วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อัตราแรกจ้างพนักงานจบใหม่ตามวุฒิการศึกษา จากผลการสำรวจค่าจ้างปี 2556 (ตอนที่ 1)


และแล้วผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนของ PMAT และ BMC ที่ผมช่วยดำเนินการอยู่ ก็เริ่มมีผลบางอย่างออกมาให้เห็นแล้ว ผลตัวแรกที่อยากนำเอามาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และนักบริหารค่าจ้างเงินเดือน ก็คือ ข้อมูลเรื่องของอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ตามวุฒิการศึกษา ซึ่งผมเชื่อว่าเกือบทุกบริษัทที่ต้องว่าจ้างพนักงานใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา จากสถาบันการศึกษา ต้องการทราบแน่นอนครับว่า ปีนี้ผลการสำรวจที่ออกมานั้นเป็นอย่างไร และแนวโน้มในปีถัดไปจะเป็นอย่างไรบ้าง


ผลการสำรวจในปีนี้ มีการขยับอัตราแรกจ้างขึ้นมาอยู่บ้างในบางวุฒิการศึกษา อันเป็นผลมาจากการประกาศอัตราแรกจ้างในระดับปริญญาตรีจบใหม่ของราชการที่ ระบุไว้ว่าเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ผลจากนโยบายนี้ของภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนเริ่มหาพนักงานจบใหม่ได้ยากขึ้น เพราะนโยบายปริญญาตรีของภาคเอกชนในสาขาสังคมศาสตร์ทั่วไปนั้น เมื่อปีที่ผ่านมา จ่ายให้ไม่ถึง 15,000 บาทอยู่แล้ว ก็เลยทำให้หาพนักงานใหม่ยาก เพราะเด็กจบใหม่เขียนในใบสมัครขอเงินเดือนอยู่ในช่วง 15,000-18,000 บาทเกือบทุกคน (สังคมศาสตร์) พอบริษัทแจ้งเงินเดือนว่าให้ตามที่เขียนไว้ไม่ได้ ก็ทำให้พนักงานก็ตัดสินใจไม่ทำงาน บริษัทก็เลยต้องหาพนักงานอยู่เรื่อยๆ

ผลสุดท้ายผลการสำรวจอัตราแรกจ้างในปี 2556 นี้ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ภาคเอกชนก็เริ่มขยับอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ในบางวุฒิการศึกษาขึ้นมา เพื่อให้สามารถสรรหาคัดเลือกพนักงานได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นนั่นเอง

เราลองมาดูผลการสำรวจปีนี้ว่าเป็นอย่างไรกันบ้างครับ จะเริ่มจากระดับ ปวช. ถึง ปวส. ก่อนในวันนี้นะครับ
วุฒิการศึกษา
สาขาวิชา
ปี 2555
ปี 2556
P50
P75
ปวช.
เทคนิค
9,500
9,800
12,000
พาณิชย์
9,300
9,700
11,000
ปวส.
เทคนิค
10,500
11,000
14,000
พาณิชย์
10,000
10,500
12,000

ผลการสำรวจในปีนี้ จะเห็นได้ว่า อัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาในระดับ ปวช. และปวส. นั้นเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วเช่นกัน จากที่ลองวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมถึงเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่ผ่านมา ก็พบว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
  • อัตราแรกจ้างปริญญาตรีของราชการเพิ่มสูงขึ้น เป็น 15,000 ก็เลยส่งผลให้วุฒิการศึกษาอื่นขยับตามขึ้นมาด้วย
  • เด็ก ที่จบในวุฒิการศึกษา ปวช. และปวส. เริ่มหายากขึ้นทุกวัน ทั้งๆที่ตลาดยังมีความต้องการอยู่พอสมควร แต่คนที่จบมานั้นส่วนใหญ่ไปเรียนต่อกันหมด ก็เลยทำให้อัตราเริ่มจ้างสูงขึ้นกว่าเดิมเพราะจะได้ดึงดูดคนมาสมัครงานมาก ขึ้น
  • อัตราค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา
จากผลการสำรวจปี 56 นี้มาจากข้อมูล 2 แหล่ง ก็คือ ผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนของ BMC และ PMAT ซึ่งมีจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจรวมแล้วมากกว่า 250 บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากพอที่จะถือว่าเป็นตัวแทนของตลาดในกทม. และในประเทศไทย เพราะตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป อัตราค่าจ้างของประเทศไทยถือว่ามีฐานที่เท่ากันทั้งหมดทั่วประเทศแล้ว

หากบริษัท ใดมีปัญหาในการดึงดูดพนักงานจบใหม่ ในวุฒิ ปวช. และปวส. ก็ลองพิจารณาเปรียบเทียบอัตราเริ่มจ้างของบริษัท กับตลาดในปี 2556 นี้ดูก็ได้นะครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต่ำกว่า หรือสูงกว่า และอาจจะต้องมีการนำเสนอผู้บริหารเพื่อของขยับอัตราแรกจ้างใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้อัตราค่าจ้างของบริษัทสามารถดึงดูดผู้สมัครเก่งๆ เข้ามาทำงานได้

จริงๆ แล้วยังมีบริษัทอีกส่วนหนึ่งที่จ่ายอยู่ในระดับสูงกว่าตลาด กล่าวคือ มีนโยบายการจ่ายค่าจ้างที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ตามตารางข้างบนที่แสดงให้เห็น บริษัทกลุ่มนี้ถือนโยบายว่าอัตราค่าจ้างของตนเองจะต้องสูงกว่าตลาด เพราะต้องการที่จะดึงดูดคนเก่งๆ เข้าทำงานกับบริษัท

พรุ่งนี้ผมจะนำเอาอัตราแรกจ้างของระดับปริญญาตรีมาเล่าสู่กันฟังต่อนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น