วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหามาแล้ว สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

 

เริ่มเดือนมกราคม 2556 แล้ว ซึ่งเป็นเดือนที่เรื่องของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศแล้ว พอเริ่มใช้ได้เพียงไม่กี่วัน ข่าวเรื่องของการเลิกจ้างพนักงานก็เริ่มออกสู่หน้าหนังสือพิมพ์มากขึ้น ผู้ประกอบการ และนายจ้างเองที่ผมได้มีโอกาสคุยกัน โดยเฉพาะกลุ่ม SME นั้น มีปัญหาอย่างมาก บางแห่งวางแผนการปิดกิจการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว บางแห่งก็คิดจะปิดแต่ไม่บอกอะไรใคร พอถึงวันปีใหม่ปุ๊ป ก็ปิดกิจการปั๊ป ส่งผลให้ลูกจ้างที่มีทำงาน มาเก้อไปเลยก็เยอะครับ แบบว่าตกงานโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้ากันเลยทีเดียว
จากข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่า พิษของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้นมีผลร้ายมากกว่าผลดีสำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก เพราะต่างก็มีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อที่จะรักษาชีวิตขององค์กรไว้ในระยะยาว หรือไม่ก็เลิกทำธุรกิจกันไปเลย มาตรการส่วนใหญ่ก็แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
  • ไม่เพิ่มจำนวนพนักงาน องค์กรที่ใช้มาตรการนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่พอมีกำลังเงินในการบริหารงานต่อแม้ว่าค่าแรงจะขึ้นมาถึง 300 บาทแล้วก็ตาม แต่มาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว ก็คือ การไม่เพิ่มจำนวนพนักงานอีกในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะมีพนักงานในบางอัตราที่ลาออกไปในช่วงนี้ องค์กรก็จะไม่หามาทดแทน แต่จะใช้วิธีการกระจายงานให้กับพนักงานคนอื่นช่วยกันทำ เพราะค่าแรงสูงขึ้น งานก็ต้องเยอะขึ้น ยากขึ้นไปด้วย (นายจ้างคิด)
  • ลดจำนวนพนักงานลง มาตรการนี้องค์กรส่วนใหญ่ที่ต้องการจะประกอบธุรกิจต่อไป แต่ต้นทุนทางด้านพนักงานสูงขึ้นมาก สิ่งที่องค์กรจะต้องทำก็คือ การลดจำนวนพนักงานลง ผลก็คือพนักงานตกงานมากขึ้น ดังนั้นเราจะเห็นจากข่าวในช่วงนี้เยอะมาก ในเรื่องของการปลดคนงาน การลดพนักงาน การให้พนักงานออก ฯลฯ
  • ย้ายฐานการผลิต มาตรการนี้องค์กรที่พอจะมีเงินลงทุนอยู่บ้าง มักจะใช้มาตรการนี้ ก็คือหนีจากฐานค่าแรงที่แพงไปสู่ประเทศ ที่มีฐานค่าแรงที่ถูกลง เช่น ลาว เวียดนาม พม่า ซึ่งจะว่าไปบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในบ้านเราก็เริ่มย้ายฐานการผลิตออกไปที่ประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว ผลก็คือ คนงานไทย ก็จะหางานยากขึ้น
  • ปิดกิจการ อีกมาตรการหนึ่งที่ระยะนี้อาจจะยังไม่เห็น แต่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหลังจากที่เริ่มมีการจ่ายค่าจ้างกันจริงๆ แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ถ้านายจ้างมีภาระสูงขึ้น และรายได้เข้ามาไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของค่าแรงแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การปิดกิจการของตนเองลง ซึ่งฟังจากข่าวแล้ว ก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อยเลยครับที่จำเป็นต้องปิดกิจการลงในช่วงนี้
สังเกตมาตรการต่างๆ ที่นายจ้างจำเป็นจะต้องทำเพื่อความอยู่รอดแล้ว มองยังไงก็ไม่ค่อยเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างเลย เพราะมีแต่เสียกับเสีย อาจจะมีลูกจ้างที่มีฝีมือหน่อยที่นายจ้างอาจจะรักษาไว้เพื่อทำงานต่อไป แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องตกงานอยู่ดี

ลองดูตัวเลขในการปรับค่าจ้างที่เกิดขึ้นก็ได้ครับ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2555 ทั่วประเทศปรับขึ้นอยู่ที่ประมาณ 40% แค่นั้นยังไม่พออีก 9 เดือนถัดมาต้องปรับอีกเฉลี่ย 22% เพื่อให้เข้าสู่ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ รวมแล้วภายในเวลาไม่ถึงปี นายจ้างที่อยู่นอกเขตกทม. ต้องปรับค่าจ้างให้กับพนักงานระดับล่างโดยเฉลี่ยสูงถึง 62% เลยทีเดียว ถามว่าเวลาแค่เพียงไม่ถึงปี นายจ้าง (SME) เองจะมีโอกาสทำรายได้ได้สูงว่าปีที่ผ่านมาถึง 20% หรือเปล่า คำตอบก็คือ ยากมากครับ ดังนั้นก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้นายจ้างจะต้องปิดกิจการลงอย่างช่วยไม่ได้เลย

ส่วนบริษัทที่ยังคงมีความสามารถในการจ่ายได้อยู่ รวมทั้งไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนักจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศครั้งนี้ ก็ขออย่าได้เอาช่วงเวลานี้เอาเปรียบลูกจ้างเลยนะครับ สิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่มักจะทำกันก็คือ
  • เอาค่าจ้างอื่นเข้ามารวมๆ กัน แล้วมากกว่า 300 บาท ก็ไม่มีการปรับอะไร เพราะถือว่าได้มากกว่า 300 บาทแล้ว
  • เอาสวัสดิการอื่นๆเข้ามารวม เข้ามาคิดเป็นตัวเงิน แล้วก็รวมเข้าไปในฐานเงินเดือนเพื่อทำให้พนักงานเห็นว่า เขาได้รับค่าจ้างโดยรวมแล้ว สูงว่า 300 บาท ดังนั้นจึงไม่ต้องปรับอีกเช่นกัน
  • ไม่มีการปรับค่าจ้างแต่อย่างใด โดยใช้เหตุผลว่า ถ้าอยากได้ 300 บาท ก็ไปฟ้องเอาเอง ซึ่งลูกจ้างระดับล่างจะเอาเวลาทำมาหากินไปฟัองร้องเรียกเงินในส่วนนี้ก็ไม่ค่อยมีใครจะทำกันหรอกครับ สุดท้ายก็คือต้องทำใจทนทำไป เพราะถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีเงินใช้ จะไปฟ้องก็ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร
ทั้ง 3 วิธีการข้างต้นนั้น บอกได้เลยนะครับว่า เป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายครับ ในฐานะคนที่ทำหน้าที่ในการบริหารคนขององค์กรนั้น ผมคิดว่าเราไม่ควรส่งเสริมให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น แต่สิ่งที่ควรจะทำก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้การบริหารงาน และบริหารธุรกิจของเราให้มีรายได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้พนักงานทำงานได้คุ้มกับค่าจ้างที่ขึ้นมา มีวิธีการสร้าง Productivity ให้สูงขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ  

แล้วผมจะเขียนให้อ่านในตอนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น