วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อัตราแรกจ้างพนักงานจบใหม่ตามวุฒิการศึกษา จากผลการสำรวจค่าจ้างปี 2556 (ตอนจบ)


ตอนสุดท้ายของอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษา สำหรับพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ และเข้าทำงานในบริษัท จากที่ได้เล่าให้อ่านกันตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี วันนี้ก็เป็นวุฒิการศึกษาสุดท้ายที่มีในรายงานผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือน ของทางสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และของ บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด (BMC) ซึ่งก็คือวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทนั่นเอง


ผมขออนุญาตย้ำอีกครั้งสำหรับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทนี้ จะเป็นวุฒิการศึกษาสำหรับตำแหน่งงานที่บริษัทต้องการว่าจ้างพนักงานที่วุฒิ การศึกษาขั้นต่ำที่ปริญญาโทเลยนะครับ ไม่ใช่เปิดรับระดับปริญญาตรี แต่มีคนจบโทมาสมัครแล้วบริษัทเกิดสนใจและรับเข้าทำงาน ในกรณีหลังนี้ บริษัทส่วนใหญ่จะจ่ายผู้สมัครคนนื้ในระดับปริญญาตรีตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ครับ

ดังนั้นอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทนี้ จึงเป็นอัตราแรกจ้างที่ว่าจ้างพนักงานด้วยวุฒิการศึกษานี้เป็นขั้นต่ำเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ในเชิงวิเคราะห์มากขึ้นกว่าเดิม

วุฒิการศึกษา
สาขาวิชา
ปี 2555
ปี 2556
P50
P75
ปริญญาโท
วิศวกรรมศาสตร์
20,000
22,000
25,000
วิทยาศาสตร์
19,000
20,000
22,000
คอมพิวเตอร์
18,000
20,000
23,000
บัญชี
18,000
19,000
21,000
บริหารธุรกิจ
17,000
19,000
21,000
สังคมศาสตร์
15,000
18,000
20,000

เมื่อเทียบอัตราค่าเฉลี่ยของปริญญาโทของปี 2555 เทียบกับผลของปี 2556 ก็จะพบว่า อัตราแรกจ้างเพิ่มสูงขึ้นทุกสาขาวิชา ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลว่าปริญญาตรีขยับขึ้นเป็นเป็นเฉลี่ยกันที่ 15,000 บาท ก็เลยทำให้บริษัทที่ต้องการว่าจ้างพนักงานด้วยวุฒิปริญญาโท ก็ต้องขยับอัตราแรกจ้างของตนเองขึ้นให้ห่างออกไป เพื่อที่จะสามารถดึงดูดผู้สมัครเข้ามาได้

โดยสรุปภาพรวมของอัตราแรก จ้างตามวุฒิการศึกษาในปี 2556 นั้น สามารถบอกได้เลยว่า ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นแทบจะทุกระดับการศึกษา และทุกสาขาวิชา ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ ก็น่าจะเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ทำให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทนำมาพิจารณาว่าอัตราแรก จ้างของบริษัทเรานั้น พอที่จะยังแข่งขันกับตลาดได้หรือไม่ เปิดรับสมัครพนักงานใหม่แล้ว มีคนมาให้เราเลือกมากพอหรือไม่ หรือประกาศไปก็พอมีมาให้เลือก แต่พอเลือกแล้ว บอกอัตราเงินเดือน ผู้สมัครต่างก็พากันปฏิเสธกันทั้งหมด เนื่องจากอัตราไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณากำหนดอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษานี้ บริษัทเองจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานอย่างชัดเจนว่าต้องการคนแบบ ไหน มีคุณสมบัติอย่างไร ตรงนี้ต้องชัดมากๆ ครับ เพราะมิฉะนั้นแล้วเราจะไม่สามารถกำหนดอัตราแรกจ้างที่แข่งขันได้เลย

