วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ข้อพึงระวัง ถ้าจะทำ Talent Management

talent mgt

ผมเชื่อว่าหลายองค์กร ต่างก็เห็นความสำคัญของคนเก่ง หรือที่เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Talent หรือบางแห่งก็เรียกว่า High Potential ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานที่มีความเก่งกาจสามารถ มีผลงาน และมีพฤติกรรมที่โดดเด่นมากๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกำลังหลักสำคัญที่จะทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้าไปได้อีกไกล และองค์กรเองก็พยายามที่จะหา และพัฒนาคนเก่งๆ ขึ้นมาให้ได้มากที่สุด และเมื่อพัฒนาแล้ว สิ่งที่จำเป็นก็คือ จะต้องหาวิธีการเก็บรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ให้ดี ไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสมองไหล


แต่อย่างไรก็ดี ระบบในการพัฒนา และหาคนเก่งนั้น จะต้องเป็นระบบที่ดี ที่สามารถตอบคำถามของผู้บริหารและพนักงานได้ว่า ทำไมพนักงานคนนี้ถึงได้เป็น talent ด้วยเหตุผลอะไร ผมเห็นหลายองค์กรมีระบบ talent management ทั้งๆ ที่ยังไม่มีระบบการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม สุดท้ายปัญหาก็ตามมา เราลองมาดูกันว่า ถ้าองค์กรทำระบบ talent ขึ้นมาโดยที่องค์กรยังไม่พร้อมนั้น จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง
  • ผู้ จัดการ และหัวหน้างานทุกระดับ จะพยายามหาเหตุผล และพยายามที่จะบอกว่า ลูกน้องของเขาทุกคนนั้นคือ talent ดังนั้น ลูกน้องเขาจะต้องได้รางวัล ได้เลื่อนตำแหน่ง ดีกว่าคนอื่นๆ ในองค์กร และที่สำคัญก็คือ หัวหน้าทุกคนในองค์กรจะเสนอชื่อ talent มาให้กับ HR โดยที่ไม่มีเหตุผล และหลักฐานรองรับที่ชัดเจนว่าทำไมถึงเป็น talent สุดท้าย HR ก็ไม่สามารถบริหารจัดการคนกลุ่มนี้ได้ กลายเป็นว่าพนักงานที่มีผลงานธรรมดาคนนึง ก็กลายเป็น talent ไป องค์กรก็ต้องจ่ายสูงขึ้น โดยที่ได้ผลงานเท่าเดิม
  • ปัญหา ความเหลื่อมล้ำในการบริหารค่าตอบแทน เนื่องจากระบบ talent นั้นมักจะมีการตอบแทนพนักงานกลุ่มนี้แบบแตกต่างออกไป กล่าวคือ พนักงานที่เป็น talent จะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าพนักงานปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นเงินเดือน โบนัส รวมถึงความก้าวหน้าในสายงานของตนเอง แต่ถ้าบริษัทของเราไม่มีระบบข้อมูลที่ชัดเจนในการบริหารคน ก็จะทำให้ระบบ talent นั้นมีปัญหา ก็คือ พนักงานจะได้รับค่าตอบแทน ที่ไม่เป็นธรรม คนที่ได้มากอาจจะไม่ใช่ Talent ตัวจริงก็ได้ แต่เป็นเพราะนายชงเรื่องขึ้นมามากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ถ้านายเป็นคนที่อิทธิพลหน่อยยิ่งง่ายที่จะทำให้พนักงานของตนเองเป็น talent ได้ไม่ยากนัก
เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น องค์กรที่ต้องการจะมีระบบ talent management ต้องใจเย็นๆ สิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องสร้างระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลพื้นฐานที่สำคัญๆ มารองรับให้ได้เสียก่อน ซึ่งประกอบไปด้วย
