วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

เรื่องเงินเดือน ใครเป็นคนกำหนดกันแน่

 

มีเรื่องราวที่หลายองค์กรถกเถียงกันมาตลอด ก็คือ เรื่องของการกำหนดอัตราเงินเดือนให้พนักงานที่เรารับเข้ามาทำงานแล้วนั้น ใครเป็นคนกำหนดกันแน่ ตั้งแต่ เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการสายงาน หรือ ฝ่ายบุคคล องค์กรของท่านใครเป็นคนตัดสินใจ และกำหนดเงินเดือนให้กับพนักงานที่รับเข้ามาใหม่ครับ
  • เจ้าของธุรกิจ บุคคลนี้ถือเป็นเจ้าของเงินทั้งหมดที่ลงทุนทำธุรกิจ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจึงมักจะใช้เหตุผลของความเป็นเจ้าของในการเข้ามามีสิทธิและอำนาจเต็มที่ในการกำหนดอัตราเงินเดือนให้กับพนักงานที่มาทำงานกับองค์กร และด้วยความเป็นเจ้าของ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีการกำหนดหลักการในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมากนัก หลักง่ายๆ ก็คือ ชอบใคร หรือเห็นว่าใครที่พอจะมีหน่วยก้านในการทำงานที่ดี ก็มักจะให้เงินเดือนกับคนนั้นสูงหน่อย ถ้าไม่ชอบใคร หรือดูแล้วไม่น่าจะไปรอด ก็จะกำหนดเงินเดือนให้ต่ำหน่อย ก็คือมีการต่อรองราคากันเยอะหน่อย เพื่อให้ค่าจ้างเหมาะสมกับตัวพนักงาน โดยอาศัยความรู้สึกเข้ามาช่วยเยอะหน่อย
  • ผู้บริหารระดับสูง และผู้จัดการสายงาน คนกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นเจ้าของอัตรากำลังที่หาเข้ามาได้ เพราะเขาเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง และเป็นคนที่ต้องคัดเลือกผู้สมัครให้เข้ามาทำงานกับตนเองอย่างเหมาะสม ดังนั้น ก็เลยให้เหตุผลว่า เขาเองควรจะเป็นคนกำหนดเงินเดือนให้กับพนักงานที่เขาสัมภาษณ์แล้วและเห็นว่ามีความเหมาะสม คนกลุ่มนี้ก็อาศัยความรู้สึกอีกเช่นกันว่า ชอบใคร เห็นว่าใครที่มีความสามารถก็อยากได้ให้เข้ามาทำงานด้วยกัน ดังนั้นก็มักจะกำหนดเงินเดือนให้กับผู้สมัครในระดับที่สูงมาก บางครั้งอยากได้ ก็ให้ตามที่ผู้สมัครขอมาเลย โดยไม่ดูว่าเงินเดือนคนในนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง
องค์กรที่คนสองกลุ่มนี้มีอำนาจในการกำหนดอัตราเงินเดือนให้กับพนักงานที่มาสมัครงานใหม่ โดยที่ฝ่ายบุคคลไม่ได้ทำอะไรเลยนั้น มักจะมีปัญหาในเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมาโดยตลอด เพราะอยากให้ใครมาก ก็ให้เลย โดยไม่มีการมาเปรียบเทียบดูว่าพนักงานที่ทำงานอยู่กับเรานั้น ได้กันเท่าไหร่กันบ้าง งานเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร ผลที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ คนใหม่มักจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าคนที่ทำงานเดิมในองค์กร ก็เลยทำให้พนักงานเก่าขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งผู้จัดการเองก็ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป และสุดท้ายก็มักจะมาโทษว่า ก็ HR ไม่ดี ไม่มีการกำหนดโครงสร้างเงินเดือนให้ชัดเจน

แต่เชื่อมั้ยครับว่า บางองค์กร HR ก็กำหนดโครงสร้างเงินเดือนอย่างชัดเจนแล้ว โดยอาศัยที่ปรึกษา และหลักการต่างๆ เข้ามาประกอบ แต่สุดท้าย ผู้จัดการสายงานก็ยังคงไม่สนใจในโครงสร้างเงินเดือนที่กำหนดไว้อยู่ดี และมักจะกำหนดอัตราเงินเดือนตามใจชอบ ซึ่งก็ยิ่งทำให้การบริหารเงินเดือนในบริษัทเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น

ดังนั้นเรื่องของอัตราค่าจ้างเงินเดือนที่จะกำหนดให้พนักงานนั้น ต้องเป็นเรื่องที่กำหนดจากส่วนกลาง ซึ่งก็คือ จะต้องอาศัยฝ่ายบุคคลที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์งาน ประเมินค่างาน และกำหนดระดับงานออกมาให้ชัดเจน ตามความยากง่ายของงาน จากนั้น ก็ไปสำรวจค่าจ้างว่าตลาดที่เราแข่งขันด้วยนั้น จ่ายกันเท่าไหร่ เพื่อเอามากำหนดเป็นโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทให้ชัดเจน

พอมีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว ก็ต้องบริหารค่าจ้างเงินเดือนให้เป็นไปตามโครงสร้างเงินเดือนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรจะต้องให้ความเคารพในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นองค์กรที่มีระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ดีนั้น แม้แต่เจ้าของธุรกิจเอง ยังไม่สามารถตกลงเงินเดือนกับผู้สมัครเองได้ โดยไม่ผ่านการหารือกับฝ่ายบุคคล

สิ่งที่องค์กรเหล่านี้ทำก็คือ พิจารณาคัดเลือกพนักงานได้ตามคุณสมบัติแล้ว เรื่องเงินเดือนจะต้องให้ฝ่ายบุคคลมาพิจารณา โดยดูจากค่างานของตำแหน่งงาน และโครงสร้างเงินเดือนภายในของบริษัท และที่สำคัญก็คือจะต้องพิจารณาว่าคนเก่าของเรานั้นเงินเดือนอยู่ในช่วงไหนบ้าง และจะเงินเดือนที่คนใหม่ขอมานั้น เราสามารถให้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ จะต้องต่อรองเป็นสักเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนภายในองค์กรของเราเอง หลายองค์กร CEO เองยังต้องมาหารือกับฝ่ายบุคคลเรื่องเงินเดือนพนักงานเลยครับ เพราะจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องของความเป็นธรรมในการจ่าย

เพราะปัญหาเรื่องการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น ถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว แก้ไขได้ยากมากครับ บางครั้งแก้ไขในเชิงตัวเลขได้ แต่ในความรู้สึกของพนักงานที่เขาเสียความรู้สึกไปแล้วนั้น จะกู้กลับมาให้รู้สึกดีเหมือนเดิมนั้นยากมากครับ

โดยสรุปแล้ว ถ้าเราจะไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนในบริษัท เรื่องของการกำหนดอัตราเงินเดือนควรจะเป็นหน้าที่ของ ฝ่ายบุคคล ซึ่งจะต้องทำหน้าที่นี้อย่างถูกต้องตามหลักการนะครับ ไม่ใช่อยากให้อะไรก็ให้ แบบนั้นถือว่าไม่มีหลักการอะไรเลย

 ส่วนหลักในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร ของ Search หาจากบทความเก่าๆ ของผมดูได้ครับ เพราะถ้าเราปล่อยให้ผู้จัดการฝ่ายแต่ละฝ่ายกำหนดเงินเดือนพนักงานกันเองได้ตามอิสระ ลองนึกภาพดูสิครับว่า ปัญหาที่จะตามมาในการบริหารคนจะมีอะไรบ้าง  

แค่คิดก็เสียวแล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น