วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

มาตรการทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อรองรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท


จากข่าวคราวเรื่องของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ที่เกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ แต่อาจจะรับมือได้ เพราะเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ และสามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายองค์กรที่ต้องคิดหนักว่า จะต้องทำอย่างไรต่อไปให้ธุรกิจของเราอยู่รอดปลอดภัยได้
ลองมาดูมาตรการทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่องค์กรพอจะทำได้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะพอช่วยให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้นกว่าเดิม
  • สรรหาคัดเลือกพนักงานแบบเข้มข้น ในเมื่อค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้น และนายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ยังคงเป็นงานในตำแหน่งเดิม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางด้านค่าจ้างที่ได้จ่ายไป การสรรหาพนักานใหม่จะต้องทำให้แน่ใจว่า เราได้คนเก่ง คนดี ที่เหมาะสมกับองค์กรจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าหาคนให้เข้ามาทำงานได้ตามจำนวนก็พอ การสรรหาคัดเลือกแบบเดิมๆ ที่เชื่อกันว่า รับเข้ามาไว้ก่อน ถ้าไม่ดีค่อยแจ้งไม่ผ่านทดลองงานนั้น จะต้องเลิกวิธีการนี้โดยเด็ดขาด เพราะทำให้ต้นทุนในการบริหารคนสูงขึ้น
  • สร้างวิธีการทำงานแบบ Multi Task หลายๆ บริษัทก็เริ่มนำวิธีการนี้มาใช้มากขึ้น ก็คือ พนักงาน 1 คนเดิมทำงานแค่งานเดียว ก็มีการเพิ่มงานให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแนวทางนี้ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในบ้านเรา กล่าวคือ เวลามีพนักงานลาออกไป ก็จะไม่รับพนักงานเข้ามาทดแทน แต่จะกระจายงานที่มีอยู่นี้ให้กับพนักงานคนอื่นๆ รับกันไปทำกันต่อ
  • เอาระบบการบริหารผลงานมาใช้อย่างจริงจัง หลายบริษัทเริ่มคิดต่อว่า เมื่อต้นทุนของเราสูงขึ้นแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดผลผลิตที่มากขึ้นไปด้วย ก็มีการนำเอาระบบบริหารผลงาน ที่มีการกำหนดตัวชี้วัดผลงานมาใช้กันอย่างจริงจังมากขึ้น จากเดิมที่ใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง แต่ครั้งนี้ คงต้องใช้อย่างจริงจัง มีการตั้งเป้าหมายในการทำงานแต่ละปี และถ่ายทอดเป้าหมายนั้นลงสู่หน่วยงาน และพนักงานแต่ละคน จากนั้น พนักงานแต่ละคนก็ต้องสร้างผลงานให้ได้ตามที่ตกลงกันไว้ ถ้าทำได้ ก็จะมีระบบการให้รางวัลที่สอดคล้องกับผลงาน ส่วนพนักงานที่ทำไม่ได้ตามเป้า ก็จะไม่ได้รางวัลผลงานนั้น ด้วยวิธีนี้จะเป็นการเพิ่มผลิตภาพในการทำงานได้สูงขึ้น
  • เปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ องค์กรที่เน้นเรื่องของการผลิตสิ่งที่องค์กรมักจะวางแผนดำเนินการก็คือ เรื่องของการนำเอาเครื่องจักร และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้แทนคนทำงาน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการจ้างคนทำงานลดลง อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องของความผิดพลาดของคนทำงานอีกด้วย
  • สร้างแนวทางในการพัฒนาคนให้เก่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนเรื่องแรงงานสูงขึ้น ทำให้การว่าจ้างคนอาจจะลดน้อยลง ดังนั้นพนักงานที่ทำงานอยู่ในองค์กรจะต้องรับผิดชอบงานที่มากขึ้น หลากหลายขึ้น สิ่งที่องค์กรจะต้องทำต่อก็คือ ถ้าอยากให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะยาว ก็ต้องมีการวางแผนการพัฒนาพนักงานที่ทำงานอยู่นี้ให้มีทักษะและความสามารถในการทำงานที่ยากขึ้นทุกๆ ปีได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว องค์กรจะโตไม่ได้ ยิ่งค่าจ้างแพงๆ อยู่ และองค์กรก็โตไม่ได้อีก ผมว่าคราวนี้คงไปกันไม่รอดแน่นอนครับ ดังนั้นอย่ามัวแต่มองว่าค่าจ้างแพงแล้ว ก็เลยไม่มีการวางแผนการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องนะครับ เพราะจะทำให้ระยะยาว ธุรกิจของเราจะค่อยๆ ถอยหลังไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเวลาผ่านไป 10 ปี แต่พนักงานของเรายังคงทำงานแบบเดิมกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมว่า องค์กรแบบนี้คงไปไม่รอดแน่นอนครับ
จะเห็นได้ว่า มาตรการที่สำคัญที่จะเข้ามาช่วยทำให้เรื่องค่าแรงของเราไม่ได้แพงขึ้นอย่างที่คิด ก็คือ การเพิ่ม Productivity ของการทำงาน อย่ามัวแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ค่าแรงถูกๆ เลยครับ เพราะมันก็ขึ้นมาแล้ว เราเองก็ไปทำอะไรเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายบังคับมาแล้ว

สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การปรับตัว และหาแนวทางที่จะใช้พนักงานให้ทำงานอย่างคุ้มค่ากับค่าแรงที่เราได้ให้ไปนั่นเอง เพื่อเป็นการเพิ่มผลิตภาพที่สูงขึ้นกว่าเดิม ถ้าทำได้แบบนี้ ก็คือ win ทั้งองค์กร และ win ทั้งพนักงาน องค์กรก็อยู่รอดปลอดภัย ไม่ต้องปิดตัวเอง พนักงานเองก็มีงานทำ ไม่ต้องตกงาน หรือถูกลอยแพครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น