วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

สาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้ประเมินไม่สามารถประเมินผลงานพนักงานได้ตามผลงานที่แท้จริง

Performance-Appraisal1234

เมื่อ วานเขียนเรื่องของการรื้อระบบประเมินผลงานขององค์กร ก็เลยได้รับคำถามมาจากท่านผู้อ่านทันที ซึ่งถามมาว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนประเมินไม่สามารถที่จะประเมินผลงานพนักงานได้จริงๆ ทั้งๆ ที่บางคนรู้ทั้งรู้ว่า ผลงานของพนักงานไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ แต่ก็ประเมินออกมาตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นจริง


ปัญหานี้ท่านผู้อ่านได้เคยพบเจอกันมาบ้างหรือเปล่าครับ ผมเชื่อว่าองค์กรบ้านเรายังคงมีปัญหาเรื่องการประเมินผลงานอยู่มาก แต่กลับไม่ค่อยเห็นแนวทางในการแก้ไขของผู้บริหาร หรือ HR ออกมามากนัก

จากคำถามข้างต้น และจากประสบการณ์ในการวางระบบบริหารผลงานให้กับองค์กรต่างๆ มาพอสมควร ก็สามารถรวบรวมสาเหตุที่ทำให้ผู้ประเมินไม่สามารถประเมินผลงานพนักงานแบบตรง กับผลงานพนักงานได้จริง ก็มีดังต่อไปนี้ครับ
  • มองผลงานไม่ออก สาเหตุแรกก็คือ ผู้ประเมิน มองผลงานพนักงานไม่ออก ไม่รู้ว่าที่พนักงานทำงานมานั้น ผลงานดี หรือไม่ดี และควรจะประเมินอย่างไรดี สาเหตุก็คือ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้า โดยที่ไม่เคยได้รับการฝึกสอนในเรื่องของการประเมินผลงาน ไม่เคยถูกฝึกให้มองผลงานของพนักงานว่าจะต้องมองในเรื่องอะไรบ้าง ก็เลยทำให้ไม่สามารถที่จะประเมินผลงานพนักงานได้ชัดเจน หรืออาจจะเป็นเพราะไม่มีเครื่องมือวัดผลงานที่ชัดเจนพอ ก็เลยมองผลงานพนักงานไม่ออกว่าดีหรือไม่ดี
  • กลัวลูกน้องไม่ยอมทำงานให้ สาเหตุ ที่สองที่เจอมาก็คือ ผู้ประเมินไม่กล้าประเมินผลงานของพนักงานตามจริง เนื่องจาก กลัว และเกรงพนักงานที่เป็นลูกน้องตนเองว่าจะไม่ทำงานให้ตนในปีถัดไปถ้าประเมิน ตามจริงๆ หัวหน้างานหลายคน รู้สึกเกรงใจพนักงาน ที่ว่า ทำงานด้วยกันมาทั้งปี แม้ว่าผลงานจะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ไม่อยากให้คะแนนที่ไม่ดี เพราะกลัวจะเสียกำลังใจในการทำงานไป สุดท้ายก็เลยให้คะแนนแบบเอาใจพนักงานไว้ก่อน
  • เห็นคนอื่นประเมินดีหมด ก็เลยทำตาม ผู้ ประเมินบางคนสามารถที่จะประเมินได้ตามความเป็นจริง แต่พอหันไปดูผลการประเมินของหน่วยงานอื่นๆ ที่ประเมินออกมาปรากฏว่า ลูกน้องของแต่ละหน่วยงานผลงานออกมา A เป็นแถวๆ ทั้งๆ ที่ผลงานยังแย่กว่าลูกน้องของตนเอง เมื่อเห็นดังนั้น ก็เลยหันกลับมาแก้ไขผลการประเมินที่ตรงไปตรงมา ให้เฟ้อเข้าไว้ เพราะเดี๋ยวจะเสียเปรียบหน่วยงานอื่น
  • มีการจัดคิวผลงานไว้อยู่แล้ว บาง แห่งรู้ทั้งรู้ว่าใครผลงานดี หรือไม่ดี แต่ก็ไม่สามารถประเมินได้ เพราะมีการจัดคิวผลงานไว้อยู่แล้วในแต่ละปี อาทิ พนักงานในฝ่ายมี 6 คน ก็วน A ให้กับทุก ใครที่ได้ A ในปีนี้แล้ว ปีถัดไป ก็วนไปที่ D ก่อน จากนั้นก็วนกลับมาใหม่ ทุกๆ 6 ปีก็จะวนกลับมาที่ A อีกรอบหนึ่ง เพื่อให้ทุกคนได้คะแนนผลงานที่คละกันไป และเท่าเทียมกัน (จริงหรือ?)
  • ประเมินไปก็ถูกแก้โดยมือที่มองไม่เห็น บาง คนประเมินตรงตามผลงานที่ว่าไว้จริงๆ แต่สุดท้ายก็ถูกมือที่มองไม่เห็นแก้ไขผลการประเมินใหม่หมดเลย โดยไม่มีการหารือว่าทำไมถึงแก้ บางคนให้ไว้ D แต่กลับถูกแก้เป็น A ในทางตรงกันข้ามบางคนให้ไว้ A ตามผลงานจริงๆ แต่กลับถูกแก้มาเป็น D ก็มี ด้วยสาเหตุบางอย่างอาทิ การเมืองในองค์กร เด็กเส้น ฯลฯ สุดท้ายคนประเมินก็ไม่อยากประเมินตามผลงานจริงๆ
  • กลัวลูกน้องได้ผลตอบแทนที่ไม่ดี ส่วน ใหญ่ผู้ประเมินมักจะมองเรื่องของผลตอบแทนประกอบกับการประเมินผลงานไปด้วย ก็เลยทำให้การประเมินผลงานผิดจากความเป็นจริงๆ ที่ควรจะเป็น เนื่องจากผู้ประเมินมักจะอยากให้ลูกน้องของตนเองได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นใน ปีถัดไป เพื่อจะได้เป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน ก็เลยยอมปิดตาข้างหนึ่ง แล้วก็ประเมินผลงานไปตามที่เขาอยากจะให้พนักงานคนนั้น
สาเหตุทั้งหมดข้างต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับการประเมินผลงานในองค์กรต่างๆ ซึ่ง HR และผู้บริหารควรจะเข้ามาแก้ไขให้ลุล่วงไปให้ได้ มิฉะนั้นจะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้เลย โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานได้ดี สร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่กลับถูกประเมินออกมาไม่ได้ดีกว่าคนที่ทำงานแบบเรื่อยๆ หรือแย่มากๆ

ผลก็คือ พนักงานที่มีผลงานดี ก็จะไม่อยากอยู่ทำงานกับบริษัท ลองคิดดูเล่นๆ ก็ได้ครับ ถ้าพนักงานมือดีๆ ทุกคนเดินออกจากบริษัทไปด้วยสาเหตุของการประเมินผลงานที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้ แล้วองค์กรจะให้ใครสร้างผลงานที่ดีต่อไปในอนาคต

ท่านอยาก ส่งเสริมคนดี ให้ทำงานให้ดีขึ้น หรืออยากส่งเสริมพนักงานที่ทำผลงานไม่ดี ให้ทำไม่ดีต่อไป (เพราะถูกประเมินออกมาว่าดี และไม่แตกต่างกับพนักงานที่ผลงานดีจริงๆ) ก็ลองเลือกดูนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น