เรื่อง ของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไรใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่พนักงานให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกๆ เวลาที่จะตัดสินใจเข้าทำงานที่ไหนก็ตาม ก็มักจะดูเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนก่อนเลย แล้วค่อยตามมาในเรื่องของสวัสดิการ และเรื่องอื่นๆของบริษัท นอกจากนั้น ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น ก็มักจะมีประเด็นให้เราได้ลำบากใจอยู่เสมอ อีกทั้งบางครั้ง ก็ไม่รู้ว่าจะต้องบริหารจัดการอย่างไรดี เพื่อทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกอยากทำงาน และอยากสร้างผลงานให้กับบริษัท
ความ ลึกลับของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมีอะไรบ้าง ที่บางเรื่องก็ไม่มีหลักการที่แน่นอน บางเรื่องก็ยังไม่สามารถหาคำตอบที่แน่นอนได้เลย
- เงินเดือนสามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้จริงหรือ เรื่อง แรกที่คนทั่วไปมักจะคิดและเป็นความคิดในสามัญสำนึกของคนเราก็คือ เรามักจะคิดว่า เงินเดือนนั้นเป็นเครื่องมือที่สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานได้ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ด้วยตัวเงินเดือนมันเองนั้น ไม่สามารถที่จะสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้เลย เพราะเมื่อไหร่ที่พนักงานได้เงินเดือนตามที่ต้องการแล้ว แรงจูงใจจากเงินก้อนนั้นก็จะน้อยลง เพราะเขาได้รับแล้ว และได้รับทุกเดือนด้วย ไม่ว่าจะทำงานดี หรือไม่ดีในเดือนนั้นๆ ดังนั้นอย่าเข้าใจว่า พอเราให้เงินเดือนพนักงานมากๆ แล้ว พนักงานจะขยันทำงานอย่างต่อเนื่อง จริงๆ แล้วจะขยันในช่วงแรกที่ได้รับเงินเดือนใหม่ แต่หลังจากนั้นความขยันจะลดลงเรื่อยๆ นี่ก็เลยเป็นสาเหตุว่า เราต้องผูกเรื่องของการขึ้นเงินเดือนกับผลงาน เพราะถ้าพนักงานอยากได้เงินเดือนเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องพยายามรักษาความขยัน และรักษาระดับผลงานที่ดีไว้ให้ได้ เพื่อที่จะได้รับเงินเดือนก้อนใหม่ตามที่ต้องการนั่นเอง
- เงินเดือนสูงๆ ทำให้พนักงานพึงพอใจได้ อีกประเด็นในเรื่องของความลึกลับของการบริหารเงินเดือนก็คือ บางบริษัทพยายามที่จะให้เงินเดือนพนักงานสูงๆ จ่ายให้สูงๆ ไว้ โดยคิดว่ายิ่งให้สูงมากเท่าไหร่ พนักงานก็จะพึงพอใจมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็คือ เงินเดือนกับความพึงพอใจในการทำงานนั้น ไม่ได้ไปด้วยกันอย่างตรงไปตรงมา พนักงานที่มีเงินเดือนสูงๆ อาจจะไม่พึงพอใจในการทำงานเลยก็ได้ เพราะอาจจะมีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น อาทิ จากหัวหน้าของตนเอง จากบรรยากาศในการทำงาน หรือจากเพื่อนร่วมงาน พนักงานบางคนยอมทิ้งเงินเดือนสูงๆ โดยเปลี่ยนไปรับเงินเดือนที่ต่ำกว่าที่เคยได้ แต่อยากได้บรรยากาศในการทำงานที่ดี มีความสุข มีหัวหน้างานที่ดี และเข้าใจลูกน้อง มากกว่าการทนทำงานอยู่กับสภาพการทำงานที่แย่ๆ แต่ได้เงินเดือนสูงปรี๊ด
- ให้เท่ากันกลับกลายเป็นว่าไม่เป็นธรรม ความ ลึกลับอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของความเป็นธรรม โดยปกติตามสามัญสำนึกของคนเราก็คือ การที่เราได้อะไรที่เท่าๆ กัน นั่นคือความเป็นธรรม แต่เรื่องของค่าตอบแทนนั้น มันกลับไม่เป็นแบบนั้น บางบริษัทให้เงินเดือนขึ้นเท่ากันหมดทุกคน หรือให้โบนัสแก่พนักงานทุกคนด้วยจำนวนเดือนที่เท่ากันทุกคนในบริษัท แต่พนักงานกลับรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เรื่องแบบนี้มาหารเท่าไม่ได้ จริงๆ แล้วเรื่องของเงินเดือนและค่าตอบแทนนั้น เป็นสิ่งที่เราตอบแทนการทำงานของพนักงาน ดังนั้นพนักงานจะรู้สึกว่า เขาควรจะได้รับมากกว่าคนอื่นๆ ถ้าเขาทุ่มเททำงานมากกว่าคนอื่น ไม่ควรจะได้เท่าๆ กัน พอไปเถียงกับนายจ้าง นายบางคนก็ให้เหตุผลว่า ก็ทุกคนได้เท่ากันหมดมันไม่เป็นธรรมตรงไหนกัน?? สุดท้ายพนักงานเก่งๆ ก็ลาออกไปเก่งที่อื่นกันหมด
- ได้เงินเพิ่ม แต่กลับรู้สึกไม่ดี อีก เรื่องที่ต่อเนื่องมาจากความเป็นธรรมในข้อที่แล้วก็คือ เรื่องของการขึ้นเงินเดือน พนักงานบางคนได้รับการขึ้นเงินเดือน ซึ่งแปลว่า เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม แต่กลับรู้สึกไม่พอใจ ไม่สบายใจ และบางคนรู้สึกว่าไม่อยากทำงานขึ้นมาทันที มันเป็นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่พนักงานเองก็ได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้นกว่าเดิมที่เคยได้รับ จริงๆ แล้วมันก็คือ พนักงานเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองได้ลงแรงไป และคาดหวังว่าแรงที่ลงไปนั้น น่าจะได้รางวัลในระดับหนึ่ง แต่พอเห็นตัวเลขที่ได้แล้ว ไม่ตรงกับสิ่งที่ตนเองคาดหวัง และยิ่งไปเทียบกับเพื่อนที่บางคนลงแรงน้อยกว่าด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดความไม่พอใจกับสิ่งที่ได้รับมา แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มมากขึ้นของตัวเลขเงินเดือนจากเดิมก็ตาม
และที่ สำคัญหลักการดังกล่าว ยังเป็นหลักที่จับต้องไม่ได้อีก ก็เลยยิ่งทำให้การบริหารค่าจ้างเงินเดือนเกิดความยากมากขึ้นอีก แต่อย่างไรก็ดี มันก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเราอยู่แล้ว ขอเพียงมีระบบที่ตอบพนักงานด้วยเหตุด้วยผล และมีความเป็นธรรมที่เป็นหลักสากล และพนักงานในองค์กรยอมรับได้ดี ระบบค่าจ้างเราก็จะมีปัญหาน้อยลงไปเยอะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น