จากที่ได้เขียนบทความเรื่องของข้อมูลผลการสำรวจค่าจ้างในเรื่องของอัตราแรกจ้าง ตามวุฒิการศึกษาในระดับการศึกษาและสาขาวิชาต่างๆ มาให้อ่าน 3 ตอนที่ผ่านไปนั้น ก็มีท่านผู้อ่านให้ความสนใจ และแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นความเห็นที่มีประโยชน์มากสำหรับเรื่องของการนำเอาข้อมูล ไปใช้งานจริง สิ่งที่ผมอยากจะเขียนต่อก็คือ ถ้ามีบางบริษัทต้องการที่จะปรับอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ตามวุฒิการศึกษา จริงๆ สิ่งที่ต้องระวังควรมีเรื่องอะไรบ้าง และถ้าจะปรับจะต้องทำอย่างไรบ้าง
- ปรับอัตราใหม่แล้วอย่าลืมพนักงานเก่าที่รับเข้ามาก่อนหน้า ประเด็นแรกที่ต้องระวังให้ดีก็คือ ถ้ามีการปรับอัตราแรกจ้างใหม่เช่นจาก 13,000 เป็น 15,000 บาท ในต้นปีหน้า ผลที่เกิดขึ้นก็คือพนักงานใหม่ตามวุฒิการศึกษานั้นก็จะไดรับเงินเดือนใหม่ ตามที่กำหนด คำถามก็คือ แล้วพนักงานในวุฒิการศึกษาเดียวกัน ที่เพิ่งรับเข้าทำงานในช่วงปีที่ผ่านมาสัก 2-3 ปีเราจะทำอย่างไร บางบริษัทไม่มีการปรับพนักงานเก่าที่รับเข้าทำงาน ผลก็คือพนักงานใหม่จะได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าพนักงานเก่าที่ทำงานมา นานกว่า ซึ่งปัญหานี้ก็จะส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานเก่าเป็นอย่างมาก และจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการทำงานขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมต้องขอเรียนตรงๆ ว่า เรื่องของปรับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกจ้างแบบนี้ ถ้าจะมีการปรับให้พนักงานทุกคนก็คงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยงบประมาณที่สูงมาก และอาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการทำงานของบริษัท ซึ่งองค์กรเองก็ต้องหาวิธีการที่ทำให้พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปรับ อัตราแรกจ้างใหม่นี้ ได้รับผลกระทบทางลบที่น้อยที่สุด แต่จะให้ทุกคน ก็คงเป็นไปไม่ได้ มันก็เลยเกิดแนวทางในการปรับแบบไล่ผลกระทบตามสูตรดังต่อไปนี้
จำนวนเงินปรับ = (เงินเดือนพนักงาน – แรกจ้างเดิม) x 0.7 + แรกจ้างใหม่ – ค่าจ้างพนักงาน
ผลจากการคำนวณจะออกมาเป็นจำนวนเงินปรับ ซึ่งถ้าไล่คำนวณไปตั้งแต่พนักงานที่เพิ่งรับเข้ามาตามวุฒิการศึกษาไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าพอคำนวณถึงจุดหนึ่ง ผลการคำนวณก็จะติดลบ ซึ่งแปลว่า พนักงานที่ได้ผลการคำนวณติดลบนั้นจะไม่ได้รับการปรับผลกระทบในครั้งนี้ ลองมาดูตัวอย่างกันนะครับ
สมมุติว่าบริษัทอนุมัติอัตราแรกจ้างใหม่สำหรับวุฒิปริญญาตรีสังคมศาสตร์ ซึ่งเดิมเคยเริ่มจ้างที่ 13,000 ปรับเป็น 14,000 บาทในปีถัดไป
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า ผลการคำนวณเงินเดือนใหม่ของพนักงานเก่า จะถูกปรับยกขึ้นไปที่อัตราแรกจ้างใหม่ในปีถัดไปก่อนที่จะเริ่มรับพนักงาน ใหม่เข้ามาที่อัตราใหม่ที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้เงินเดือนของพนักงานใหม่เข้ามาแล้วไม่สูงกว่าพนักงานเก่าที่รับ เข้ามาก่อนหน้านั้น และด้วยวิธีนี้เอง พนักงานเดิมที่เคยมีเงินเดือนมากกว่าอีกคนหนึ่ง ก็จะยังคงมากกว่าอยู่ เพียงแต่อาจจะใกล้กันมากขึ้นหลังจากปรับผลกระทบแล้ว
ผลก็คือ จะทำให้การบริหารเงินเดือน โดยเฉพาะเรื่องของการปรับอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาเกิดความเป็นธรรม สำหรับพนักงานมากขึ้นกว่าการที่จะปรับเฉพาะคนที่เข้าใหม่ หรือ บางบริษัทปรับทุกคนที่ต่ำกว่า 14,000 ไปเริ่มต้นกันใหม่ที่ 14,000 หมดทุกคน ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมต่อคนที่เข้ามาทำงานก่อนหน้าเช่นกัน และพนักงานคนที่ 8 จะไม่ได้รับการปรับเนื่องจากผลการคำนวณติดลบ
ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านจะต้องสงสัยว่า 0.7 ที่เป็นตัวคูณนั้นมันคืออะไร ถ้าเป็นผู้อ่านที่ติดตามผมมาตั้งแต่ต้น ก็น่าจะพอจำได้ว่ามันคืออะไร และใช้งานอย่างไร แต่ถ้าเพิ่งติดตามกัน หรือจำไม่ได้ ผมรบกวนให้ไปอ่านจากบทความเก่าๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งผมได้ให้ link มาให้ตามนี้เลยครับ (http://wp.me/pBmlU-be) และ (http://wp.me/pBmlU-HM) จะมีคำตอบที่ผมตอบผู้อ่านไว้เยอะว่ามันคืออะไร ซึ่งจริงๆ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ด้วยกันได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น