  • ระบบการสรรหาคัดเลือกพนักงาน ระบบแรกที่จะต้องมีความชัดเจน และเป็นระบบมาก ก็คือ ระบบในการหาพนักงานเข้ามาทำงาน จะต้องมีแนวทางและวิธีการที่ชัดเจน มีการสร้างแบบทดสอบต่างๆ กำหนดวิธีการสัมภาษณ์ผู้สมัครอย่างเข้มข้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราได้คนที่เหมาะสม และมีความสามารถเข้ามาทำงานในบริษัท
  • ระบบการบริหารผลงาน ระบบถัดมาที่จำเป็นต้องมีในการบริหารคนเก่งๆ ก็คือ ระบบการบริหารผลงาน ต้องมีเครื่องมือในการบอกได้ว่า พนักงานคนไหนที่มีผลงานที่โดดเด่น และสามารถพิสูจน์ได้จริงๆ จากตัวเลขผลงานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้จัดการเสนอชื่อพนักงานตามใจชอบ ซึ่งถ้าเรามีระบบผลงานที่ดี เราก็จะสามารถตรวจสอบผลงานที่แท้จริงของพนักงานแต่ละคนได้อย่างชัดเจน คราวนี้ talent ก็จะเป็น talent ตัวจริงเสียงจริง
  • ระบบการพัฒนาพนักงาน ระบบถัดมา ก็คือ ระบบการพัฒนาพนักงาน บริษัทจะต้องมีระบบการพัฒนาพนักงานที่ดี เพื่อที่จะสร้างคนเก่งให้ได้จริงๆ ตามที่ต้องการ และเมื่อพัฒนาแล้ว พนักงานที่ได้รับการพัฒนาจะต้องสร้างผลงานที่จับต้องได้อีกด้วย ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับระบบบริหารผลงานที่ได้กล่าวมาแล้ว
  • ระบบบริหารค่าตอบแทน อีกระบบหนึ่งที่จะต้องชัดเจนไปด้วยก็คือ ระบบการบริหารค่าตอบแทน คนที่เป็น Talent ตัวจริงนั้น มักจะเป็นพนักงานที่มีคนต้องการแย่งตัวไปทำงาน และในความเก่งนั้น ก็มักจะได้รับการซื้อตัวด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติ เพราะบริษัทคู่แข่งย่อมต้องการตัว เพื่อให้มาสร้างผลงานให้เขา ดังนั้น บริษัทของเราเองจะต้องมีการกำหนดระบบการบริหารค่าตอบแทนสำหรับกลุ่มคนเก่ง เหล่านี้ เพื่อเก็บรักษาคนกลุ่มนี้ไว้กับบริษัท และเมื่อมีระบบค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติ ก็ย่อมเป็นที่ปรารถนาของพนักงานในองค์กร ยิ่งถ้าเรามี่ระบบข้อมูลการบริหารคนที่ดี สักพักพนักงานทุกคนของเราจะกลายเป็น talent กันหมด
  • ระบบข้อมูลการบริหารทรัพยากรบุคคล ระบบ ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับบริษัทที่ต้องการจะบริหารคนเก่งๆ ให้ดี ก็คือ ระบบข้อมูลการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า HRIS ปัจจุบันก็อาจจะกลายเป็น HR Analytic ไปแล้ว อย่างไรก็ดี มันก็คือ ข้อมูลที่เราสามารถสืบค้นและระบุได้ว่า พนักงานคนไหนเป็นอย่างไร มีผลงานดีแค่ไหน มี competency ที่ดีหรือไม่ และมีศักยภาพในการทำงานแค่ไหน รวมทั้งเคยผ่านการพัฒนาและฝึกอบรมอะไรมาบ้าง ผลการพัฒนาเป็นอย่างไร ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้เราสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า พนักงานคนไหนที่เป็น talent ตัวจริง และคนไหนไม่ใช่ตัวจริง
แล้ว Talent ของเราจะเป็น talent ตัวจริง ที่สามารถพิสูจน์ได้ และพนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรต่างก็ให้การยอมรับเป็นอย่างดี มิฉะนั้น เราอาจจะพบว่า ผู้จัดการบางคนจะพยายามดันพนักงานของเขาให้เป็น Talent ตัวจริง โดยที่พนักงานส่วนใหญ่ร้องยี้กันหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น