วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อัตราแรกจ้างพนักงานจบใหม่ตามวุฒิการศึกษา จากผลการสำรวจค่าจ้างปี 2556 (ตอนที่2)


วันนี้มาต่อเรื่องของอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาสำหรับพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษา มาในวุฒิปริญญาตรีว่า ผลการสำรวจค่าจ้างในปีนี้จะออกมาเป็นเท่าไหร่

พนักงานในวุฒิการศึกษาปริญญาตรี ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่บริษัทส่วนใหญ่ต้องการตัว และเป็นวุฒิการศึกษาที่มีคนจบมาสูงที่สุด เพราะคนที่จบสายอาชีพไม่ว่าจะเป็นระดับ ปวช. หรือ ปวส. นั้น ล้วนแต่ไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีกันเกือบหมด ยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า ปริญญาตรีจบใหม่อัตราเริ่มจ้างจะอยู่ที่ 15,000 บาท ก็มีผลทำให้เด็กที่จบใหม่ในระดับปริญญาตรีขอเงินเดือนกันสูงขึ้นมากกว่าในปี ที่ผ่านมา อย่างน้อยๆ ก็กล้าขอที่ 15,000 บาท เท่ากับราชการ บางคนที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหน่อยก็เขียนตัวเลขเงินเดือนถึง 20,000 บาทกันเลยก็มี


วันนี้เราลองมาดูผลการสำรวจค่าจ้างปีนี้กันว่า อัตราเริ่มจ้างสำหรับระดับปริญญาตรีในแต่ละสาขาวิชานั้น ออกมาเป็นอย่างไรกันบ้าง แต่ต้องขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า ตัวเลขที่ปรากฏในตารางข้างล่างนี้ เป็นตัวเลขอัตราแรกจ้างสำหรับคนที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อนเลยนะ ครับ เรียกได้ว่า จบใหม่เดินออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยกันเลย

วุฒิการศึกษา
สาขาวิชา
ปี 2555
ปี 2556
P50
P75
ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์
18,000
18,000
21,000
วิทยาศาสตร์
15,000
16,000
18,000
คอมพิวเตอร์
15,000
15,500
18,000
บัญชี
14,000
15,000
17,000
บริหารธุรกิจ
13,000
15,000
17,000
สังคมศาสตร์
13,000
15,000
17,000

ผลการสำรวจข้างต้น ถ้าเราเทียบกับปีที่ผ่านมา สายวิศวกรรม จะไม่ขยับขึ้นเลย จะมีขยับก็สายวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ส่วนสายทางด้านบริหารทั่วไปนั้น มีการขยับขึ้นค่อนข้างจะมาก จะสังเกตว่า ปี 2555 สายบริหารทั่วไป และสังคมศาสตร์นั้น อัตราแรกจ้างจะยังไม่ถึง 15,000 บาท แต่ในปีนี้ ขยับขึ้นมาที่ 15,000 บาท กันหมด ถือว่าเป็นขั้นเริ่มต้นสำหรับคนที่จบปริญญาตรีกันเลย ซึ่งแน่ๆ ก็คือเป็นผลจากภาครัฐประกาศปริญญาตรีให้เป็น 15,000 บาท และในปีที่แล้วนั้น ภาคเอกชนก็หาพนักงานระดับปริญญาตรีได้ยากขึ้นมาก ถ้าอัตราแรกจ้างไม่ถึง 15,000 บาท

ผลก็คือ บริษัทส่วนใหญ่ ขยับอัตราแรกจ้างในระดับปริญญาตรีไปเริ่มต้นกันที่ 15,000 บาทกันเกือบทุกบริษัท อย่างไรก็ดียังมีบางบริษัทที่จ่ายไม่ถึง 15,000 บาท อยู่บ้าง แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน ก็คงจะต้องปรับตามกันไปหมด เพราะถ้าไม่ปรับบริษัทจะมีแนวโน้มหาคนยากขึ้นไปอีก ยิ่งถ้าเราต้องการคนเก่งก็จะยิ่งยาก เพราะคนพวกนี้เขาตั้งค่าตัวไว้สูงมาก

