วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ผลงานของพนักงาน กับผลงานขององค์กร

ช่วงนี้ก็เข้ากลางปีแล้วนะครับ สิ่งหนึ่งที่หลายๆ องค์กรจะต้องทำกันก็คือ ประเมินผลงานพนักงานช่วงกลางปี ซึ่งสำหรับบริษัทที่มีการประเมินผลงานปีละ 2 ครั้ง นี่ก็คือการประเมินผลงานครั้งแรกในปี ประเด็นหนึ่งที่หลายๆ องค์กรมักจะมองในเรื่องของผลงานพนักงาน ก็คือ มองผลงานพนักงานแยกกับผลงานขององค์กร ผลก็คือ เวลาประเมินผลงานงานพนักงาน ก็จะมีพนักงานที่มีผลงานในเกณฑ์ดีเยี่ยมอยู่มากมาย แต่ผลงานขององค์กรกลับไม่อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมเหมือนของพนักงาน
ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ ผลงานของพนักงานแต่ละคนนั้น กับผลงานขององค์กรที่ออกมา มีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไรครับ

ในความเห็นของผมนั้น ผลงานของพนักงานและขององค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย องค์กรหรือบริษัทจัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายบางอย่างที่ผู้จัดตั้งต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกำไร ยอดขาย ความพึงพอใจของลูกค้า ฯลฯ แล้วเราถึงจ้างพนักงานเข้ามาทำงานเพื่อให้องค์กรไปสู่เป้าหมายนั้นๆ นั่นก็แสดงว่า เราจ้างพนักงานเข้ามาเพื่อให้เขาสร้างผลงานตามที่เราต้องการ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นรางวัลแก่พนักงาน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผลงานขององค์กรกับผลงานของพนักงานจะต้องมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะการที่องค์กรจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่นั้นก็อยู่ที่พนักงานสร้างผลงานได้ตามที่เราต้องการหรือไม่

แต่ในทางปฏิบัติ หลายองค์กรยังมองผลงานองค์กร กับผลงานพนักงานแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ดูได้จากระบบการประเมินผลงานของพนักงานที่ไม่ได้มีการนำเอาผลงานขององค์กรมาพิจารณาด้วยเลย ส่วนใหญ่ก็ประเมินจากปัจจัยการประเมินพื้นฐานธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณงาน คุณภาพงาน และพฤติกรรมการทำงานต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ให้เข้ากับเป้าหมายผลงานขององค์กรเลย ทำให้พนักงานเองก็มองผลงานของตัวเองแยกกับผลงานขององค์กรด้วยเช่นกัน

ผลสุดท้ายผลงานพนักงานที่ออกมาได้ A กันเป็นแถวนั้น กลับไม่มีส่วนที่ทำให้ผลงานขององค์กรได้ A ไปด้วยเลย ตัวผู้บริหารเองก็เช่นกัน ในบางองค์กรนั้นมองเรื่องของการประเมินผลงานเป็นเรื่องของฝ่ายบุคคลที่ต้องทำหน้าที่ในการประเมินผลงาน ส่วนเรื่องของการบริหารธุรกิจให้ได้ผลงานตามเป้าหมายเป็นเรื่องของผู้บริหาร ซึ่งก็มองแยกส่วนกันอีกอยู่ดี สุดท้ายผู้บริหารก็ต้องมาประสบกับเหตุการณ์ที่ว่า “ทำไมผลงานพนักงานออกมาได้ A กันเยอะแยะ แต่ผลงานขององค์กรกลับไปไม่ถึงไหน”

ดังนั้นการบริหารบุคคลในปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องของการประเมินผลงานนั้น เราควรจะเชื่อมระบบประเมินผลงานกับระบบการบริหารธุรกิจเข้าไปด้วยกัน ซึ่งระบบนี้เราก็เรียกมันว่า “ระบบบริหารผลงาน” ก็คือ หัวหน้าทุกคนทุกระดับจะต้องทำหน้าที่บริหารผลงานของทีมงานที่ตนดูแลอยู่ให้ได้ตามเป้าหมายขององค์กรที่กำหนดไว้ ระบบนี้จะเริ่มต้นจาก
  • การกำหนดเป้าหมายความสำเร็จขององค์กรว่ามีอะไรบ้าง องค์กรของเราใช้อะไรเป็นตัวบอกว่าเราประสบความสำเร็จ
  • ถ่ายทอดเป้าหมายเหล่านั้นลงสู่แต่ละหน่วยงาน โดยให้ผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานประชุมกัน หรือคิดกันว่า ด้วยหน้าที่ของหน่วยงานเรา เราจะต้องทำอะไรเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายนั้นๆ ได้จริงๆ แล้วก็กำหนดเป็นแผนงาน พร้อมตัวชี้วัดผลงานออกมา ตัวชี้วัดที่ได้นี้ก็จะเป็นตัวชี้วัดผลงานของผู้จัดการฝ่ายนั้นๆ
  • จากนั้นก็ถ่ายทอดตัวชี้วัดของฝ่ายลงสู่หน่วยงานย่อย และลงสู่พนักงานในแต่ละตำแหน่งงาน โดยใช้คำถามเดียวกันว่า การที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของหน่วยงานได้นั้น หน่วยงาน และตำแหน่งงานนั้นๆ จะต้องทำอะไรบ้าง ทำเท่าไหร่
ทำได้ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เราจะได้ก็คือ เราจะได้ตัวชี้วัดผลงานของทุกระดับในองค์กรที่สอดคล้องมาจากเป้าหมายขององค์กร คราวนี้เวลาบริหารผลงานก็จะไปในทางเดียวกัน ผลงานพนักงาน จะเป็นส่วนหนึ่งของผลงานขององค์กร ทุกคนก็จะมองเป้าหมายเดียวกัน และทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ถ้าทำได้ตามนี้ ยิ่งพนักงานทำผลงานได้ดีมากเท่าไหร่ ผลงานขององค์กรก็จะดีมากเท่านั้น ซึ่งก็น่าจะถูกต้องตามหลักของการบริหารผลงาน และการประเมินผลงานมากขึ้น คราวนี้ผลงานของพนักงานก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายผลงานได้ จากนั้นระบบการให้รางวัลผลงานก็จะตามมา และทำให้ระบบการให้รางวัลผลงานมีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วย เนื่องจากให้รางวัลไปตามผลงานของพนักงานแต่ละคนโดยเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงมุมทางด้านของผลงานเท่านั้น ยังมีอีกด้านหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือ มุมด้านพฤติกรรมที่มีผลต่อผลงานพนักงานนั่นเองครับ ซึ่งไว้จะเขียนให้อ่านกันต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น