วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

คำขวัญวันเด็ก กับ Competency


เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นวันเด็ก ทุกๆ ปีท่านนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมีการให้คำขวัญวันเด็กแก่เด็กๆ ทุกคนในประเทศ ซึ่งคำขวัญวันเด็กปีนี้ก็คือ “รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน” เด็กๆ ทุกคนก็พากันท่องกันปาวๆ เพื่อจะได้เกิดความภาคภูมิใจเวลาที่ผู้ใหญ่ถาม แล้วสามารถตอบได้ ก็มักจะได้รับคำชื่นชมจากผู้ใหญ่ว่าจำได้ด้วย แต่ จำได้แล้วยังไงต่อครับ จำได้ กับทำได้มันคนละเรื่องกันเลย อยากรู้เหมือนกันว่า จะมีเด็กสักกี่คนที่ทราบและนำไปปฏิบัติจริง
สมัยที่ผมเป็นเด็กก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ คำขวัญวันเด็กที่เปลี่ยนทุกปี เปลี่ยนจนไม่รู้ว่าอันไหนเป็นปีไหน ยิ่งไปกว่านั้น เปลี่ยนไปเรื่อยจนเด็กๆ ไม่รู้ว่าควรจะทำตัวเอย่างไร เพราะถ้าเราเริ่มทำตามคำขวัญวันเด็ก ทำได้แค่ปีเดียว ก็จะเปลี่ยนอีกแล้ว สุดท้ายก็เลยทำไม่ได้

มีอยู่สองสามคำที่มักจะนำมาใช้ในคำขวัญวันเด็กเสมอ ก็คือคำว่า “มีวินัย” กับ “คุณธรรม” สองคำนี้ใช้กันมานานมาแล้ว เท่าที่สืบค้นดู ก็มากกว่า 40 ปีที่ผ่านมา แล้วลองมองผู้ใหญ่ในวันนี้ว่าพฤติกรรมของที่โตมากับคำขวัญวันเด็กเหล่านี้ มีสักกี่คนที่ยึดถือคำว่า มีวินัย และ คุณธรมกันบ้าง เอาแค่ฟากการเมือง ก็แทบจะมองไม่เห็นกันเลย

หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ปกติ “วินัย” ก็แทบจะไม่ค่อยเห็น เรามักจะเห็น คนแซงคิวกัน ขับรถปาดหน้ากัน บีบแตรไล่คนเดินข้ามทางม้าลาย บีบแตรไล่รถคันหน้าที่กำลังจอดให้คนข้ามทางม้าลาย รถเมล์จอดป้ายให้ผู้โดยสารลงกลางถนน มอเตอร์ไซต์ขับบนทางเท้า แล้วก็บีบแตรไล่คนเดินเท้าอีก ฯลฯ นี่คือพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่โตมากับคำขวัญวันเด็กที่สวยหรูในอดีต

ผมสงสัยเองมานานแล้วว่า ทำไมไม่สร้างคำขวัญวันเด็กที่ใช้กันนานๆ ยาวๆ อย่างน้อยสัก 5 ปี เพื่อที่จะได้ใช้ในการพัฒนาเด็กไทยให้เป็นไปตามคำขวัญจริงๆ เหมือนกับที่องค์กรสร้าง Core Competency เพื่อใช้ในการปั้น และสร้างคนของตนเองให้มีพฤติกรรมอย่างที่องค์กรต้องการ ประเทศไทยก็ต้องการคนที่มีความเป็นไทยเช่นกัน แล้วเด็กไทยที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั้น จะต้องมีพฤติกรรมอย่างไร ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศไทยที่ทั่วโลกเขาชื่นชมในวัฒนธรรมของเรา แต่นี่ไม่ใช่เลย เปลี่ยนทุกปี จนเด็กงง อีกทั้งก็มีแต่ท่องจำ แต่ไม่เคยเอาคำขวัญเหล่านี้ไปใช้ในการสร้างเด็ก และพัฒนาเด็กให้มีพฤติกรรมอย่างที่ระบุไว้ในคำขวัญเลย

ลองนั่งคิดดูเล่นๆ เรามีคำขวัญวันเด็กมากว่า 50 ปีแล้ว ถ้าเราพัฒนาเด็กตามคำขวัญวันเด็กจริงๆ มีการกำหนด core competency ของคนไทยว่าเป็นอย่างไร และมีการสร้างแนวทางในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ผมคิดว่า ปัจจุบันนี้เราคงมีผู้ใหญ่ที่ดีมากมาย มีวินัยในการทำงาน มีความซื่อสัตย์ในการทำงานทุกอย่าง ไม่อึมครึมเหมือนในปัจจุบันแบบนี้

ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องของความมีวินัยอย่างมาก ผมไม่เห็นว่าเขาสร้างคำขวัญวันเด็กอะไรมากมาย แต่เขามีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาเด็กของเขาอย่างจริงจัง เพื่อนผมที่ไปประจำอยู่ประเทศญี่ปุ่นและเอาลูกไปเรียนหนังสือที่นั่นด้วย เล่าให้ฟังว่า ช่วงอนุบาล ถึงประถมศึกษา เขาเน้นการเรียนการสอนแบบให้เด็กเล่นมากๆ และเป็นการเล่นที่เน้นการเรียนรู้เรื่องการสร้างระเบียบวินัยอย่างสูง เช่น การข้ามทางม้าลาย การเข้าคิว การตรงต่อเวลา ฯลฯ เขาจะเน้นเรื่องเหล่านี้ให้กับเยาวชนของเขาอย่างมาก

ผลก็คือ คนญี่ปุ่นถ้าพูดถึงเรื่องวินัยแล้ว ส่วนใหญ่มากกว่า 80% ของคนของเขามีวินัยที่สูงมากๆ แค่เทียบกันตอนเกิดภัยพิบัติก็พอแล้ว ช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดซึนามิ ขนาดคนที่ไม่มีอะไรจะกินไปเข้าคิวเพื่อรับแจกน้ำ ซึ่งมีโควต้าได้คนละ 3 ขวด คนส่วนใหญ่ที่อยู่ตัวคนเดียว ยังรับแค่ขวดเดียว มีคนถามว่าทำไมรับขวดเดียว เขาก็ตอบว่า ยังมีคนที่ต้องการน้ำมากกว่าเขา เขาอยู่คนเดียวใช้แค่นี้ก็พอแล้ว ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่เกิดภัยพิบัติมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 54 คนที่ไปรับของแจกยังแย่งกันแทบตาย บางคนเอาลูกเอาเมีย เอาญาติๆ มาเข้าคิวรับของ เพื่อที่จะให้ครอบครัวของตัวเองได้มากที่สุด ส่วนคนอื่นๆที่เดือดร้อนกว่าเรา จะเป็นอย่างไร ก็เรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว

 พอน้ำลดเท่านั้นล่ะครับ ไปเปิดห้องเก็บของ ปรากฎว่า ขอที่ไปรับแจกมาเหลือเต็มบ้าน ก็เลยเอาของฟรีที่ได้มาไปขายต่ออีก  

ส่วนใครที่ทำดีอยู่แล้ว มีวินัยอยู่แล้ว ซื่อสัตย์อยู่แล้ว ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ อย่าเพิ่งท้อที่จะทำความดีนะครับ ระยะยาวผลดีก็จะเกิดกับตัวเราเองและครอบครัวในที่สุดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น