วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พนักงานแบบไหนที่บริษัทควรจะเก็บรักษาไว้ให้ดี


เรื่องของการเก็บรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรนั้น เป็นเรื่องที่องค์กรส่วนใหญ่มักจะมองเห็นความสำคัญ แต่เวลาปฏิบัติมักจะทำไม่ค่อยได้ เพราะองค์กรมองเห็นว่า พนักงานทุกคนมีความสำคัญ และต้องเก็บรักษาไว้ทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้วองค์กรไม่สามารถที่จะวางระบบการเก็บรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรทุกคน ได้ แม้จะทำได้ ก็ไม่ควรทำ เพราะมันจะทำให้องค์กรขาดสิ่งใหม่ๆ ขาดคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาสร้างผลงาน และที่จะแย่ไปกว่านั้นก็คือ องค์กรจะต้องแบกรับภาระทางด้านค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานที่สูงขึ้นไป เรื่อยๆ ถ้าไม่มีพนักงานคนไหนลาออกจากบริษัทเลย


บางองค์กรหนักไปกว่านั้นอีก ก็คือ นโยบายการเก็บรักษาพนักงาน กลายเป็นเก็บรักษาได้เฉพาะพนักงานที่มีผลงานไม่ดี ทำงานไม่เคยคิดอะไรใหม่ๆ ผลงานที่ออกมาก็ไม่ได้ตามที่คาดหวัง แต่พนักงานที่มีผลงานที่ดี มีความสามารถ และมีศักยภาพสูง องค์กรกลับไม่สามารถที่จะเก็บรักษาไว้ได้เลย
เรา ลองมาดูลักษณะของพนักงานในแบบต่างๆ ที่เขาแบ่งเป็นกลุ่มๆ ไว้ว่าลักษณะของพนักงานในองค์กรนั้นจัดเป็นกลุ่มอะไรได้บ้าง (อ้างอิงจากหนังสือ Compensation Handbook เขียนโดย Berger, Lance A.)
  • Superkeeper เป็น พนักงานที่แสดงผลงานที่เหนือชั้นอยู่เสมอ เรียกได้ว่าทำงานได้ดีกว่าเป้าหมายแบบสุดๆ และยังสามารถที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นให้ทำงานที่เหนือชั้น อีกทั้งยังเป็นพนักงานที่มี core competency ในแบบที่องค์กรอยากให้มี ถือได้ว่าเป็น Role Model ใน Core competency แต่ละตัวได้เลย ซึ่งพนักงานแบบนี้ปกติในองค์กรหนึ่งๆ จะมีประมาณ 2-3% เท่านั้น
  • Keeper พนักงานแบบที่สองเป็นพนักงานที่สร้างผลงานได้เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ อยู่เสมอ แต่ไม่ถึงขั้นแบบสุดๆ รวมทั้งยังสามารถนำคนอื่นให้ทำผลงานให้เหนือมาตรฐานได้ อีกทั้งยังมี competency ในแบบที่องค์กรต้องการ โดยมีพฤติกรรมต่างๆ ที่เหนือกว่ามาตรฐานที่องค์กรต้องการ พนักงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ในองค์กรทั่วไป จะมีอยู่ประมาณ 20%
  • Solid Citizen พนักงาน แบบที่สามเป็นลักษณะของพนักงานที่ทำงาน ทำผลงานได้ตามที่คาดหวัง สามารถทำงานกับคนอื่นได้อย่างปกติ competency ก็มีอยู่ในระดับที่ตรงกับที่องค์กรคาดหวังไว้ทุกประการ พนักงานกลุ่มนี้องค์กรจะมีอยู่ประมาณ 70% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ในองค์กร
  • Misfit พนักงาน กลุ่มนี้เป็นพนักงานที่ทำผลงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เรื่อง competency ก็ไม่ได้ตามที่องค์กรคาดหวังไว้เลย ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่องค์กรไม่ต้องการ เพราะไม่มีอะไรที่เหมาะสมกับองค์กรเลยทั้งด้านผลงาน และด้านพฤติกรรม พนักงานกลุ่มนี้มีประมาณ 7%
ลองพิจารณาพนักงานที่เป็นลูกน้อง ของเราเองก็ได้ครับว่า แต่ละคนนั้นเข้าข่ายไหนบ้าง ซึ่งผมเองก็ลองพิจารณาดูตามเกณฑ์ข้างต้น ก็พบว่า แทบไม่เห็นพนักงานคนไหนที่แสดงผลงานได้อย่างเหนือชั้นสุดๆ เลย อาจจะมีบ้างที่เป็นลักษณะที่สอง ก็คือ ทำผลงานได้เหนือกว่าความคาดหวัง แต่ส่วนใหญ่พนักงานจะอยู่ในในลักษณะที่ทำงานได้ตามคาดหวังตามปกติ

