วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

ทำไมต้องปล่อยให้มีปัญหาหนักๆ ก่อนแล้วถึงจะมาคิดแก้ไข

Job-Evaluation

หลายๆ บริษัทที่กำลังเติบโต และบริษัทที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น อีกทั้งบริษัทที่ต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำของตนเองไว้ให้ได้ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแบบไหน ธุรกิจแบบใด และจะมีเป้าหมายธุรกิจที่ใกล้หรือไกลสักแค่ไหน หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ก็คือ ทรัพยากรบุคคล


ช่วง เวลาที่ธุรกิจกำลังเติบโต และไปได้ด้วยดี ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็มักจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการขยายตัวของธุรกิจ เพื่อให้ได้ยอดขาย และกำไรที่มากที่สุด โดยเรื่องของระบบการบริหารคนที่ดีนั้น กลายเป็นเรื่องที่ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญอะไรเลย

มีหลายธุรกิจที่ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่เข้ามาทำงานด้วย ได้เสนอผู้บริหารระดับสูงว่า ในขณะที่ธุรกิจยังเพิ่งเริ่มต้น และมีพนักงานยังไม่มากนัก เราน่าจะเริ่มต้นวางระบบบริหารทรัพยากรบุคคลให้ดี ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะแนะนำให้ใช้บริษัทที่ปรึกษาเพื่อจะได้ย่นระยะเวลาในการ ลองผิดลองถูก และสามารถทำระบบให้เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น

แต่พอผู้บริหารเห็นตัวเลขงบประมาณที่ต้องใช้ ก็มักจะบอกว่า “เอาไว้ก่อนก็แล้วกัน เพราะตอนนี้อะไรๆ มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีระบบอะไรมากมาย”

HR บางคนก็พยายามที่จะวางระบบด้วยตนเอง แค่พอเริ่มต้นทำเอง ก็เกิดการไม่ยอมรับจากผู้บริหารในหน่วยงานอื่นๆ ภายในบริษัทเอง จนสุดท้ายแผนงาน และแนวทางในการวางระบบ HR ใหม่ๆ ก็ไม่เกิดผลอะไรใดๆ

แต่พอธุรกิจเริ่มมีปัญหาจริงๆ พนักงานเริ่มมีปัญหาในการทำงานมากขึ้น เริ่มมีเสียงบ่นจากพนักงานมากขึ้น และเริ่มมีการลาออกของพนักงานที่เก่งๆ มากขึ้นเรื่อยๆ คราวนี้ผู้บริหารถึงเข้ามาให้ความสำคัญ และคิดว่าจะต้องหาระบบอะไรสักอย่างเข้าทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป

จากมุมมองของคนทำงานที่ปรึกษา วางระบบ HR ให้กับลูกค้าในหลายๆ องค์กร ต้องบอกเลยว่า การเข้ามาวางระบบตอนที่องค์กรมีปัญหานั้น มันยากกว่า การวางระบบใหม่ๆ ในช่วงที่องค์กรกำลังเริ่มต้น เติบโตและขยายตัว หลายเท่านัก บางแห่งต้องบอกว่า แก้ไขด้วยระบบใหม่ ไม่ได้เลย เพราะปัญหามันฝังรากลึกลงไปมาก มากจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปเลยก็มี

แล้วคราวนี้ผู้บริหารก็มาบ่นว่า “รู้งี้ทำระบบตั้งแต่แรกก็ดี” แล้วทำไมถึงไม่ทำตั้งแต่แรก เหตุผลที่มักจะได้รับมาก็คือ
  • ตอนนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องการบริหารคน เอาไว้ก่อนละกัน
  • ตอนนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ยังจ้างพนักงานได้ เอาไว้ก่อนละกัน
  • ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมอะไรมากมาย เพราะกำลังขยายธุรกิจ พนักงานจะเสียเวลาทำงาน เอาไว้ก่อนละกัน
  • ตอนนี้พนักงานกำลังเพิ่งเข้ามาใหม่ๆ ยังไม่จำเป็นต้องมีระบบ Career Path อะไรหรอก รออีกสักหน่อย เอาไว้ก่อนละกัน
  • เรื่องของการประเมินผลงาน ก็ใช้แบบฟอร์มง่ายๆ กันไปก่อน มีเยอะไปใน internet เอามา copy แล้วก็ใช้ไปก่อนละกัน
  • ฯลฯ
pms-problemsสาเหตุ หลักที่เจอก็คือ การทำระบบเหล่านั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จริงๆ แล้วงบประมาณที่ใช้ในการวางระบบเหล่านี้ ยังน้อยกว่างบประมาณในการสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามาด้วยซ้ำไป ซึ่งผมก็สงสัยอยู่ในใจว่า ทำไมผู้บริหารยอมจ่ายเงินซื้อเครื่องจักร แต่ไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อทำให้ระบบการบริหารคนมันดีขึ้น ทั้งๆ ที่ก็พูดเสมอว่า ทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด


