วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยงแบบมุมกลับ (Reverse Coaching, Reversing Mentoring)


เรื่องของการสอนงานและระบบพี่เลี้ยงเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในองค์กรยุคปัจจุบัน จากในอดีตที่เวลาจะพัฒนาพนักงาน ก็มีแต่การส่งไปฝึกอบรมภายนอกบ้าง หรือให้วิทยากรมาสอนเป็นการฝึกอบรมภายในบ้าง แต่สุดท้าย ก็คือ เวลาพูดถึงการพัฒนาพนักงานก็มักจะมองแค่เพียงเรื่องของการฝึกอบรมเป็นหลัก


แต่ในปัจจุบัน หลายๆ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ก็ได้หันมาให้ความสำคัญกับแนวทางในการพัฒนาพนักงานรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น และวิธีการพัฒนาพนักงานที่เกือบทุกองค์กรในปัจจุบันพยายามนำมาใช้กันมากก็ คือ การสอนงานโดยหัวหน้างานเอง (Coaching) และการเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงาน (Mentoring) นั่นเอง

โดยทั่วไปเวลา ที่พูดเรื่องเรื่องการสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยงนั้น เรามักจะมองว่า คนที่มีประสบการณ์มากกว่า อายุงานมากกว่า หรือตำแหน่งงานที่สูงกว่า ฯลฯ จะต้องเป็นคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้สอนงาน และเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงานคนอื่น ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในแนวทางการพัฒนา และการบริหารทรัพยากรบุคคล อาทิเช่น
  • การเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานในองค์กร เดิมทีองค์กรทั่วไป ไม่เคยมีระบบพี่เลี้ยงแบบนี้สักเท่าไหร่ พนักงานที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ ก็มักจะถูกปล่อยให้ทำงานเอง โดยที่อาจจะมีวันแรกที่มีหัวหน้ามาอธิบาย และเล่าขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบให้ฟังกันก่อน จากนั้นก็ปล่อยให้ทำงานเองทันที หรือบางแห่งก็อาจจะมีการสอนงานแนะนำงานในช่วงแรกว่าอะไรคืออะไร จากนั้นก็ปล่อยอีกเช่นกัน แต่ระบบพี่เลี้ยงสำหรับองค์กรที่จะนำมาใช้จริงๆ นั้น เราจะต้องแต่งตั้งพี่เลี้ยงที่รู้เรื่องของงาน และเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรที่ดี มาเป็นผู้ให้คำแนะนำแนวทางการทำงานให้กับพนักงานใหม่คนนั้น เพื่อให้เข้าใจวิธีการทำงาน วิธีการประสานงาน วิธีการคิด ฯลฯ ของคนในองค์กรให้มากขึ้นทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรใหม่ ได้ง่ายขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องของการลาออกก่อนเวลาอันสมควร
  • การสอนงานโดยหัวหน้างาน การ สอนงานหรือ Coaching ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาพนักงาน โดยมากจะเป็นบทบาทหน้าที่ของคนที่เป็นหัวหน้างานอยู่แล้วที่จะต้องทำการสอน งานพนักงานของตนเองให้สามารถทำงานได้ แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่หัวหน้างานหลายคนลืมไปบ้าง และไม่ได้สอนงานก็มี ก็เลยทำให้มีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลระบบหนึ่งซึ่ง พยายามนำเอาเรื่องของการสอนงานเข้ามาประกอบ ก็คือ ระบบบริหารผลงานนั่นเอง ระบบนี้ หัวหน้างานจะต้องทำหน้าที่สอนงานลูกน้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกน้องสร้างผลงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สังเกตเห็นอะไรหรือไม่ครับว่า เรื่องของการสอนงาน และการเป็นพี่เลี้ยงนั้น ส่วนใหญ่เราจะให้คนที่อยู่มาก่อนในองค์กร คนที่มีตำแหน่งสูงกว่า คนที่มีประสบการณ์มากกว่า มาเป็นคนสอนคนใหม่ และที่สำคัญก็คือ คนที่เป็นหัวหน้าจะต้องทำหน้าที่สอนงานลูกน้อง

ในปัจจุบันมีแนวคิด ใหม่เกิดขึ้นก็คือ Reverse Mentoring และ Reverse Coaching เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่กล่าวมา ลักษณะของแนวคิดที่ว่านี้จะเป็นดังนี้
  • ให้พนักงานเป็นพี่เลี้ยง และสอนงานหัวหน้างานบ้าง
  • ให้พนักงานใหม่เป็นผู้สอนงานและให้คำแนะนำพนักงานเก่าในองค์กร
  • ให้คนที่มีประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นพี่เลี้ยงแนะนำคนเก่าในองค์กรสำหรับเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
โดยระบบที่ว่านี้ จริงๆ แล้วจะใช้กับองค์กรที่มีคนทำงานอยู่ในหลายรุ่น หรือ หลาย Generation ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกัน ประสานงานกัน ซึ่งกลุ่ม Gen ต่างๆ เหล่านี้ ก็มักจะมีมุมมองและมีความคิดที่แตกต่างกันไป ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกันบ้างในเวลาทำงานร่วมกัน และเพื่อที่จะทำให้ความขัดแย้งเหล่านี้ลดลงไปได้ ก็เลยต้องมีวิธีการที่ให้คนแต่ละ Gen ได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องที่เป็นจุดแข็งของแต่ละ Gen ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นแนวคิด และวิธีการทำงานของคนในแต่ละ Gen ได้ชัดเจนขึ้น และมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

ในอนาคตก็อาจจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นก็เป็นได้ครับ
  • ลูกน้องสอนหัวหน้าให้ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมใหม่ๆ ในอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่มีขึ้น
  • พนักงานใหม่เป็นพี่เลี้ยงให้พนักงานเก่าในเรื่องของการเปลี่ยนแนวคิดวิธีการทำงานด้วยระบบงานใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
  • พนักงานกลุ่มใหม่ เป็นพี่เลี้ยงให้พนักงานกลุ่มเดิม เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ให้เกิดขึ้นได้
วัตถุประสงค์ไม่ใช่เป็นการสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำนะครับ แต่เป็นการให้คำแนะนำ และเรียนรู้แนวคิดของคนรุ่นใหม่ๆ มากกว่า ส่วนคนรุ่นเดิม ก็ยังคงสอนและแนะนำในเรื่องของงานที่ตนเชี่ยวชาญได้อยู่

ภาพของการสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยงก็จะมีลักษณะกลับไปกลับมาได้ในองค์กรเดียวกัน และในระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเรื่องอะไรกันแน่

ผมว่าวิธีการนี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนแต่ละรุ่นได้เรียนรู้กัน ได้เข้าใจกัน และทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขได้ครับ

แต่ก็ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมแบบไทยๆ ของเราจะยอมรับเรื่องนี้กันมากน้อยสักเท่าไหร่นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น