วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

อัตราการลาออกของพนักงาน ยิ่งน้อยยิ่งดีจริงหรือ



เป้าหมายของการทำงานตัวหนึ่ง ซึ่ง HR บ้านเราส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดผลงานตัวหนึ่งก็คือ อัตราการลาออกของพนักงานในองค์กร ซึ่งอัตราการลาออกนี้ นายจ้างส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ คำถามก็คือ ตัวเลขอัตราการลาออกนั้นยิ่งน้อย ยิ่งดีจริงหรือ
  • ผู้บริหารในบางองค์กร มีมุมมองว่า ยิ่งองค์กรของเรามีอัตราการลาออกของพนักงานในอัตราที่น้อยนั้น ยิ่งดี เพราะถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าพนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานกับบริษัท ก็เลยไม่อยากออกไปไหน ผลก็คือ ผู้บริหารมักจะกำหนดอัตราการลาออกเป้าหมายไว้ให้น้อยที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้ก็คือ ต้องไม่มีพนักงานลาออกจากบริษัทโดยสมัครใจเลยยิ่งดี
  • ผู้บริหารบางองค์กรมองแตกต่างออกไปเล็กน้อยว่า การที่พนักงานไม่ลาออกเลยนั้น ไม่ได้แปลว่าพนักงานจะมีแรงจูงใจในการทำงานให้กับบริษัท แต่เป็นการอยู่ไปวันๆ หรือเปล่า ไม่ทำผลงาน ไม่ทำอะไร และก็ไม่ลาออกด้วย ถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ อัตราการลาออกที่ 0% จะเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ หรือ
  • ผู้บริหารบางองค์กรมองว่า องค์กรจะต้องมีอัตราการลาออกของพนักงาน เพียงแต่จะต้องควบคุมให้อยู่ในอัตราเฉลี่ยทั่วไปของกลุ่มธุรกิจแบบเดียวกัน เช่น อัตราการลาออกเฉลี่ยของธุรกิจเราอยู่ที่ 6% เราเองก็ต้องบริหารให้อยู่ใน 6% ไม่เกินนั้น ถึงจะเรียกว่าดี โดยเทียบกับอัตราตลาดเป็นเกณฑ์
  • ผู้บริหารบางองค์กร บังคับให้มีอัตราการลาออกในอัตราที่ตนต้องการ เช่น ทุกปีต้องการให้มีอัตราการลาออกของพนักงานที่ 10% ก็จะเอาอัตรานี้ไปกำหนดในเรื่องของผลงาน ว่าทุกปีจะต้องมีการประเมินผลงานพนักงานในอัตราแย่สุดๆ อยู่ที่ 10% และ 10% นี้จะต้องออกจากบริษัทไป เหตุผลก็คือ เพื่อที่จะได้มีเลือดใหม่เข้ามาทำงานในองค์กรอยู่เสมอ ไม่ใช่เป็นคนเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ แบบนี้องค์กรก็จะไม่เติบโตตามเป้าหมายที่ผู้บริหารกำหนดไว้
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ เชื่อในมุมมองแบบไหนที่กล่าวมาข้างต้น

เรื่องของอัตราการลาออกนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่หลายองค์กรให้ความสำคัญมาก เพราะมีส่วนทำให้การทำงานในองค์กรขาดประสิทธิภาพไป เพราะพนักงานอยู่ได้ไม่ทน ไม่นาน ผลก็คือ ทำให้การทำงานขาดช่วง ไม่ต่อเนื่อง

องค์กรส่วนใหญ่ไม่อยากให้มีอัตราการลาออกที่มากเกินไป แต่ถ้าไม่มีใครลาออกเลย ผมเองก็คิดว่าไม่ค่อยดีเหมือนกัน เพราะเราจะไม่มีแนวคิด หรือวิธีการทำงานใหม่ๆ ไม่มีคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเปิดความคิด เปิดโลกในการทำงานภายในบริษัทให้กว้างขึ้น ทุกคนก็จะทำงานแบบเดิมๆ และเชื่อว่า ระบบเดิมๆ ที่แหละที่ดีที่สุดแล้ว ผลก็คือ บริษัทจะเติบโตช้าลงเรื่อยๆ เพราะมีแต่ความคิดเดิมๆ

ในมุมมองของผมเอง จากประสบการณ์ที่ทำงานด้าน HR มาตลอดนั้น ผมไม่เชื่อว่าองค์กรที่พนักงานไม่ลาออกเลยนั้นเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ บางองค์กรยังคิดต่อไปได้อีกว่า การที่พนักงานของเราไม่ลาออกเลย แปลว่าพนักงานของเรามี Engagement หรือมีความผูกพันกับองค์กรเป็นอย่างมาก แต่จริงๆ แล้วไม่เสมอไปนะครับ เพราะถ้าพูดถึงเรื่องของความผูกพันแล้ว พนักงานที่ไม่ลาออกไปไหน และอยู่ทำงานแบบเรื่อยๆ ไม่ต้องการสร้างอะไรใหม่ๆ ไม่ต้องการทำอะไรใหม่ๆ อยากจะทำงานแบบเดิมๆ อยู่แบบเดิมๆ ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ฯลฯ พนักงานแบบนี้ ไม่เรียกว่ามีความผูกพันต่อองค์กรนะครับ

พนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กรนั้น นอกจากไม่ลาออกจากองค์กรแล้ว ยังต้องมีความต้องการที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับองค์กรอยู่ตลอด ยินดีที่จะปรับตัวเองใหม่ เพื่อให้องค์กรมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา และเกิดความก้าวหน้ามากขึ้น

ทางที่เหมาะสมที่สุดก็คือ บริหารพนักงานให้มีอัตราการลาออกในเกณฑ์ที่เทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกับเราน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี ดังนั้นเอาแบบกลางๆ ผมว่าดีที่สุดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น