เรื่องนี้ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม ปัญหาเรื่องพนักงานเงินเดือนตันก็ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นกังวลของพนักงานอย่างมาก สิ่งที่พนักงานกลัวก็คือ กลัวไม่ได้ขึ้นเงินเดือน เพราะบ้านเรานั้น พนักงานทุกคนเชื่อว่า จะต้องขึ้นเงินเดือนทุกปี ขนาดว่าผลงานแย่มากๆ ก็ยังคาดหวังว่าจะต้องมีการขึ้นเงินเดือน ดังนั้นถ้าเงินเดือนตันก็แปลว่า เราจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนอีกต่อไป ก็เลยกลัวกันไปต่างๆ นานา
ผลก็คือ ทำให้หลายบริษัทที่ต้องการจะมีโครงสร้างเงินเดือนมาบริหารให้ชัดเจน ต้องมานั่งกังวลเรื่องเหล่านี้แทนพนักงาน คำถามคือ เรื่องเหล่านี้ไม่มีทางออกจริงหรือ ต้องย้อนกลับไปดูเรื่องหลักการบริหารเงินเดือนกันตั้งแต่ต้น ว่าจริงๆ แล้วเงินเดือนที่เราให้กับพนักงานนั้น เราให้ตามความเชื่อแบบไหน
- ให้ตามอาวุโส ถ้าองค์กรของเรายังคงเชื่อในระบบอาวุโสจริงๆ กล่าวคือ เงินเดือนใครมากก็คือคนนั้นมีอายุมากกว่า โดยไม่ดูเลยว่า ทำงานอะไร เอาอายุเป็นเกณฑ์
- ให้ตามค่างาน องค์กรที่เชื่อเรื่องของค่างาน ก็จะไม่ค่อยเชื่อเรื่องอาวุโสมากนัก เพราะคำว่าค่างานนั้น จะเป็นการพิจารณาจากหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งงาน และความรู้ทักษะที่จำเป็น มาเป็นตัวบอกว่าตำแหน่งงานไหนมีค่างานสูงกว่ากัน
- จ่ายตามผลงานและความสามารถ หลังจากที่พนักงานเข้ามาทำงานแล้ว ก็พิสูจน์กันที่ผลงานและความสามารถที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าใครทำผลงานได้ดีกว่า มีการพัฒนาตนเองจนมีทักษะและความสามารถมากกว่า ก็จะได้รับการปรับเงินเดือนที่สูงกว่า
ดังนั้นองค์กรที่จะมีโครงสร้างเงินเดือน จะต้องเปลี่ยนความเชื่อจากระบบอาวุโส มาเป็นเรื่องของค่างานให้ได้ ถ้าเชื่อค่างานแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือ ถ้ายังคงทำงานในค่างานที่เท่ากัน ก็ต้องได้รับค่าจ้างที่ไม่แตกต่างกัน เพราะความยากความง่ายของงานไม่ต่างกันเลย แม้ว่าคนทำงานจะมีอายุมากกว่าก็ตาม ก็ไม่ควรจะมีความแตกต่างในเรื่องของเงินเดือนมากนัก
จากความเชื่อนี้เองครับ ที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า การที่พนักงานเงินเดือนตันนั้น ก็แปลว่า เขายังคงทำงานเดิม ไม่ได้มีการเพิ่มขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นเลย ดังนั้นทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งก็ต้องตัน เพราะนายจ้างเองก็คงไม่อยากจะจ่ายสูง โดยที่ไม่ได้มูลค่าเพิ่มจากพนักงานคนนั้น
แต่ในบ้านเราแนวทางในการบริหารพนักงานที่ได้รับเงินเดือนชนเพดานนั้นมีหลายแนวทาง
- ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนพนักงานคนนั้น เพราะการที่พนักงานเงินเดือนตัน ก็แปลว่า พนักงานไม่สามารถที่จะโตไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ รวมทั้งเงินเดือนที่ได้นั้น ก็สูงกว่าอัตรากลางของตลาดอยู่แล้ว ดังนั้นองค์กรที่มีการบริหารค่าจ้างเงินเดือนอย่างเป็นระบบ ก็มักจะไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานที่มีเงินเดือนตัน
- อีกวิธีหนึ่งก็คือ ถ้าองค์กรยังรู้สึกสงสาร หรือไม่อยากให้พนักงานรู้สึกไม่ดี วิธีการที่นิยมใช้กันก็คือ ใช้เงินเดือนที่จะต้องปรับในกรณีตามผลงานมาปรับให้ แต่ไม่ต้องรวมเข้าไปในเงินเดือนนะครับ ให้เป็นเงินรางวัลตามผลงานไป เงินเดือนก็จะเท่าเดิม แต่พนักงานก็ยังได้เงินพิเศษตามผลงานที่เขาทำได้ในปีนั้น วิธีนี้เป็นวิธีที่หลายๆ องค์กรนำไปใช้กันครับ พอโครงสร้างเงินเดือนปรับสูงขึ้น พนักงานคนนี้ก็จะมีโอกาสได้ปรับขึ้นอีกเล็กน้อยตามโครงสร้างเงินเดือน
- นอกจากนั้นก็เสริมเรื่องของการฝึกอบรม และพัฒนาพนักงานให้สามารถต่อยอด และเลื่อนขึ้นไปในระดับงานถัดไปได้ โดยรับผิดชอบงานที่ยากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานของบริษัท และของตัวเองด้วย
อย่าลืมนะครับ ถ้าเรารักจะมีโครงสร้างเงินเดือน แสดงว่าเราต้องเชื่อเรื่องค่างาน และถ้าเราเชื่อเรื่องค่างาน เราก็น่าจะเข้าใจเรื่องของพนักงานเงินเดือนชนเพดาน
จากประสบการณ์ของผมเองในการช่วยลูกค้าเรื่องบริหารเงินเดือน พนักงานที่เงินเดือนชนเพดานส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่อยู่ในข่าย Deadwood ทั้งสิ้น ไม่เคยเจอ Star ที่มีเงินเดือนตันเลยครับ เพราะถ้า Star จริง เขาก็จะเติบโตไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากองค์กรเองก็ต้องการ Star ให้มาทำงานให้มากกว่าที่จะปล่อยไปที่อื่น ดังนั้น เรื่องเงินเดือนรับรองว่าไม่มีทางตันได้เลย จนกว่า Star คนนั้นจะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก ก็คงจะมีโอกาสพบกับเงินเดือนชนเพดานได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น