วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

HR กับ AEC ความเข้าใจบนความไม่เข้าใจ


อีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวสู่ AEC หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และช่วงปีที่แล้ว ก็มีสถาบันการฝึกอบรม ทั้งไทยและเทศ ต่างก็พยายามจะจัดสัมมนา และจัด Forum ต่างๆ เพื่อที่จะให้ความรู้ในเรื่องของ AEC ว่าจะมีผลอะไรต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลกันบ้าง

ผมเชื่อว่า จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังมีคนที่ยังไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในประเทศไทย และจะส่งผลกระทบอะไรต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลในบ้านเราบ้างทั้งๆ ที่เราก็พยายามฟังผู้เชี่ยวชาญมาหลายสถาบัน และหลายคนด้วยซ้ำไป

เท่าที่ผมไปฟัง และหาความรู้ทางด้านนี้มาพอสมควร (สังเกตว่า ผมไม่กล้าเขียนเรื่องนี้ในปีที่ผ่านมาเลยสักเรื่อง เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง) จนถึงวันนี้ ผมเองก็ยังไม่ชัวร์เลยครับว่า เมื่อถึงวันที่เปิดเสรีจริงๆ แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะมีอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะในงานทาง HR ขององค์กร พยายามที่จะฟังท่านผู้มีประสบการณ์บรรยายให้ฟัง แต่พอฟังจบแล้ว ก็ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมสักที มีแต่เรื่องของแนวคิดหลักการมากกว่า แล้วก็บอกให้เราชาว HR เตรียมตัวให้พร้อม แต่ลึกๆ แล้ว AEC เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง และจะมีผลกระทบต่อองค์กรของเราอย่าไรบ้างนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ตกผลึกครับ

สิ่งที่ HR โดยมากเข้าใจก็คือ AEC เป็นการเปิดเสรีทางการค้า พิกัดภาษีต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ก็จะลดลงจนเหลือ 0% ทำให้การค้าขายในภูมิภาคมีความคล่องตัวมากขึ้น ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเปิดเสรีทางด้านแรงงาน 7 สาขาวิชาชีพอีกด้วย คือ จะมีการทำงานกันข้ามประเทศไปมา ใน 7 วิชาชีพนี้ โดยลดข้อจำกัดทางด้านการทำงานที่เคยมีในแต่ก่อนลง อิสระในการทำงานข้ามประเทศก็จะมีมากขึ้น ดังนั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานใน 7 สาขาอาชีพนี้ก็จะเคลื่อนที่อย่างอิสระ

พอมีคนบอกว่า แรงงานจะเสรี (7 สาขาอาชีพ) หลายๆ องค์กร ก็ไปตีความเอาว่า แรงงานระดับล่างจะมีการเคลื่อนที่ไปมาอย่างอิสระ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่อิสระนะครับ เพราะความมีอิสระนั้น ยังอยู่ภายใต้ 7 สาขาอาชีพนี้ในปีต้นๆ ที่เปิดเสรีก่อนครับ แล้วเขาจะค่อยๆ ขยายสาขาวิชาชีพให้มากขึ้นเรื่อยๆ ในปีถัดๆ ไป ดังนั้นเรื่องแรงงานระดับล่าง ไม่ต้องกังวลมากครับ เอาเข้าจริงๆ เดี๋ยวนี้ก็มีการเข้ามาทำงานของกลุ่มแรงงานต่างชาติอยู่แล้วในบ้านเราเพียง แต่ยังมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดอยู่ ซึ่งก็ยังคงเข้มงวดอยู่ดีครับ เพราะแรงงานระดับล่างไม่ได้อยู่ใน 7 วิชาชีพหลักๆ ที่เขาเปิดเสรีครับ

