วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เลื่อนตำแหน่งผิดคน สร้างปัญหามากกว่าที่คุณคิด

วันนี้มาในเรื่องของการเลื่อนตำแหน่งอีกครั้งนะครับ เนื่องจากได้พูดคุยเพื่อรับทราบปัญหาจากลูกค้าหลายรายในช่วงนี้ว่าเป็นช่วง เวลาของการประเมินผลงาน และนำเอาผลการประเมินนั้นไปใช้ในการขึ้นเงินเดือนประจำปี พร้อมกันนั้น ก็เอาผลการประเมินนี้ไปประกอบการเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงานอีกด้วย


มีบางองค์กรที่มีพนักงานประมาณ 300 คน แต่ทุกปีจะมีการขออนุมัติการเลื่อนตำแหน่งพนักงานถึงเกือบ 200 คน ซึ่งผมก็สงสัยว่า ถ้าเลื่อนกันแบบนี้ทุกปี อีกไม่นานพนักงานทุกคนก็คงจะมีตำแหน่งเป็น ประธานบริษัทกันทุกคนแน่เลย

จากสิ่งที่ผมรับทราบมานั้น ก็คือ พนักงานในบางองค์กรมองว่าการเลื่อนตำแหน่งเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่าง ยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นพนักงานมองว่าจะต้องได้รับการเลื่อนตำแหน่งทุกๆ 2-3 ปี เพื่อที่จะได้สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานมากขึ้น

แต่โดยหลักการแล้ว การเลื่อนตำแหน่งไม่ใช่การให้รางวัลเลยนะครับ เป็นการสรรหาคนที่จะมาทำงานที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่สูงขึ้น มันก็คือ การมอบหมายงานใหม่ให้กับคนที่เหมาะสมมากกว่า เพราะในทางปฏิบัติแล้ว คนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจริงๆ จะต้องรับผิดชอบงานมากขึ้นลึกขึ้น อีกทั้งยังถูกองค์กรคาดหวังผลงานที่มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผิดกับบางองค์กรที่การเลื่อนตำแหน่งกลับไม่มีความรับผิดชอบที่สูงขึ้นเลย มีแค่เพียงชื่อตำแหน่งที่เปลี่ยนไป และเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่งาน และผลงานก็เหมือนเดิมทุกอย่าง ผมว่าอย่างหลังนี่ไม่ใช่การเลื่อนตำแหน่งที่แท้จริงครับ

กลับมามองเรื่องของการเลื่อนตำแหน่งอีกครั้ง ถ้าองค์กรเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงาน โดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมอะไรใดๆ เลย หัวหน้าอยากเลื่อนให้ใคร ก็เขียนรายงานหาเหตุผลที่เข้าท่าๆ หน่อย แล้วก็นำเสนอกับผู้บริหารว่า พนักงานคนนั้นคนนี้ มีความพร้อมแล้ว และต้องเลื่อนตำแหน่งให้ ถ้าไม่เลื่อนก็จะทำให้พนักงานคนนั้นลาออกไป

