นเรื่องเป็นราวกันมากมาย

สรุป ก็คือ นักบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทจะต้องมีการกำหนดเรื่องที่ชัดเจนว่า อะไรบ้างที่เป็นความลับ และอะไรบ้างที่ต้องนำมาคุยกัน เปิดเผยกัน เพื่อสร้างความโปร่งใส และสามารถตอบคำถามพนักงานได้ด้วยหลักการที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น