เห็นมั้ยครับ แค่เรื่องแรงงานเสรี ก็ทำให้หลายๆ องค์กรเข้าใจผิดแล้วว่า พอเปิด AEC ปุ๊ป แรงงานจะวิ่งไปวิ่งมาข้ามประเทศกันไปมาทันที จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้นนะครับ ที่วิ่งไปวิ่งมามันก็แค่ 7 สาขาอาชีพเท่านั้นในช่วงแรก ดังนั้นองค์กรที่ต้องระวังก็คือองค์กรไทยที่มีการว่าจ้างพนักงานในสาขา วิชาชีพที่อยู่ใน 7 สาขานั้น

อีกมุมหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้ดีก็คือ เมื่อเปิดเสรีการค้า แปลว่า เราจะไปค้าขายที่ไหนก็ได้ ตรงจุดนี้น่าจะทำให้นายจ้างได้เปรียบมากกว่า ก็คือ ทำให้นายจ้าง หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ สามารถที่จะเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานราคาถูกกว่าได้ เพราะค้าขายเสรี จะเห็นว่า แรงงานระดับล่างไปไหนไม่ได้ แต่นายจ้างไปได้ ผลก็คือ แรงงานไทยก็จะตกงานมากขึ้น เพราะนายจ้างคงจะออกไปลงทุนในประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าอย่างแน่นอน

ดังนั้นสิ่งที่ HR จะต้องพิจารณาก็มีประเด็นดังนี้
  • องค์กร เรามีการว่าจ้างพนักงานใน 7 สาขาอาชีพนั้นหรือไม่ ถ้ามี แสดงว่าเราอาจจะได้รับผลกระทบในช่วงแรกมากหน่อย เพราะถ้าใครพร้อมมากกว่า ก็จะไปทำงานในประเทศที่มีค่าจ้างสูงกว่าได้ ถ้าเราไม่มีมาตรการในการรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ เราก็อาจจะเสียคนกลุ่มนี้ให้กับต่างชาติได้
  • องค์กรของเรา จะย้ายฐานการผลิต และการค้าไปยังประเทศอื่นหรือไม่ บางองค์กรเริ่มวางแผนจะไปแล้ว ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเห็นโอกาสในเรื่องของค่าจ้างที่ต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีมากในประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าองค์กรเราจะย้ายไป แสดงว่า HR ก็ต้องไปศึกษาแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลของประเทศนั้นๆ อย่างถ่องแท้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานตามมา
  • ส่วนองค์กร ขนาดกลาง และเล็ก ที่ไม่มีกำลังมากพอที่จะย้ายฐานไปเพื่อนบ้าน ก็จะมีทางเลือกมากขึ้นในการจ้างงาน เพราะอาจจะเกิดภาวะแรงงานล้นตลาด เพราะองค์กรใหญ่ๆ ย้ายฐานการผลิตออกไป ก็ต้องมีการเลิกจ้างพนักงานกัน ผลก็คือมีแรงงานให้เลือกมากขึ้น ตลาดแรงงานก็จะเริ่มกลายเป็นของนายจ้างอีกครั้งหนึ่ง ที่จะเลือกเอาคนที่เก่งๆ และมีฝีมือเข้ามาทำงานกับเราได้ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงอยู่แล้วย่อมทำให้นายจ้างเลือกมากขึ้นกว่าเดิม
  • ถ้า องค์กรที่ต้องทำการค้าในกลุ่มภูมิภาคนี้ ก็ต้องเริ่มพัฒนาคนในองค์กรได้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของภาษาที่จะใช้ รวมทั้งวัฒนธรรมในการทำงานกับประเทศต่างๆ
ผมว่าเอาแค่สี่ประเด็นข้างต้น เราก็สามารถที่จะวางแผนและเตรียมความพร้อมในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้ใน หลายๆ เรื่องแล้วล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาคน การเลือกคน การจ่ายค่าจ้างจะจ่ายอย่างไรดี การพัฒนาคนทั้งด้านทักษะการทำงาน และภาษาที่จะใช้ รวมถึง การสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี อีกทั้งยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่เราจะเข้าไปลงทุน ฯลฯ

ผมว่าแค่นี้ ก็เตรียมการกันไม่ค่อยจะทันแล้ว ถ้าไม่เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น