เช่น ถ้าบริษัทของเราต้องการวิศวกร ประเภทต่อยอดมาจากวุฒิการศึกษา ปวส. เนื่องจากต้องการวิศวกรที่ต้องลุยงาน ทนแดดทนฝน พร้อมที่จะทำงานได้ในทุกสถานการณ์ อัตราแรกจ้างของวิศกรกลุ่มนี้ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือในทางตรงกันข้ามบริษัทต้องการวิศวกรที่จบสายสามัญมาโดยตรง และต้องการวิศวกรที่เข้ามาใช้ความคิดวิเคราะห์ หาแนวทางในการแก้ไขและปรับปรุงกระบวนการทำงาน วิศกรกลุ่มนี้ก็จะเป็นอีกราคาหนึ่ง

ดังนั้นอัตราแรกจ้างที่ผมนำมาเล่า ให้อ่านกัน 3 ตอนนั้น เป็นอัตราเฉลี่ยในตลาดที่ได้จากการสำรวจของ PMAT และ BMC เท่านั้น ไม่ได้แยกคุณลักษณะของคนที่องค์กรต้องการ เช่นบางองค์กรบอกว่าต้องการคนเก่งที่จบใหม่ๆ ขอเป็นระดับที่ว่าเรียนเก่งที่สุดในคณะเลยยิ่งดี องค์กรเหล่านี้จะกำหนดอัตราแรกจ้างที่สูงมาก อยู่ประมาณ P75 ของตลาดเลยก็มี ผิดกับองค์กรที่ต้องการพนักงานไม่ต้องเก่งมาก เอาเข้ามาเพื่อทำงานง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เป็นงานประจำๆ ทั่วๆไปประจำวัน ก็อาจจะกำหนดอัตราแรกจ้างที่ต่ำกว่าอัตราที่ตลาดกำหนดไว้ก็เป็นไปได้ครับ นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ในกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างกัน ก็อาจจะมีการกำหนดอัตราแรกจ้างที่ต่างกันไปอีกด้วย

ผมคิดว่าสิ่งที่ฝ่ายบุคคลควรจะพิจารณาว่าอัตราแรกจ้างของเรานั้น ยังใช้การได้หรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ที่การจ่ายสูงกว่าบริษัทอื่น แต่อยู่ที่ว่าเราสามารถที่จะดึงดูดผู้สมัครได้ตามคุณสมบัติที่เราต้องการได้ จริงๆ หรือไม่ ถ้าอัตราของบริษัทยังสามารถดึงดูดคนได้ตามคุณสมบัติที่เราต้องการ ก็แปลว่าอัตราแรกจ้างของบริษัทเรายังสามารถใช้งานได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องปรับอะไรมากมาย

อีกประการหนึ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือ องค์กรประกอบของค่าจ้าง ซึ่งแต่ละบริษัทอาจจะกำหนดไว้แตกต่างกันไป บางบริษัทมีเงินเดือน และบวกด้วยค่าวิชาชีพในบางสาขาวิชา หรืออาจจะบวกด้วยค่าครองชีพ ค่าตำแหน่ง ฯลฯ ซึ่งอาจจะทให้อัตราเงินเดือนมูลฐานที่เป็นอัตราแรกจ้างของบริษัทที่กำหนดไว้ นั้นต่ำกว่าที่รายงานก็เป็นได้ แต่เมื่อรวมกับค่าจ้างอื่นๆ ที่ให้เพิ่มเติม ก็อาจจะเท่ากับ หรือสูงว่าอัตราแรกจ้างจากการสำรวจก็เป็นไปได้เช่นกัน เนื่องจากแต่ละบริษัทล้วนมีองค์ประกอบและนโยบายการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เหมือนกัน

ดังนั้นการจะนำเอาข้อมูลอะไรไปใช้ก็คงจะต้องพิจารณาพื้นฐานการจ่ายของบริษัทตน เองให้ชัดเจนก่อน เราจึงจะสามารถนำเอาข้อมูลของตลาดมาเปรียบเทียบได้บนฐานเดียวกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น