ปัญหาอะไรบ้างที่มารู้ตัวทีหลังแล้ว การแก้ไขจะเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างมาก มาดูกันครับ
  • ปัญหาเรื่องการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ถ้า เราบริหารแบบตามใจฉันมานานๆ การจ่ายไม่ได้เป็นธรรมไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความเหลื่อมล้ำกันของค่าจ้างเงินเดือนของพนักงาน คราวนี้พอผู้บริหารตัดสินใจให้แก้ไข จะแก้ไขยากมากครับ เพราะทุกอย่างมันไม่เป็นระบบมาอย่างยาวนาน พนักงานก็จะไม่ยอมรับ ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามีพนักงานบางคนเป็นเจ้าพ่อ หรือ เจ้าแม่ แล้วบริษัทขาดคนเหล่านี้ไม่ได้ สุดท้าย ระบบก็จะทำให้เป็นธรรมได้ยากมาก อาจจะทำได้ แต่ก็ไม่เหมือนกับการเริ่มต้นทำใหม่ตั้งแต่แรกๆ
  • ปัญหาเรื่องความผูกพันของพนักงาน เมื่อ ไหร่ที่พนักงานเริ่มรู้สึกไม่พึงพอใจกับระบบอะไรบางอย่างในองค์กร นั่นก็แปลว่า การทำจะให้ความรู้สึกของพนักงานกลับมาเหมือนเดิมนั้น จะยากขึ้นไปเรื่อยๆ พนักงานเข้ามาด้วยความคิดว่าองค์กรน่าจะดี มีระบบ แต่พอเริ่มงานก็กลับกลายเป็นตรงกันข้าม และความรู้สึกแย่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเวลาผู้บริหารจะทำระบบใหม่ ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของพนักงานที่เสียไปแล้วได้เลย
  • ปัญหาเรื่องการพัฒนาพนักงาน ถ้า เราไม่ได้มีระบบการพัฒนาพนักงานตั้งแต่แรกๆ พนักงานมัวแต่ทำงานกันไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ องค์กรจะตามตลาดไม่ทัน ในแง่ความรู้ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ พอไม่มีการพัฒนา พนักงานก็จะทำงานแบบเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พอผู้บริหารขององค์กรเริ่มที่จะถึงเวลาเกษียณอายุ คราวนี้ถึงจะมาให้ความสำคัญว่า เราจะต้องรีบพัฒนาพนักงานให้พร้อมที่จะขึ้นมาในระดับสูง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็พัฒนากันไม่ทันเลย จนเกิดปัญหาในหลายๆ องค์กรก็คือ ปัญหาช่องว่างระหว่างพนักงานกับผู้บริหารที่มากขึ้นเรื่อยๆ มองไม่ออกว่าใครที่จะสามารถขึ้นมาแทนผู้บริหารคนนั้นๆ ได้ เพราะไม่มีการเตรียมความพร้อม และไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
นี่แค่เพียง 3 ประเด็นหลักๆ ที่เจอมานะครับ ในทางปฏิบัติผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ เรามักจะมองข้ามเวลาที่อยู่ในช่วงที่เรากำลังเติบโต และมีความสุข และยังไม่มีปัญหาอะไร และถ้าช่วงนี้เราไม่ตัดสินใจทำระบบให้มันดีเสียก่อน ปล่อยให้บริหารไปเรื่อยๆ จนปัญหาฝังรากลึก คราวนี้จะแก้ไขด้วยระบบก็จะยากขึ้นครับ

เข้าข่ายเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น