เมื่อพูดถึงการรักษาพนักงาน (Retention) องค์กรส่วนใหญ่ต่างก็มีความต้องการที่จะให้พนักงานที่ตนเองรับเข้ามาทำงาน แล้วนั้น อยู่ทำงานสร้างผลงานให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเรื่องของการธำรงรักษาไว้ซึ่งพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องที่ทวี ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปในอดีต เรื่องของการรักษาพนักงานให้ทำงานในองค์กรไปนานๆ นั้น จะมีปัจจัยสำคัญๆ ต่อไปนี้
- ค่าจ้างเงินเดือน ในอดีตนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องของการรักษาพนักงาน องค์กรส่วนใหญ่ก็มองไปที่เรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนขององค์กร องค์กรใดที่ต้องการจะเก็บรักษาพนักงานไว้ ก็จะต้องมีระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ดี มีระดับการจ่ายค่าจ้างที่สูงพอสมควร จนทำให้พนักงานมั่นใจว่า ไม่มีที่ไหนที่จ่ายได้ขนาดนี้ ก็จะทำให้องค์กรสามารถที่จะเก็บรักษาพนักงานไว้ได้
- สวัสดิการที่ดี อีกเรื่องที่องค์กรในอดีตพยายามที่จะทำให้ดี เพื่อที่จะเก็บรักษาพนักงานไว้ให้ได้ก็คือ เรื่องของการให้สวัสดิการที่ดี องค์กรต่างๆ ที่ต้องการจะเก็บรักษาพนักงานไว้ ก็จะพยายามสร้างสวัสดิการที่ดี ที่โดดเด่นกว่าองค์กรอื่นๆ เพื่อทำให้พนักงานไม่อยากจะออกจากองค์กรไปทำงานที่อื่น
ยุคต่อมา ก็เริ่มมองเรื่องอื่นๆ มากขึ้น ว่าอะไรที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเก็บรักษาพนักงาน ก็เริ่มมีการทำวิจัยความพึงพอใจของพนักงานมากขึ้น และพยายามที่จะนำเอาผลการวิจัยความพึงพอใจของพนักงานมาปรับระบบการบริหาร บุคคลในองค์กรให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน ซึ่งทำให้เรามองเห็นว่า ปัจจัยที่จะรักษาพนักงานไว้นั้นมีปัจจัยที่สำคัญมากกว่าเรื่องของเงินเดือน และสวัสดิการ
- ภาวะผู้นำของผู้บริหารองค์กร เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะทำให้พนักงานอยากอยู่ หรืออยากไปจากองค์กร ถ้าองค์กรมีค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี แต่ผู้บริหารเป็นผู้บริหารที่ไม่มีภาวะผู้นำ ไม่สามารถที่จะนำพาองค์กรไปสู่อนาคตที่ดีได้ พนักงานก็ย่อมจะขาดความเชื่อถือ และจะเริ่มไม่อยากที่จะอยู่กับองค์กรนี้ องค์กรก็จะเริ่มรักษาพนักงานไว้ไม่ได้ และในปัจจุบันเรื่องของภาวะผู้นำของผู้บริหารเป็นปัจจัยแรกๆ เลยที่เป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กร
- หัวหน้าและผู้จัดการ ปัจจัย ที่สองที่มีผลต่อความพึงพอใจของพนักงาน และเป็นตัวบอกได้ชัดเจนว่า องค์กรนั้นไม่สามารถรักษาพนักงานไว้ได้เลย ก็คือ หัวหน้างานและผู้จัดการทุกระดับนั่นเอง ถ้าพนักงานมีหัวหน้างานที่ดี มีความรับผิดชอบ และให้การยอมรับพนักงานอย่างดี มีทักษะในการสื่อความ การจูงใจ และการสอนงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานอยากอยู่ทำงานในองค์กรต่อไปนานๆ เพราะทำให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นคนสำคัญต่อองค์กร เมื่อคนเราได้รับความสำคัญ เขาก็ย่อมไม่อยากจากองค์กรไปไหน
- ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัย ในการเก็บรักษาพนักงานไว้ในองค์กรอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของการที่พนักงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีอะไรที่เป็นจุดอ่อน หรือจุดแข็ง องค์กรก็มีแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้เป็นพนักงานที่มีความรู้ทักษะที่ดีขึ้น อย่างสม่ำเสมอ พนักงานเองเมื่อรู้ว่า อยู่ทำงานที่นี่แล้วองค์กรมีแนวทางที่จะทำให้ตนเองเก่งขึ้น มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ก็ไม่อยากไปไหนอีกเช่นกัน
- ความเจริญก้าวหน้าในองค์กร ปัจจัย ที่มีความสำคัญต่อการเก็บรักษาพนักงานอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของความก้าวหน้าในการทำงาน พนักงานที่มาทำงานในองค์กรนั้น เกือบทุกคนล้วนแต่ต้องการความเจริญก้าวหน้าในองค์กร อยากรู้ว่า องค์กรมีระบบอะไรมาช่วยให้เขาก้าวหน้าไปได้ เพื่อองค์กรพัฒนาพนักงานแล้ว และพนักงานมีความรู้ และทักษะที่มากขึ้นแล้ว เขาจะเติบโตไปไหนได้บ้าง อย่างไร ซึ่งถ้าพนักงานมีความมั่นใจว่า อยู่ที่นี่แล้วมีความก้าวหน้า พนักงานก็ไม่อยากจะลาออกไปทำที่อื่นเช่นกัน
การเก็บรักษาพนักงานจะไม่ใช่สักแต่ว่าเก็บรักษาอีกต่อไป เนื่องจากในอดีตเราไม่ได้เจาะจงลงไปว่าเราจะเก็บรักษาพนักงานแบบไหนไว้กับ องค์กร ก็เลยทำให้บางองค์กรเก็บรักษาได้แต่พนักงานที่ไม่มีมูลค่าเพิ่มใดๆ ให้กับองค์กรเลย ในยุคปัจจุบัน การเก็บรักษาพนักงานไว้กับองค์กรก็จะเน้นไปที่พนักงานที่เก่งๆ มีศักยภาพสูง หรือที่หลายๆ องค์กรเรียกกันว่า High Potential หรือ Talent
พนักงานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่องค์กรจะต้องดูแล และเก็บรักษาไว้อย่างดี นโยบายต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่ได้ทำแบบหว่านไปทั่ว แต่จะทำเพื่อเน้นพนักงานในกลุ่มคนเก่งมากขึ้น เพราะองค์กรพิสูจน์มาแล้วว่า การที่เราสามารถเก็บรักษาคนเก่งไว้ได้เพียง 1 คน ยังดีกว่าการเก็บรักษาพนักงานแบบผลงานกลางๆ ถึง 3 คน และยิ่งถ้าเป็นพนักงานที่แย่ๆ ไม่ทำมูลค่าเพิ่มใดๆ แล้ว 1 คนที่เก็บรักษาได้จะคุ้มกว่ามากมาย เพราะคนๆ นี้จะสามารถสร้างผลงาน และมูลค่าเพิ่มทางด้านผลงานให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นการเก็บรักษาพนักงานในยุคปัจจุบัน จึงต้องทำอย่าง Focus มากขึ้น ระบุกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะเก็บรักษาไว้ให้ชัดเจนมากขึ้น มิฉะนั้นแล้วนโยบายการเก็บรักษาพนักงานขององค์กร ก็อาจจะรักษาได้แค่เพียงพนักงานที่ผลงานกลางๆ ถึงต่ำๆ ก็เป็นไปได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น