เชื่อหรือไม่ว่า การเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงานโดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อม จะมีผลกระทบมากมายเกินกว่าที่เราคาดคิดมากมายครับ ลองมาดูว่ามีผลกระทบต่อใครบ้าง
  • ผลกระทบต่อตัวงาน พนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไป ก็ย่อมที่จะต้องรับผิดชอบงานที่มากขึ้น ยากขึ้น องค์กรมีความคาดหวังที่สูงขึ้น ถ้าพนักงานไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบงานที่สูงขึ้นจริงๆ เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปแล้ว ปัญหาก็จะเกิดกับหัวหน้าของพนักงานคนนั้นทันที เพราะจะต้องเป็นคนทำงานแทนลูกน้องอยู่ดี เนื่องจากลูกน้องยังไม่สามารถที่จะรับผิดชอบงานที่กำหนดไว้ในตำแหน่งที่สูง ขึ้นได้ด้วยตนเอง เพราะไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้ามาก่อน
  • ผลกระทบต่อหัวหน้างาน เป็นผลต่อเนื่องจากข้อแรก กล่าวคือ เมื่อพนักงานไม่พร้อม ก็ไม่สามารถที่จะรับผิดชอบงานที่ใหญ่ขึ้นได้ พอทำไม่ได้ หัวหน้างานก็ต้องรับแทนไป นอกจากนี้ หัวหน้าบางคนอาจจะคิดว่า เมื่อพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งไปแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบงานที่สูงขึ้น ก็เลยมีการสั่งการ และมอบหมายงานที่ยากขึ้นให้ แต่สุดท้ายพนักงานคนนั้นก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถทำในสิ่งที่หัวหน้ามอบหมายได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะขาดการเตรียมความพร้อมเช่นกัน
  • ผลกระทบต่อพนักงานที่เป็นลูกน้อง คน ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าคนอื่น ถ้าขึ้นไปโดยไม่มีการเตรียมตัวเรื่องของการบริหารคน ก็จะทำให้ลูกน้องที่เขาต้องดูแลนั้นเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นอย่างหลีก เลี่ยงไมได้เลย บางครั้งตัวหัวหน้าที่ไม่พร้อมนี่แหละครับ เป็นสาเหตุของความขัดแย้งของพนักงาน พนักงานบางคนก็เริ่มขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะหัวหน้าไม่ดูแล หรือดูแลไม่เป็น สุดท้ายพนักงานอีกหลายตำแหน่งต้องทนไม่ได้ และลาออกไปเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงานที่ไม่พร้อมเพียงตำแหน่งเดียว
  • ผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน การ เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาสูงขึ้นก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้น บางครั้งก็ต้องมีการโครงการที่รับผิดชอบร่วมกับเพื่อนร่วมทีมในระดับเดียว กัน แต่ถ้าพนักงานคนนั้นไม่พร้อมสำหรับความรับผิดชอบที่สูงขึ้นจริงๆ ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในทีมมีปัญหาเกิดขึ้นทันที ซึ่งอาจจะทำให้งานออกมาล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะยังไม่พร้อมสำหรับความรับผิดชอบใหม่ๆ นั่นเอง
  • ผลกระทบต่อลูกค้า เมื่อ ไม่พร้อมในการทำงาน ผลงานก็ย่อมจะมีปัญหา และถ้าผลงานนั้นจะต้องส่งถึงมือลูกค้าของบริษัทด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของความน่าเชื่อถือในสายตาของลูกค้า ก็อาจจะลดลง เพราะถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ให้ทำอะไรก็ดูงงๆ ไปหมด
เห็นหรือไม่ครับ ว่าการที่หัวหน้างาน ผู้บริหาร หรือผู้จัดการ ตัดสินใจเลื่อนตำแหน่งให้กับลูกน้องของตนเอง ทั้งๆ ที่ลูกน้องคนนั้นยังไม่พร้อมโดยแท้จริง ก็จะทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมาอย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว

มีคนเคยบอกว่า เลื่อนตำแหน่งให้พนักงาน 1 คนที่ไม่พร้อมนั้น มีคนดีใจคนเดียวก็คือ พนักงานคนนั้น แต่นอกนั้นคนรอบข้างทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องรับภาระในการทำงานที่ไม่พร้อมทุก เรื่อง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องทำให้ภาระเหล่านี้ย้อนกลับไปที่หัวหน้างานของพนักงานคน นั้นอยู่ดี

เมื่อเป็นเป็นแบบนี้ ทำไมไม่เตรียมความพร้อมให้พนักงานก่อน อย่างน้อยจะได้มั่นใจว่าทำงานได้ และเลื่อนไปแล้วไม่เกิดปัญหาในการทำงานตามมาอีกมากมาย

สุดท้ายท่านเองที่เป็นคนเสนอเลื่อนตำแหน่งพนักงาน ก็จะต้องมาเหนื่อยเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น