วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ใครเป็นคนทำลาย Engagement ในองค์กร

เรื่อง ของ Engagement หรือ ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรนั้น ปัจจุบันนี้หลายๆ องค์กรเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และเอกชนบางแห่ง มีการกำหนดตัวชี้วัดของความผูกพันของพนักงานขึ้นมา และกำหนดให้ต้องมีการสำรวจความผูกพันของพนักงานเป็นประจำทุกปี

แต่เชื่อหรือไม่ว่า องค์กรเหล่านี้ทำการสำรวจทุกปี แต่กลับไม่ค่อยเอาผลการสำรวจไปใช้เพื่อสร้างความผูกพันของพนักงานอย่างจริงๆ จังๆ เหมือนกันทำขึ้นมาเพื่อต้องทำ หรือคนอื่นเขาทำกัน ก็เลยอยากทำบ้าง เพื่อจะได้ชื่อว่า องค์กรเรานั้นมีการสำรวจความผูกพันของพนักงาน แต่ผลการสำรวจเป็นอย่างไร พนักงานคิดเห็นอย่างไร กลับไม่ได้เอาไปพัฒนาต่อยอดกันเลย

จากประสบการณ์ที่เคยได้จับเรื่อง Engagement มาบ้างนั้น ผมเห็นว่าเรื่องของความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรนั้นไม่ได้สร้างกันง่ายๆ ด้วยคนเพียงคนเดียว หรือเพียงหน่วยงานเดียวในองค์กร คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า หน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องคะแนนความผูกพันของพนักงานก็คือ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดแบบเดียวกันนี้หรือเปล่า

ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรนั้นจะต้องทำกันทั้งองค์กร และต้องทำกันในทุกระดับ ทุกคนตั้งแต่ผู้บริหาระดับสูงไล่ลงมาเรื่อยๆ จนถึงตัวพนักงานเอง จากผลการสำรวจความผูกพันของพนักงานที่เคยทำนั้น สาเหตุของความไม่ผูกพันของพนักงานเกิดจากอะไรบ้าง ปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวบ่อนทำลายความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร มีดังนี้ครับ
  • ผู้บริหารระดับสูงไม่ใส่ใจเรื่องของพนักงาน มัวแต่มุ่งเน้นเรื่องของผลกำไร ยอดขาย ต้นทุน มากเกินไป เรื่องพนักงานไม่เคยเอามาใส่ใจอะไรใดๆ ทำเหมือนกับว่าพนักงานเป็นเครื่องจักร ใช้เอาใช้เอา ห้ามป่วย ห้ามขาดงาน ห้ามต่างๆ นานา
  • ผู้บริหารระดับสูงไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับพนักงาน พูดอย่างทำอย่าง สัญญาว่าจะดำเนินการให้ แต่กลับไม่ทำอะไร หรือไม่ก็ผิดสัญญากันไปดื้อๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารคน บริหารงาน พูดจากปากว่า เราจะเลือกคนในก่อนคนนอก แต่พอขาดคนทีไร มีแต่คนนอกเข้ามาทั้งนั้น คนในไว้ทีหลัง เป็นต้น
  • ผู้จัดการไม่ใส่ในเรื่องการพัฒนาพนักงาน ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันต่อองค์กรก็คือ เรื่องของการพัฒนาตนเอง ซึ่งหัวหน้างานหรือผู้จัดการบางคนไม่เคยคิดที่จะพัฒนาลูกน้องของตนเองเลย ทำงานอะไรก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่มีการวางแผนในแต่ละปีว่า จะต้องพัฒนาอะไรบ้าง และจะเติบโตไปไหนบ้าง พนักงานก็จะเริ่มเบื่องาน เฉา และเริ่มหมดแรงในการทำงานในที่สุด
  • เวลางานมีปัญหาหัวหน้าก็โบ้ย ลักษณะแบบนี้ ไม่มีทางสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรได้เลยครับ พองานมีปัญหา นายก็หายหน้าไป หรือไม่ก็โบ้ยไปเรื่อย ที่หนักหน่อยก็คือ กล่าวโทษพนักงาน และโยนความผิดนั้นว่าเป็นความรับผิดชอบของพนักงาน หัวหน้าไม่เกี่ยว
  • ขาดนโยบายทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ชัดเจน เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรออกมาต่ำ ก็คือองค์กรไม่เคยมีนโยบายเรื่องของคนที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาคน ความก้าวหน้าทางสายอาชีพ นโยบายการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการพนักงาน ฯลฯ บริหารโดยปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่มีหลักการและวิธีการที่ชัดเจน การบริหารค่าตอบแทนก็มีความลักลั่นกัน เงินเดือนมีปัญหามากมาย ไม่มีความเป็นธรรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำลายความผูกพันของพนักงานอย่างเลี่ยงไม่ได้แน่นอน
อ่าน จากสาเหตุ 5 ประการข้างต้นแล้ว จะเห็นว่า เรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานให้เกิดขึ้นต่อองค์กรได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายบุคคลเพียงฝ่ายเดียว แต่จะต้องเกี่ยวพันกันกับคนทั้งหมดในองค์กร ทุกระดับ ทุกตำแหน่ง ต้องร่วมมือร่วมใจกัน และพร้อมใจกันสร้างองค์กรให้ดี และสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อให้พนักงานเกิดความรู้สึกอยากทำงาน และพร้อมที่จะสร้างผลงานให้กับองค์กรอย่างสม่ำเสมอ

องค์กรของท่านล่ะครับ ส่วนใหญ่สร้าง หรือทำลายความผูกพันของพนักงานในองค์กรมากกว่ากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น