วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ คุณพร้อมแล้วหรือยัง

เหลือเวลาอีกครึ่งปี หรือประมาณ 6 เดือน การบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศก็จะมีผลบังคับใช้แล้วนะครับ ตามที่กำหนดไว้ก็คือ วันที่ 1 มกราคม 2556 ทุกจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานให้ทำงาน ก็จะต้องจ่ายค่าแรงรายวันไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาทแล้ว คำถามก็คือ ฝ่ายบุคคลได้มีการเตรียมความพร้อมแล้วหรือยัง
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราเพิ่งจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำกันไปอย่างต่ำๆ ก็ประมาณ 40% ทั่วประเทศ และในเขต 7 จังหวัดก็ได้กันไปแล้ว 300 บาท ยังคงเหลือจังหวัดอื่นๆ ที่จะต้องปรับอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม 2556 ผมลองนั่งคำนวณดูแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ต้นทุนค่าแรงของจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องมีการปรับอีกครั้งนั้น มีต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นมากภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นผลทำให้นายจ้างต้องมีมาตรการในการบริหารบุคคลแบบใหม่ๆ ออกมาใช้กัน มาตรการเหล่านี้มีอะไรบ้าง
  • ลดการทำงานล่วงเวลาลง นี่คือมาตรการแรกๆ ของฝ่ายจัดการที่ดำเนินการทันทีหลังจากที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่นายจ้างบอกว่าต้องทำ เพราะมิฉะนั้นแล้วค่าล่วงเวลาที่จ่ายจะเป็นต้นทุนที่สูงมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า โดยที่ผลผลิตกลับไม่ได้สูงขึ้นเลย เมื่อลดค่าล่วงเวลาลงแล้ว ก็หันไปสร้างระบบบริหารจัดการทางด้านผลงานอย่างรัดกุม โดยมุ่งเน้นให้พนักงานใช้เวลา 8 ชั่วโมงปกติที่ทำงานสร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิด OT ให้มากเกินไป
  • ลดค่าจ้างเสริมอื่นๆ สิ่งที่ผมได้พบมาจากบริษัทลูกค้าต่างๆ ที่มีมาตรการในการลดค่าจ้างเสริมก็มี การลดเบี้ยขยันลงจากเดิม บางแห่งปรับลดอัตราที่ให้ บางแห่งก็เลิกเบี้ยขยันกันเลย และเอาระเบียบข้อบังคับเรื่องของเวลาการทำงานเข้ามาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม
  • ปรับ package ในการบริหารค่าตอบแทนใหม่ โดยการนำเอาค่าตอบแทนอื่นๆ ที่เคยจ่ายให้ต่างหากบวกกลับเข้าไปในเงินเดือนแทน เพื่อให้พนักงานมีฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้อัตราส่วนในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2556 ที่จะถึงนี้มีอัตราปรับที่น้อยลง เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระแก่นายจ้างมากนัก ซึ่งวิธีนี้จะต้องได้รับการยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน จึงจะดำเนินการได้ และโดยหลักการแล้ว วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นการเลี่ยงกฎหมายนิดๆ แต่อย่างไรก็ดียังมีนายจ้างอีกหลายแห่งที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายได้สูงขนาดนี้ได้ในช่วงเวลานี้ ก็เลยต้องอาศัยวิธีนี้ไปก่อน บางแห่งก็ให้พนักงานเลือกวิธีนี้ กับการปิดบริษัทและเลิกจ้างกันไปเลยก็มีครับ ซึ่งส่วนใหญ่พนักงานก็เลือกที่จะยอมเอาค่าจ้างอื่นๆ รวมเข้าไปในเงินเดือน อย่างน้อยก็ยังมีที่ให้พอทำมาหากินต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปหางานใหม่ซึ่งช่วงนี้ก็หายากเหลือเกิน
  • ปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนประจำปีให้น้อยลง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแน่นอนในปลายปีนี้ หลายบริษัทวางแผนไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะขึ้นเงินเดือนเพียง 3% ตามผลงาน เนื่องจากพนักงานได้รับการปรับในปีเดียวถึง 2 เด้งด้วยกัน ก็คือ เมษายนที่ผ่านมา 1 ครั้ง และบริษัทที่อยู่นอกเขต 7 จังหวัด ก็จะถูกปรับอีกครั้งให้เป็น 300 บาทในตอนต้นปี 2555 ก็เลยเป็นเหตุผลว่านายจ้างอาจจะไม่มีงบประมาณมากพอที่จะขึ้นเดือนตามผลงานให้กับพนักงานได้ตามอัตราที่ตลาดกำหนด
ผมเคยลองนั่งคำนวณเล่นๆ ให้กับบริษัทหลายแห่งที่มีการกำหนดมาตรการต่างๆเหล่านี้ออกมา ผลปรากฎว่า เงินเดือนของพนักงานในภาพรวมแต่เดือนลดลงไปเยอะมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ซะอีกครับ เพราะถูกตัดออกไปหลายอย่าง ก็ไม่รู้ว่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นั้นทำให้ลูกจ้างสบายขึ้นหรือแย่ลงกันแน่ ดูเหมือนค่าจ้างต่อวันจะเพิ่มสูงขึ้น แต่รวมแล้วกลับน้อยลงกว่าที่เคยได้ ทั้งๆ ที่ของก็แพงขึ้น อย่างไรก็ดี บรรดานายจ้างทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะเลี่ยงการปรับได้ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำก็คือ ปรับตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยคำนวณการปรับค่าจ้างให้ดี อย่าให้การปรับค่าจ้างเกิดผลทำให้พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงานตามมา โดยการปรับแค่คนที่ต่ำกว่า 300 ให้ไปที่ 300 ส่วนคนที่ได้ 300 บาทอยู่แล้วก็ไม่ได้ปรับ ลักษณะการปรับแบบนี้เกิดปัญหามาเยอะแล้วในปีนี้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง ผมคิดว่านายจ้างควรจะปรับโดยการพิจารณาถึงคนเก่าที่ทำงานมาสักพักด้วยครับ เพราะคนเหล่านี้สร้างผลงานมานานกว่าที่เขาจะได้ 300 บาท แต่สุดท้ายเด็กใหม่กลับได้เท่ากับเขาเป๊ะเลย ถ้าเราไม่ปรับให้กับคนกลุ่มนี้ให้หนีเด็กใหม่ คนกลุ่มนี้ก็จะขาดขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่างแน่นอนครับ ผลที่ตามมาก็คือ แรงจูงใจหดหาย และผลงานก็จะแย่ลง ซึ่งส่งผลต่อผลงานขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น