การแบ่งกลุ่มพนักงานออกเป็น 4 กลุ่มแบบนี้ จะช่วยให้เรานำไปใช้ในการพิจารณาว่า องค์กรจะต้องเก็บรักษาพนักงานกลุ่มไหนไว้อย่างดี ซึ่งก็คือ กลุ่มที่เป็น Superkeeper นั่นเอง พนักงานคนไหนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ก็จะเป็นคล้ายๆ star หรือ พนักงานแบบ High potential ขององค์กร ซึ่งกลุ่มนี้จะมีเพียง 2-3% เท่านั้น ถ้าองค์กรของเราประกาศว่า องค์กรมีกลุ่ม High potential มากกว่า 10% ผมคิดว่า มันคงเป็นไปไม่ได้ เราอาจจะมองพนักงานผิดไปหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วหัวหน้างานประเมินแบบมีอคติหรือไม่

พนักงานอีกกลุ่มที่ ต้องเก็บรักษาไว้เช่นกันก็คือ กลุ่มที่เป็น Keeper เพราะกลุ่มนี้มีความสามารถในการสร้างผลงานได้เกินกว่ามาตรฐาน และเกินกว่าที่คาดหวังไว้ กลุ่มนี้อาจจะมีมากกว่ากลุ่มแรก

พนักงานสองกลุ่มนี้ถ้าองค์กรต้องการเก็บรักษาไว้ให้ดี ก็จะต้องออกแบบระบบการบริหารค่าตอบแทนที่แตกต่างจากกลุ่มพนักงานผลงานปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างเงินเดือน และแนวทางในการขึ้นเงินเดือนตามผลงาน ซึ่งโดยทั่วไปพนักงานกลุ่มที่มีความเก่งกาจแบบนี้ มักจะถูกจัดไว้ในโครงสร้างเงินเดือนแบบ P75 ก็คือ เป็นโครงสร้างที่จ่ายสูงกว่าตลาด และสูงกว่าพนักงานทั่วในในองค์กร อีกทั้งการขึ้นเงินเดือนก็จะขึ้นในอัตราที่สูง และขึ้นด้วยระยะเวลาที่ถี่ขึ้น เช่น ขึ้นเงินเดือนทุกๆ 6 เดือน เป็นต้น

ด้วยแนวทางข้างต้น จะทำให้พนักงานที่เป็นกลุ่ม talent ขององค์กรรู้สึกถึงความแตกต่าง ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นความแตกต่างที่เขาควรจะได้รับ และจะเป็นผลทำให้พนักงานกลุ่มนี้มีแรงจูงใจที่จะทำงานให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าพนักงานทุกกลุ่มข้างต้น ได้รับรางวัลตอบแทนการทำงานที่ไม่แตกต่างกันเลย คนที่ทำผลงานดีเลิศมากๆ หรือกลุ่ม Superkeeper นี้ ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่จะลาออกจากบริษัทไป เพราะทำงานดีเลิศ แต่กลับได้รางวัลผลงานไม่ต่างกับพนักงานที่ทำงานแบบ Misfit ถ้าองค์กรบริหารค่าตอบแทนในลักษณะนี้จริงๆ ก็จะทำให้ไม่สามารถรักษาพนักงานในกลุ่มที่องค์กรควรรักษาไว้ แต่จะไปรักษาพนักงานในกลุ่มที่องค์กรไม่ต้องการมากกว่า

คนเก่งที่มี ทางเลือกมากกว่า ถ้ารู้สึกว่าองค์กรไม่เป็นธรรม และไม่สามารถตอบแทนผลงานที่ดีเลิศของเขาได้ เขาก็จะไปที่อื่นแน่นอน จะเหลือไว้ก็เพียงพนักงานที่เป็นแบบกลางๆ ไม่โดดเด่นอะไร ซึ่งก็จะส่งผลให้ผลงานขององค์กรเรื่อยๆ เช่นกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น