ได้คุยกับผู้บริหาร SME ตั้งแต่ต้นปีใหม่เป็นต้นมา อยู่ประมาณ 4-5 ราย ส่วนใหญ่ที่คุยก็เป็นเรื่องของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่บังคับใช้กันทั่วประเทศ กลุ่ม SME ที่อยู่นอกเขต กทมและ 7 จังหวัด ที่ปรับไปเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็ต้องมีการปรับค่าจ้างขั้นใหม่ยกใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของ SME มากมาย แต่สิ่งที่คุยกันนั้น กินความมากกว่าเรื่องของค่าจ้างเงินเดือน ผมได้สอบถามถึงเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลของ SME ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง คำตอบที่ได้มา ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะ SME ส่วนใหญ่ในตั้งแต่ในอดีต ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลสักเท่าไหร่ ก็เลยทำให้มีปัญหาเรื่องของการบริหารคนมาโดยตลอด
- ไม่มีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล SME ส่วนใหญ่ เอาว่าเป็นองค์กรขนาดเล็ก (S) จะเป็นองค์กรที่ไม่มีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงาน การฝึกอบรม การบริหารค่าจ้างเงินเดือน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ไม่มีการกำหนดระบบระเบียบเหล่านี้ขึ้น นอกจากนั้นยังไม่มีฝ่ายบุคคลอีกด้วย หรือไม่ถ้ามีฝ่ายบุคคล ก็จะเป็นฝ่ายที่ทำงานเน้นทางด้าน Admin เป็นส่วนใหญ่ เรื่องของการบริหารคนนั้น แทบจะไม่ได้แตะเลย อีกทั้งคนที่ทำหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคลจริงๆ ก็คือ ตัวกรรมการผู้จัดการเอง ซึ่งทำหน้าที่ส่วนใหญ่ในเรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานเท่านั้น พอพนักงานเข้ามาทำงานแล้ว ก็ปล่อยให้ทำงานกันไปเรื่อยๆ ตามระบบงานที่มีอยู่
- ปัญหาการสรรหาคัดเลือก ปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีคนทีทำหน้าที่นี้โดยตรง MD เป็นคนหาเอง หรือไม่ก็ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ก็หากันเอง ผลก็คือ ได้คนที่ไม่ค่อยไปในทางเดียวกันมากนัก พฤติกรรมแตกต่างกันอย่างมากมาย และมักจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา ถ้าเราไม่สามารถบริหารความแตกต่างตรงนี้ได้
- ปัญหาในการพัฒนาพนักงาน ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับองค์กรขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ ก็คือ ไม่มีนโยบาย หรือแนวคิดที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาพนักงานเลย ถามว่ามีการตั้งงบประมาณเพื่อการพัฒนาพนักงานหรือไม่ คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ก็คือ ไม่มี บางครั้งการขออนุมัติเพื่อส่งพนักงานออกไปฝึกอบรม ก็มักจะหาหลักสูตรที่ไม่ต้องเสียเงิน ถ้าเป็นหลักสูตรที่ต้องเสียเงิน ตัวผู้บริหารเองก็มักจะมองว่า “เอาไว้ก่อน” เพราะไม่แน่ใจว่าส่งไปแล้วจะเป็นอย่าง หรือไม่ก็ ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้เลย คิดเองว่า อบรมไปก็เท่านั้น ไม่ได้เอามาใช้งาน เปลืองเงินเปล่าๆ ผมเคยเห็นพนักงานที่ทำงานในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กบางคนต้องลงทุนควักเงินเพื่อมาอบรมเองเลยก็มี เพียงแค่ขอวันจากนายจ้างว่า ขอวันไปอบรมโดยไม่หักค่าจ้าง ผลก็คือ พนักงานที่ทำงานในธุรกิจขนาดเล็ก ก็เลยไม่ค่อยได้เปิดหูเปิดตามากนัก ไม่ค่อยได้รับความรู้ใหม่ๆ เพื่อเอามาพัฒนาตนเอง และพัฒนางาน ผลก็คือ ทำงานแบบเดิมๆ ระบบเดิมๆ วิธีการเดิมๆ ก็ยิ่งทำให้องค์กรโตอย่างช้าๆ เรื่อยๆ ซึ่งอาจจะทำให้แข่งขันกับคนอื่นได้ยากขึ้นไปอีก
- ปัญหาการบริหารค่าจ้างเงินเดือน เรื่องนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของธุรกิจ SME พอพูดถึงเรื่องค่าจ้างเงินเดือน ก็มักจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ทำหน้าที่บริหาร เจ้าของก็บริหารตามใจตัวเองซะส่วนมาก ไม่ได้มีหลักการอะไร อยากให้ใครมาก ก็ให้ ไม่อยากให้ใคร ก็ไม่ให้ โดยอาศัยความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาในการบริหารค่าจ้างเยอะหน่อย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องโครงสร้างเงินเดือนเลยครับ กลุ่มนี้แทบจะไม่รู้จัก หรือไม่คิดจะทำเลย ผลสุดท้ายองค์กรก็จ่ายค่าจ้างแบบลักลั่นกัน เกิดความไม่เป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนภายในบริษัทเอง
- ปัญหาเรื่องของผลงาน นี่ก็เป็นอีกเรื่องยอดฮิตของ SME โดยเฉพาะกับกลุ่มหัวหน้างาน และผู้จัดการ ซี่งไม่เคยเรียนรู้ และรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการประเมินผลงานพนักงาน ก็เลยใช้ความรู้สึกของตนเองนี่แหละ เป็นเกณฑ์ในการประเมินผลงาน บางคนก็ไม่ได้มองผลงานพนักงานอย่างจริงจัง อาศัยเรื่องของการขาดลามาสาย มาเป็นตัววัดผลงานกันก็มี สุดท้าย ผลงานกับการให้รางวัล ก็ไม่ได้ไปด้วยกันทั้งหมด เพราะบางองค์กรเห็นว่าประเมินผลงานออกมาแล้ว พอเสนอให้เจ้าของพิจารณาว่าใครจะขึ้นเท่าไหร่ เจ้าของก็เอาไปปรับแก้ซะแทบไม่เห็นเค้าโครงเดิมเลยก็มี
ส่วนเรื่องการบริหารผลงาน และค่าจ้าง ก็เพียงแค่ทำกรอบในการจ่ายค่าจ้างให้ชัดเจน ไม่เป็นไปตามความรู้สึกของเจ้าของก็พอ ขอให้มีวิธีการที่อธิบายได้ว่าทำไมถึงจ่ายแบบนี้ และทุกคนที่เข้ากรณีแบบนี้ ก็ต้องได้รับเหมือนกัน แบบไม่มีการเลือกปฏิบัติ โครงสร้างเงินเดือนแบบใหญ่โต ก็ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ขอแค่มีกรอบในการจ่าย เพื่อที่จะทำให้เราสามารถที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานในกลุ่มที่เราต้องการได้ก็น่าจะพอ
SME ก็คือธุรกิจ การบริหารธุรกิจ ก็ต้องมีทรัพยากรบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเลี่ยงไม่ได้เลยครับ ถ้าเจ้าของมีความเชื่อว่า คนคือทุกสิ่งทุกอย่าง คนคือสิ่งที่สร้างความสำเร็จให้กับองค์กรได้ ก็ต้องไม่ลืมที่จะบริหารคนให้ดีด้วยนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น