ส่วนบางบริษัทที่ต้องการพนักงานที่เป็นคนเก่ง และมีศักยภาพที่ดีหน่อย รวมทั้งทำให้บริษัทของตนมีโอกาสได้เลือกผู้สมัครมากขึ้นก็จะกำหนดอัตราแรก จ้างกันที่ระดับ P75 ก็มีครับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย และการแข่งขันในการว่าจ้างพนักงานว่าต้องการคนแบบไหน และแข่งกับบริษัทใดในตลาด

ลองเปรียบเทียบอัตราแรกจ้างของบริษัทตนเอง กับผลการสำรวจดูนะครับ ถ้าบริษัทของเรายังเริ่มจ้างต่ำกว่า 15,000 บาทอยู่ ก็จะเริ่มมีปัญหาในการหาคนได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ครับ บางบริษัทเจ้าของไม่ยอมปรับให้เป็น 15,000 เพราะมองว่าต้นทุนสูงขึ้นมาก แถมพนักงานเองก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้เลยเพราะเพิ่งจบใหม่ ทำไมต้องจ่ายมากขนาดนี้

แต่ถ้าเราไม่จ่ายตามที่ตลาดจ่ายอยู่ ก็จะทำให้เราได้คนอีกแบบหนึ่ง ที่ผ่านการคัดเลือกจากบริษัทใหญ่ๆ ไปแล้ว พูดง่ายๆ ว่า เอาคนเก่งๆ ไปหมดแล้ว ที่เหลือ ก็จะตกมาหาบริษัทเรา และคนเหล่านี้ก็ยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า 15,000 บาทได้ไม่ยากนักเพราะรู้ตัวว่าถ้าไม่เอา ก็คงจะหางานทำไม่ได้แล้ว ผลก็คือบริษัทจะได้พนักงานที่มีคุณภาพอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับคุณสมบัติที่เรากำหนดไว้ตั้งแต่แรก

ถ้าเราไม่จ่าย ตามตลาด เราก็คงต้องลดสเป็คในการรับพนักงานของบริษัทเราลงหน่อย เพื่อให้เหมาะกับค่าจ้างที่เราเสมอให้ไป แต่ถ้าเราต้องการคนเก่งๆ และแย่งคนแบบเดียวกับบริษัทใหญ่ เราก็คงต้องปรับให้ทันกับเขา มิฉะนั้นแล้วเราก็คงไม่ได้คนแบบนั้นอย่างแน่นอนครับ

ในความเห็นส่วน ตัวของผมเอง ผมว่ายอมจ่ายสูงหน่อยสำหรับอัตราแรกจ้างเพื่อดึงดูดคนเก่ง และคนที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อได้ แล้วค่อยเติมแนวทางในการบริหารคนด้วยระบบบริหารผลงาน เพื่อให้พนักงานเหล่านี้สร้างผลงานที่ดี คนเก่งย่อมจะสร้างผลงานที่ดีได้ไม่ยากนัก เมื่อบริษัทมีผลงานที่ดี พนักงานก็จะได้รับรางวัลที่ดี มันก็จะวนเวียนเป็นวัฏจักรของการบริหารงานในองค์กรต่อไปเรื่อยๆ

ในทางตรงกันข้าม องค์กรมัวแต่ประหยัดไม่อยากปรับอัตราแรกจ้าง ก็จะได้พนักงานที่ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะมาขับเคลื่อนธุรกิจ บางครั้งต้องจ้างมากกว่า 1 คน ในขณะที่องค์กรใหญ่ๆ ยอมจ้างสูงหน่อยเพื่อให้ได้คนเก่งแค่เพียง 1 คน แต่สามารถทำงานได้เท่ากับคน 2 คนได้ ผมว่าแบบนี้คุ้มกว่ากันเยอะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น