งานวิจัย และการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานนั้น ต่างก็สรุปไปในแนวทางเดียวกันว่า สูตรสำเร็จในการให้รางวัล เพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานนั้น ให้ยึดหลักนี้ ก็คือ Treat your employees with respect, pay them fairly, and recognize and reward them when they do good work. หลักที่เขียนมานั้นง่ายดีมั้ยครับ แต่เอาเข้าจริงๆ ในทางปฏิบัติกลับทำไม่ได้ทั้งหมด ทั้งๆ ที่เป็นหลักการง่ายๆ ลองมาพิจารณากันทีละตัวนะครับ
- Treat your employee with respect ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยการให้เกียรติ นี่คือสิ่งแรกที่พนักงานทุกคนควรจะได้รับในการทำงานในองค์กร หัวหน้างาน และผู้จัดการควรจะปฏิบัติต่อลูกน้องตนเองด้วยความเคารพในสิทธิของกันและกัน รวมทั้งปฏิบัติต่อพนักงานในลักษณะเดียวกับที่เราต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อเรานั่นเองครับ เช่น พูดจาด้วยน้ำเสียงที่จริงใจ สุภาพ ไม่ขึ้นเสียง หรือแสดงกิริยาก้าวร้าว หรือมองว่าพนักงานเป็นคนในระดับที่ต่ำกว่าเรา เราจะพูดเอะอะ โวยวายอะไรกับเขาก็ได้ เพราะเราอยู่สูงกว่า การแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมกับลูกน้องนั้น เป็นสิ่งแรกเลยที่จะทำให้พนักงานของเราไม่มีแรงในการทำงาน พนักงานจะรู้สึกถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมนายถึงต้องแรงกับเราแบบนี้ เราไปทำอะไรให้เขาหรือเปล่า พนักงานบางคนบ่นดังๆ ออกมาให้เราได้ยินเลยว่า “ไม่รู้ชาติที่แล้วไปทำเวรทำกรรมอะไรมา ชาตินี้ถึงโดนนายใส่แบบไม่ยั้งเลย” ผมคิดว่าการให้เกียรติคนอื่นนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก อยู่ที่เราเองนี่แหละครับว่าจะอยากทำหรือเปล่า ดังนั้นการที่เราจะจูงใจลูกน้องของเราได้ พื้นฐานสำคัญก็คือเรื่องนี้เลยครับ
- Pay them fairly จ่ายค่าตอบแทนด้วยความเป็นธรรม สังเกตนะครับว่า งานวิจัยเรื่องการสร้างแรงจูงใจไม่เคยที่จะมีผลวิจัยออกมาว่า ต้องจ่ายค่าตอบแทนสูงๆ จึงจะจูงใจพนักงานได้ แต่ผลวิจัยทุกแห่ง ออกมาเหมือนกันว่า ในการจ่ายค่าตอบแทนจะต้องจ่ายด้วยความเป็นธรรม ซึ่งผลในทางปฏิบัติก็มีให้เห็นเยอะนะครับว่า จ่ายเยอะ แต่ถ้าจ่ายแล้วไม่เป็นธรรม พนักงานเองก็หมดแรงจูงใจได้เหมือนกัน ผิดกับบางองค์กรที่จ่ายค่าจ้างไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่มีการจ่ายที่เป็นธรรม อธิบายได้ มีเหตุมีผลชัดเจน แบบนี้จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นกับพนักงานได้มากกว่าครับ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ที่แสดงให้เห็นถึงการจ่ายที่ไม่เป็นธรรมก็คือ ช่วงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี่แหละครับ องค์กรใดที่ปรับเฉพาะคนที่ต่ำกว่า 300 ให้มาอยู่ที่ 300 แล้วนอกนั้นไม่ปรับ พนักงานจะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการจ่ายค่าตอบแทนทันทีครับ เพราะคนเก่าที่ทำงานมานาน สร้างผลงานมาก็เยอะกลับได้ค่าจ้างพอๆ กับคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น
- Recognize and reward them when they do good work ให้ความใส่ใจและให้รางวัลแก่พนักงานเมื่อพนักงานทำผลงานได้ดี นี่ก็เป็นอีกหลักเกณฑ์ง่ายๆ ที่รู้กันทั่วไป แต่กลับไม่ค่อยเห็นใครเอามาใช้อย่างจริงจังในทางปฏิบัติ รางวัลในที่นี้ก็สามารถแยกออกเป็น 2 ลักษณะ ก็คือ รางวัลที่เป็นตัวเงิน ซึ่งก็คือเรื่องของการขึ้นเงินเดือนตามผลงาน การให้โบนัส ก็ต้องสะท้อนผลงานจริงๆ ของพนักงาน ไม่ใช่อาศัยความรู้สึกของนายล้วนๆ มาใช้ รางวัลอีกลักษณะหนึ่งก็คือ รางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่นคำชื่นชม การขอบคุณ การชมเชยต่อหน้าคนอื่น รางวัลทั้งสองลักษณะนี้จะต้องไปด้วยกันนะครับ อย่าเน้นหรือใช้แค่อย่างเดียว เพราะมันจะไม่ได้ผลในแง่ของการสร้างแรงจูงใจเลย เช่น การขึ้นเงินเดือนเยอะๆ แต่พนักงานไม่ได้รับการชื่นชม และบอกกล่าวจากปากนายเอง ก็ทำให้พลังของการขึ้นเงินเดือนเยอะๆ นั้นหมดไป พนักงานจะไม่รู้สึกอะไรมากไปกว่า ที่ตนเองได้ขึ้นเยอะ แต่ถ้าขึ้นเงินเดือนด้วย แล้วมีการแจ้งพร้อมกับให้การชื่นชมในผลงานด้วย สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นพลัง และแรงจูงใจที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวพนักงาน จะทำให้เขาอยากที่จะสร้างผลงานที่ดีต่อไป เพราะทำแล้วนายชอบ นายชื่นชม และยังได้ขึ้นเงินเดือนเยอะอีก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gen Y ซึ่งนอกจากอยากได้ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว สิ่งที่ Gen Y อยากได้มากก็คือ การได้รับการชื่นชมจากนาย เพราะนี่คือธรรมชาติของเขาเลยครับ คนรุ่นนี้ ถูกเลี้ยงมาโดยที่พ่อแม่ไม่ค่อยได้อยู่ดูแลเท่าไหร่ ก็เลยอาจจะขาดความอบอุ่นบ้าง ดังนั้นเขาก็เลยมาโหยหากับคนอื่นที่อยู่นอกครอบครัว ถ้าหัวหน้าสามารถสร้างจุดนี้ให้กับ Gen Y ได้ ผมเชื่อว่าเราจะเอาอยู่ และจะทำให้เขาสร้างผลงานให้เราอย่างเต็มความสามารถด้วยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น